สภาพโดยทั่วไปของกรุงปักกิ่งถูกปกคลุมไปด้วยหิมะหนา เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา โดยพื้นที่หลายแห่งของมหานครแห่งแดนมังกร มีหิมะหนาประมาณ 4-8 นิ้ว ถือเป็นวันที่หิมะตกรุนแรงที่สุด นับจากปี 2494
กั๋ว หู ผู้อำนวยการกองอุตุนิยมวิทยา ประจำปักกิ่ง เชื่อมโยงปรากฏการณ์พายุหิมะ ที่จีนเผชิญอยู่ว่า เป็นผลพวงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงของ สภาพอากาศทั่วโลก เห็นได้จากความแปรปรวนของสภาพอากาศที่รุนแรง และเกิดขึ้น บ่อยครั้งในระยะหลัง ๆ
ในปี 2553 จีนเผชิญพายุหิมะ ชาวจีนต้องฝ่าวิกฤตอากาศหนาวเย็น ที่ลดลงต่ำที่สุดในรอบ 40 ปี แต่เมื่อปีที่แล้ว จีนต้องรับมือกับทั้งพายุน้ำแข็งทางตอนใต้ของประเทศ และพายุฝนในช่วงฤดูร้อน
จีนไม่ใช่ประเทศเดียวที่เผชิญหน้ากับสภาพอากาศที่วิปริต สหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป ตกอยู่ในสภาพไม่แตกต่างกัน ถนนหลวงที่เชื่อมระหว่างตะวันออกและตะวันตกของสหรัฐ ถูกปกคลุมด้วยหิมะหนาจนต้องสั่งปิดตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม และทางการต้องสั่งปิดเส้นทางสัญจรเพิ่มเติม ในทางตะวันตกของเมือง แฟร์มองต์ ในมินนิโซตา และเส้นทางสู่เซาท์ดาโกตา
ตลอดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อรับมือหิมะที่ตกหนัก จนทางการต้องประกาศเตือนให้ประชาชนกักตุนอาหารและน้ำดื่ม รวมทั้งยารักษาโรค ให้เพียงพอ สำหรับการเผชิญกับสภาพอากาศหนาวจัดและหิมะปกคลุมไปอีกอย่างน้อย 4 วัน
เฉพาะในอังกฤษ หลายพื้นที่มีหิมะหนาถึง 1 ฟุต ถือเป็นสภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 30 ปี กระตุ้น ให้รัฐบาลต้องขอความร่วมมือไปยังบริษัทอุตสาหกรรมรายใหญ่ของประเทศ 27 แห่ง ให้ระงับการใช้เชื้อเพลิง เพื่อประหยัดปริมาณพลังงานสำรอง พร้อมทั้งเตือนพลเมืองให้ เตรียมพร้อมกับสภาพอากาศที่เย็นลง ถึง -20 องศาเซลเซียส
การจราจรในประเทศที่เผชิญกับพายุหิมะตก อยู่ในสภาพกึ่งอัมพาต เที่ยวบินหลายร้อยเที่ยวในแต่ละวันถูกยกเลิก อาทิ ที่ชิคาโกและอีกหลายเมืองในสหรัฐ สนามบินแฟรงก์เฟิร์ตของเยอรมนี รวมทั้งสนามบินฮีทโรว์ในกรุงลอนดอนด้วย
ใครจะคิดว่า ในขณะที่ซีกโลกตะวันตกค่อนไปทางเหนือ กำลังรับมือกับสภาพอากาศที่เย็นจัด ที่ขั้วโลกตะวันออกลงไปทางด้านใต้สุด กำลังเผชิญกับคลื่นอากาศร้อนจัด โดยที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ได้บันทึกวันที่ร้อนที่สุดในเดือนมกราคม ในรอบ 150 ปี ด้วยอุณหภูมิที่สูงสุด 43.6 องศาเซลเซียส ขณะที่เซาท์ออสเตรเลียและวิกตอเรีย มีการออกประกาศเตือนภัยตั้งแต่ 11 มกราคม เช่นเดียวกับการประกาศพื้นที่สีแดงในทางตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือของรัฐวิกตอเรีย ที่แทสเมเนีย เกิดไฟป่าถึง 19 จุดในเวลาใกล้เคียงกัน
ในเวเนซุเอลา ภาวะภัยแล้งที่รุนแรง กำลังกระทบต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจากเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ ทางตอนใต้ของประเทศ มีระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว จนใกล้ถึงระดับเสี่ยงว่า จะไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ เช่นเดียวกับโคลอมเบีย ที่ภาวะแห้งแล้งรุนแรง สร้างปัญหาไฟป่าขึ้นหลายจุดของประเทศ แม้แต่จีนเอง ซึ่งในขณะที่พื้นที่หนึ่งของประเทศมีหิมะปกคลุม แต่ที่เมืองฉงชิ่ง กลับเผชิญภัยแล้ง น้ำในแม่น้ำแยงซีเหือดแห้ง เรือประมง จอดเกยชายฝั่ง ที่จะไม่มีน้ำหลงเหลือให้เห็น แตกต่างกับอิตาลี ที่เมืองเวนิซเกือบจะกลายเป็นเมืองบาดาล เพราะเกิดน้ำท่วมใหญ่ต้อนรับปีใหม่
ฉากต่อฉากของสภาพอากาศของโลกที่ตัดกันอย่างเหลือเชื่อ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นวันนี้ หรือเมื่อวานนี้ จากการรวบรวมของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และตีพิมพ์เป็นรายงานเผยแพร่ออกมาเมื่อปีที่แล้ว ได้เก็บสถิติปรากฏการณ์สภาพอากาศแปรปรวนสุดขั้ว ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2550-2552
อาทิ ในรัฐอะแลสกาของสหรัฐ ถูกปกคลุมด้วยหิมะในช่วงฤดูหนาว ที่ถือว่าสูงที่สุดเป็นอันดับสองในรอบ 30 ปี ในปี 2550-2551 หรือการได้เห็นหิมะใน ดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่แห้งแล้งของโลก อย่างแอฟริกาใต้ โดยรายงานระบุว่า ในเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนปี 2550 แอฟริกาใต้เผชิญกับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า แนวปะทะอากาศเย็น และทำให้ โจฮันเนสเบิร์กเกิดหิมะตกครั้งใหญ่สุดเป็น ครั้งแรก นับจากปี 2524
จากปี 2550 ย่างเข้าสู่ปี 2551 โบลิเวียเผชิญกับพายุฝนที่พัดกระหน่ำอย่างรุนแรง และเกิดน้ำท่วมในเดือนแรกของปี ต่อเนื่องเข้าสู่กุมภาพันธ์ เอกวาดอร์ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน ฝนตกหนักติดต่อกัน นำมาซึ่งภัยน้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ขณะที่บราซิลเผชิญกับภัยน้ำท่วม และโคลนถล่มในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ ประชาชนมากกว่า 186,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย
ตรงข้ามกับชิลี ที่ต้องรับมือกับภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ในพื้นที่ตอนใต้และตอนกลางของประเทศ เช่นเดียวกับอาร์เจนตินา ปารากวัย และอุรุกวัยที่เผชิญกับภัยแล้งที่ถือว่ารุนแรงที่สุด ในรอบ 50 ปี กินเวลาตั้งแต่มกราคมถึงกันยายน
ขยับขึ้นไปยังประเทศที่อยู่เหนือขึ้นไป ประสบภัยธรรมชาติที่รุนแรงในรอบ 50 ปี ทั้งพายุเฮอริเคนและพายุโซนร้อน ในแถบอ่าวเม็กซิโก สร้างความเสียหายรุนแรงแก่คิวบาและประเทศใกล้เคียง ในระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ขณะที่เม็กซิโกกลับประสบภัยแล้งอย่างรุนแรง มากเป็นสถิติในรอบ 70 ปี ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร 3.5 ล้านคน แหล่งน้ำในประเทศเกือบ 80% มีระดับน้ำลดลงมากกว่าครึ่ง วัวราว 50,000 ตัว ล้มตาย และพื้นที่เพาะปลูก 17 ล้านเอเคอร์ถูกทำลาย
ต้นปี 2551 เป็นปีที่ชาวตะวันออกกลาง ต้องทำบันทึกประวัติศาสตร์ เมื่ออิหร่านต้องเผชิญกับพายุหิมะที่ตกหนักในรอบมากกว่า 10 ปี และแม้แต่อิรักเองก็ได้เห็นพายุหิมะเป็นครั้งแรก แต่ถัดมาประมาณกลางปี อิรักกลับต้องเผชิญกับพายุทรายและภัยแล้ง ทำให้พืชผลโดยเฉพาะข้าวสาลีให้ผลผลิตไม่ถึง 60% ของปริมาณที่เคย เก็บเกี่ยวได้
เดือนมิถุนายน อินเดียประสบกับคลื่นอากาศร้อน คร่าชีวิตชาวภารตไปเกือบ 100 ชีวิต อุณหภูมิสูงสุด 40 องศา ขณะที่จีน ฟิลิปปินส์ เผชิญกับพายุไต้ฝุ่น เกิดน้ำท่วม โคลนถล่ม หลายครั้งในช่วงเวลาไม่ห่างกันนัก
การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและสุดขั้วของสภาพอากาศในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ชวนให้หลายคนนึกถึงภาพยนตร์หลายเรื่องที่ทยอยออกมา อาทิ An Inconvenient Truth, The Day After Tomorrow จนถึงเรื่องล่าสุดอย่าง 2012 กันบ้างแล้ว โลกจะเผชิญกับหายนะครั้งใหญ่แล้วหรือ
ขณะที่บางคนกำลังค้นหาคำตอบกับความเป็นไปได้ดังกล่าว มีหลายประเทศ เร่งจัดทำยุทธศาสตร์แห่งชาติ เพื่อรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทั่วโลก อาทิ อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ และบราซิล
ฮิลารี เบนน์ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของอังกฤษ ได้เรียกร้องให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์อาหารแห่งชาติ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยได้อ้างถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่กำลังเพิ่มมากขึ้น อาทิ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรทั่วโลก ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทั่วโลก ราคาพลังงานที่สูงมาก จนถึงแรงกดดันจากปัญหาที่ดินและแหล่งน้ำ ซึ่งอาจนำมาซึ่งวิกฤตขาดแคลนอาหารได้
|