ชะตากรรมของสัตว์ป่าทั่วโลก ไม่ใช่มีแต่ช้างป่าในบ้านเราเท่านั้นที่บางครั้งถูกชาวบ้านวางยาเมื่อเข้ามาทำลายพืชไร่พืชสวนของชาวบ้าน แม้แต่สิงโตซึ่งเป็นสัตว์เจ้าป่าแห่งทวีปแอฟริกาก็มีชะตากรรมไม่แตกต่างกันกับช้างไทย
ผู้ที่เดินทางไปเคนยา จะต้องไม่พลาดชมสัตว์ 5 ชนิด ที่เรียกว่า บิ๊กไฟว์ อันได้แก่ สิงโต ช้าง เสือดาว แรด และควายป่า ซึ่งสัตว์เหล่านี้อาศัยอยู่ในท้องทุ่งสีเขียวของเขตป่าสงวนแห่งชาติมาไซมารา แต่ตอนนี้สิงโตกำลังเผชิญกับอันตรายจากเงื้อมมือของชนเผ่ามาไซมารา ที่อพยพหลบหนีความแห้งแล้งเข้ามาอยู่ในเขตป่าสงวน เนื่องจากโกรธที่สิงโตเข้ามากัดกินฝูงวัวของเผ่าตน เจ้าหน้าที่รัฐบาลเคนยา กล่าวว่า นับตั้งแต่ ปี 2544 มีสิงโตถูกวางยาจนตายไปแล้วอย่างน้อย 76 ตัว โดยใช้ยาที่มีชื่อว่า คาร์โบฟูแรน สารฆ่าแมลงที่มีราคาถูกมาก ไม่มีทั้งรสและกลิ่น สิงโตจะกินเข้าไปพร้อมกับเหยื่อได้อย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตาม ยานี้ได้ถูกห้ามจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาและยุโรป
ด้านบริษัทเอฟเอ็มซี ผู้ผลิตยาคาร์โบฟูแรน ได้ประณามการใช้ยานี้กำจัดสิงโต และกำลังพยายามขัดขวางการส่งยาไปยังยูกันดา และแทนซาเนีย ควบคู่ไปกับการเริ่มโครงการซื้อยากลับคืนมาจากประเทศเคนยา แต่ตราบใดที่ความพยายามนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีผู้จัดส่งยามาจากต่างประเทศหลายราย และชาวมาไซยังหาซื้อยาได้ง่ายเหมือนเดิม ก็จะมีสิงโตถูกวางยาอยู่อีกต่อไป
ที่มาของข้อมูล : สำนักข่าวไทย ประจำวันที่ 9 ตุลาคม 2552 |