สารเคมีเป็นสิ่งที่มีทั้งประโยชน์และโทษคู่กันเสมอ แม้จะเป็นสารที่มีพิษน้อย แต่เมื่อมีปริมาณมากก็จะเป็นอันตรายได้ เช่น เกลือแกงหรือโซเดี่ยมคลอไรด์ ที่ใช้ปรุงอาหาร หากมีปนเปื้อนในดินหรือแหล่งน้ำมากๆ จะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ได้ ดังนั้นการจัดการสารเคมีอย่างเป็นระบบ ได้แก่ การควบคุมกำกับดูแล การผลิต จัดเก็บ ขนส่งและการใช้ รวมถึงการกำจัด เพื่อป้องกันการสัมผัสกับสารและการแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องจำเป็นและต้องกระทำอย่างครบวงจรของสารเคมี คือ ตั้งแต่เป็นวัตถุดิบไปจนถึงผลิตภัณฑ์ เนื่องจากกฎหมายระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับสารเคมี เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการบริหารจัดการสารเคมีอย่างเป็นระบบ จึงทำให้มีกฎระเบียบและมาตรฐานเกี่ยวกับสารเคมีและสารเคมีในผลิตภัณฑ์มากมาย ทั้งในระดับสากลระดับภูมิภาคและระดับชาติ เช่น ระบบสากลในการจำแนกความเป็นอันตรายและฉลากของสารเคมี (Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals (GHS) เพื่อการสื่อสารความเป็นอันตรายด้วยฉลาก (labels) และเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (Safety Data Sheet, SDS) และข้อแนะนำในการขนส่งสินค้าอันตรายของสหประชาชาติ (UN Recommendations on the Transport of Dangerous Goods) กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนการประเมินการขออนุญาตและการจำกัดการใช้สารเคมี หรือ กฎหมายREACH ของสภาพยุโรป พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น
กฎระเบียบและมาตรฐานที่เกี่ยวกับการควบคุมกำกับดูแลสารเคมีและสารเคมีในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ บางฉบับอาจเป็นการควบคุมกำกับดูแลเกี่ยวกับสารเคมีทั่วไปโดยไม่ระบุชื่อสาร เช่น กฎหมาย REACH แต่บางฉบับอาจควบคุมกำกับดูแลสารเคมีเฉพาะประเภทเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะสาร เช่น กฎหมายควบคุมสารเคมีในผลิตภัณฑ์เครื่องไฟฟ้าของสหภาพยุโรปที่รู้จักกันในนาม RoHs ซึ่งจะมีการระบุชื่อสารและกลุ่มของสารไว้ในกฎระเบียบนั้นๆ อย่างไรก็ตามกฎระเบียบและมาตรฐานเหล่านี้ล้วนต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขและเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอยู่เสมอ เช่น ข้อมูลความรู้ใหม่เกี่ยวกับพิษของสารต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม ที่ได้ศึกษาวิจัยตลอดจนรายงานการติดตามเฝ้าระวัง นอกจากเหตุผลทางเทคนิคและวิชาการแล้ว กระแสของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการเรียกร้องขององค์กรอิสระและผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้าปลอดภัยยังเป็นแรงกดดันให้มีการควบคุมกำกับดูแลสารเคมีเข้มงวดมากขึ้น จึงทำให้มีการปรับปรุงและประกาศกฎระเบียบใหม่อยู่เป็นระยะๆ
การเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมกฎระเบียบเกี่ยวกับสารเคมีและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างความวิตกกังวลให้แก่ผู้ประกอบการไม่แพ้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ เพราะทำให้เกิดผลกระทบต่อโอกาสทางการตลาด หากไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎระเบียบเหล่านั้นได้ สินค้าที่ผลิตและจำหน่ายได้ในวันนี้ อนาคตอาจจะทำไม่ได้ เพราะมีข้อห้าม เพื่อป้องกันความเสียที่อาจจะเกิดขึ้น ผู้ประกอบจึงต้องคอยติดตามการประกาศใช้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี และตรวจสอบรายชื่อสารเคมีที่มีการประกาศปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขตามข้อกำหนดของกฎระเบียบมาตรฐานที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่อยู่เสมอ เพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมในการรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากสารเคมีที่มีรายชื่อระบุในประกาศนั้นเป็นสารเคมีที่ตนใช้ในกระบวนการผลิต หรือสารที่ใช้หรือผลิตขึ้นเป็นสารที่อยู่ในกลุ่มที่มีการประกาศควบคุมกำกับดูแลตามกฎระเบียบ
การติดตามข่าวสารการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับสารเคมีจะไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย ถ้าผู้ประกอบการไม่ทราบว่าตนใช้สารเคมีอะไรบ้างในการผลิต และเนื่องจากการประกอบอุตสาหกรรมต่างๆ มักใช้สารเคมีหลายประเภทและหลายชนิด ผู้ประกอบการจึงต้องมี บัญชีรายชื่อสารเคมี ทั้งหมดที่ใช้และผลิต เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการตรวจสอบว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเกี่ยวกับสารเคมีหรือไม่
อนึ่ง การตรวจหาว่าสารเคมีที่ตนผลิตหรือใช้นั้นมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบควบคุมกำกับดูแลหรือไม่โดยใช้ชื่อสารอาจผิดพลาดได้ กล่าวคือ เมื่อตรวจดูประกาศแล้วไม่พบชื่อสารที่ตรวจหามักจะเข้าใจว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบควบคุมสารเคมีที่ตนใช้ แต่ในความเป็นจริงมีการแก้ไขระเบียบควบคุมสารนั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะสารเคมีแต่ละตัวมีหลายชื่อ ชื่อที่ตรวจหาเป็นคนละชื่อกับที่หน่วยงานใช้ประกาศ ด้วยเหตุนี้จึงมีการใช้เลขประจำตัวสารเคมีกำกับชื่อที่ประกาศ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด เลขประจำตัวสารเคมีที่นิยมใช้อ้างอิงในทางกฎหมายและวิชาการ คือ CAS Registry Number หรือที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า CAS Number เพราะ CAS Number เป็นเลขประจำตัวสารเคมีที่ใช้อ้างอิงได้ว่าสารเคมีที่เรียกชื่อต่างกันนั้นเป็นสารเคมีตัวเดียวกัน เนื่องจาก CAS Number เป็นเลขประจำตัวสารที่ Chemical Abstracts Service กำหนดให้สารเคมีแต่ละตัวอย่างเฉพาะเจาะจง หากเป็นสารเดียวกันแต่มีโครงสร้างไม่เหมือนกัน สารนั้นก็จะมีหมายเลขประจำตัวต่างกันด้วย เช่น CAS Number ของ D-Glucose คือ 50-99-7 แต่สำหรับ L-Glucose จะเป็น 921-60-8
ดังนั้นบัญชีรายชื่อสารเคมีจึงควรมี CAS Number ด้วย ซึ่งนอกจากจะใช้อ้างอิงว่าสารที่มีชื่อต่างกันแต่หมายเลขประจำตัวเหมือนกันเป็นสารเดียวกันแล้ว ยังสามารถใช้ค้นหาชื่อพ้องอื่นๆ รวมทั้งชื่อทางการค้าของสารเคมีได้อีกด้วย และในทางกลับกันหากทราบCAS Number ของสารที่ทราบแต่เพียงชื่อทางการค้าของมัน ก็สามารถค้นหาชื่อทางเคมีของสารนั้นได้ด้วย CAS Number นั้นเหมือนกัน ซึ่งผู้ประกอบการอาจใช้เป็นทางเลือกในการจัดซื้อสารเคมีมาใช้ในการผลิต และยังใช้เป็นเครื่องมือติดตามประกาศกฎระเบียบหรือค้นหาข้อมูลทางวิชาการอื่นๆ ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตามการเฝ้าระวังผลกระทบด้วยการการติดตามตรวจสอบรายชื่อสารเคมีที่มีการประกาศเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ แต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการประกอบธุรกิจในปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันมาก การเตรียมตัวเชิงรุกเพื่อชิงความได้เปรียบทางการค้าเป็นสิ่งที่จะช่วยให้กิจการรอดอยู่ได้ ผู้ประกอบการจึงต้องประเมินความเสี่ยงต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับสารเคมีที่ตนใช้หรือผลิตว่ามีมากน้อยเพียงใด เพื่อหาทางป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้อย่างทันกาลและเหมาะสม ซึ่งสารเคมีที่อยู่ในกลุ่ม สารก่อมะเร็งสารก่อการกลายพันธุ์และสารที่มีผลต่อระบบสืบพันธุ์เป็นสารที่มีแนวโน้มจะถูกควบคุมกำกับดูแลเข้มงวดมากขึ้นจนถึงขั้นห้ามใช้มากที่สุด การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติและพิษของสารจะช่วยให้ทราบว่าสารใดบ้างที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบของการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบการควบคุมกำกับดูแลสารเคมี นอกจากนี้ยังควรมีข้อมูลเกี่ยวกับกำหนดเวลาและเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของสารนั้นๆ เพื่อใช้ติดตามตรวจสอบว่าเป็นไปตามกำหนดหรือไม่ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรรวบรวมข้อมูลอื่นๆ ของสารเคมีไว้ด้วยมิใช่เพียงแต่ชื่อและเลขประจำตัวของสาร แต่ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นว่าการอุตสาหกรรมต้องใช้สารเคมีหลายอย่างหลายชนิด ทำให้มีข้อมูลสารเคมีจำนวนมากที่ต้องเก็บรวบรวม จึงต้องมีระบบจัดเก็บข้อมูลสารเคมี ซึ่งสารบบข้อมูลสารเคมีหรือบัญชีรายชื่อสารเคมีที่มีข้อมูลอื่นๆ ของสารเคมีประกอบ นอกจากจะช่วยให้มีข้อมูลสำหรับการเฝ้าระวังการเกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบสารเคมีแล้ว ยังใช้ติดตามตรวจสอบดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ด้วย และ การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นอันตรายของสารเคมีในสินค้า จะทำให้มีข้อมูลความปลอดภัยของสินค้าไว้สื่อสารกับผู้ผลิตที่อยู่ปลายน้ำ ซึ่งต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีในสินค้าไว้สื่อสารกับลูกค้าของตน เนื่องจากแรงกดดันของผู้บริโภคและกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เรียกร้องข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยจากสารเคมีของสินค้าต่างๆ มีมากขึ้น
อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการจะสามารถใช้ประโยชน์ของข้อมูลในสารบบข้อมูลสารเคมีที่ทำขึ้นได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความถูกต้องและทันสมัยของข้อมูล ผู้ประกอบการจึงต้องตรวจประเมินคุณภาพข้อมูลก่อนที่จะนำมาทำสารบบ ซึ่งสิ่งแรกที่ต้องพิจารณาคือคุณภาพของแหล่งข้อมูล การประเมินคุณภาพเอกสารข้อมูลความปลอดภัย หรือ Material Safety Data Sheet หรือที่ปัจจุบันนิยมเรียกว่า Safety Data Sheet (SDS) ที่ได้รับจากผู้ขายสารเคมีจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในการทำสารบบ และควรตรวจสอบความถูกต้องโดยเปรียบเทียบกับข้อมูลในหนังสืออ้างอิงและแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือในระบบอินเตอร์เน็ตด้วย
เนื่องจากการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาทำสารบบต้องเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย และข้อมูลสารเคมีที่ต้องจัดการมีจำนวนมากและหลากหลายต้องใช้ความรู้หลายอย่างในการจัดการ ผู้ประกอบการจึงเห็นว่าการทำสารบบข้อมูลสารเคมีเป็นภาระ แต่ในปัจจุบันมีการเรียกร้องให้มีการจัดการสารเคมีอย่างเข้มงวด เพื่อรักษาและป้องกันคุณภาพของสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น ผู้ประกอบการจึงต้องพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบควบคุมกำกับดูแลสารเคมีสารบบข้อมูลสารเคมีเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการวางแผนและติดตามการดำเนินงานเพื่อรักษาตลาดและสร้างโอกาสทางการค้า เราจึงน่าจะทบทวนกันใหม่ว่า แท้ที่จริงแล้ว การทำสารบบสารเคมีในผลิตภัณฑ์เป็น ภาระหรือเครื่องชี้ทางออกของการแก้ไขอุปสรรคการค้ากันแน่ |