นายเสี่ย เจิ้นหวา รองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์กับสื่อในกรุงปักกิ่งเมื่อวันอังคาร (23 พฤศจิกายน 2553) ว่า ประเทศพัฒนาแล้วต้องเป็นผู้นำด้านการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนและให้ประเทศที่กำลังพัฒนาได้ลืมตาอ้าปากบ้าง และจีนจะไม่ยอมให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มมากขึ้นโดยไม่มีการตรวจสอบ เรามีสถานะเป็นชาติกำลังพัฒนา และจะไม่ยอมรับข้อสัญญาใดๆ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้สถานะดังกล่าว

รองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติ กำลังตอบคำถามของผู้สื่อข่าวในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 (ภาพจากไชน่า เดลี่)
นายเสี่ย เจิ้นหวา เผยอีกว่า ภายในสิ้นปี 2553 ประเทศจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากสุดในโลก กำลังเขยิบเข้าใกล้การบรรลุเป้าที่รัฐบาลได้เคยประกาศไว้ว่าจะลดการบริโภคพลังงานลง 20 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างปี 2549 - 2553 โดยภายใต้มาตรการนี้ จะทำให้จีนสามารถเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 1,500 ล้านตัน
ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จีนได้ลงทุนประมาณ 2 ล้านล้านหยวน (3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในโครงการประหยัดพลังงานและโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และในเดือนพฤศจิกายน 2552 จีนได้ให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อหน่วยของจีดีพี ที่ประมาณ 40 ถึง 45 เปอร์เซ็นต์ จากปี พ.ศ. 2548 ให้ได้ก่อนปี พ.ศ. 2563
นายเสี่ย เจิ้นหวา กล่าวต่อว่า แผนการพัฒนาในอนาคต จะมีการตั้งเป้าควบคุมความเข้มข้นของปริมาณก๊าซคาร์บอน การบริโภคพลังงานใหม่ที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงจากธรรมชาติ และการอนุรักษ์ป่าไม้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น รัฐบาลกำลังพิจารณาการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมในช่วง 5 ปี ต่อจากนี้ ขณะที่ ภาษีคาร์บอนยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณา และจะมีการเร่งการใช้แผนการค้าคาร์บอนฉบับนำร่อง ทั้งนี้ ในแผนพัฒนา 5 ปี (2554 ถึง 2558 ) ฉบับที่ 12 ประเทศจีนจะพึ่งกลไกตลาดมากขึ้น เพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนในช่วงเวลาดังกล่าว
ในการประชุมสหประชาชาติเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่กำลังมาถึงนี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน ถึง 10 ธันวาคม 2553 ที่เมืองแคนคัน ประเทศเม็กซิโก ซึ่งมีมากกว่า 190 ประเทศเข้าร่วมหารือถึงข้อตกลงหรือสนธิสัญญาด้านการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนฉบับใหม่ โดยประเทศจีนจะดำเนินบทบาทเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง
นายเสี่ย เจิ้นหวา กล่าวทิ้งท้ายว่า ภายใต้ข้อสรุปการประชุมสหประชาชาติเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งจัดขึ้นที่โคเปนฮาเกน เมื่อปีที่ผ่านมา ประเทศที่มั่งคั่งได้ให้คำมั่นที่จะจัดตั้งเงินทุนให้ได้ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2555 เพื่อช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนารับมือโลกร้อน ขณะที่ มีการเสนอตั้งงบประมาณให้ได้ 1 แสนล้านดอลลาร์ ภายในปี 2563 แต่หลังจากการประชุมครั้งนั้น กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ
ที่มาของข้อมูล : ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ประจำวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 |