สหภาพยุโรป (อียู) ตรวจพบสารตกค้างในผักชีไทย 17-18 เปอร์เซ็นต์ กรมวิชาการเกษตร เตรียมออกสุ่มตรวจสอบผักที่จะส่งออกไปยังตลาดอียูเข้มงวดมากยิ่งขึ้น และกำหนดบทลงโทษพักใช้ พร้อมทั้งเพิกถอนใบรับรองมาตรฐานโรงงานผลิต
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า หลังจากเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาทางสหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกมาตรการเข้มสุ่มตรวจสารตกค้างในผักของไทยเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 50% ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ อียูยังตรวจพบสารตกค้างในผักชีของไทย 17-18% และยังพบเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคทางเดินอาหารในพืชสมุนไพรด้วย ดังนั้น กรมวิชาการเกษตรจึงทบทวนและออกมาตรการตรวจสอบผักที่จะส่งออกไปยังตลาดอียูเข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยจะสุ่มตรวจพืช 3 ชนิดที่อียูแจ้งเตือน คือ ถั่วฝักยาว มะเขือ พืชตระกูลกะหล่ำ ในอัตรา 50% เพิ่มการสุ่มตรวจสารตกค้างในผัก 3 ชนิด คือ ผักชีไทย กะเพรา โหระพา ในอัตรา 20% เพิ่มการสุ่มตรวจเชื้อจุลินทรีย์ในผัก 3 ชนิด คือ กะเพรา โหระพา สะระแหน่ ในอัตรา 10%
ขณะเดียวกัน ยังมีมาตรการเพื่อควบคุมผู้ประกอบการคัดบรรจุและผู้ส่งออก โดยจะปรับปรุงขั้นตอนการสุ่มตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์สารตกค้างและเชื้อจุลินทรีย์ และกำหนดบทลงโทษพักใช้และเพิกถอนใบรับรองมาตรฐานโรงงานผลิต หรือจีเอ็มพี กับโรงคัดบรรจุที่ไม่สามารถควบคุมระบบการผลิตให้ปลอดภัย ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ รวมทั้งกำหนดบทลงโทษพักใช้ และเพิกถอนรายชื่อออกจากทะเบียนให้เป็นผู้ส่งออกผักผลไม้สดในตลาดอียูทุกรายการ ซึ่งแม้อียูจะยังไม่มีมาตรการขั้นเด็ดขาดในการระงับการนำเข้าผักจากไทย แต่การพบสารตกค้างถี่มากขึ้นจะทำให้ความเชื่อมั่นของตลาดลดลง
และนอกจากนี้ ทางสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ควรทำหน้าที่เจรจากับอียู กรณีที่มีความเข้มงวดกับการตรวจสอบสินค้าไทยมากเกินไป เพราะการที่ฝ่ายไทยไม่ทำอะไรเลย จะทำให้ไม่มีอำนาจในการต่อรอง
ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ประจำวันที่ 21 กรกฎาคม 2553 |