อียูแจ้งเตือนการใช้สาร Morpholine เคลือบผลไม้สดที่ส่งออก ชี้เป็นสารเจือปนอาหารที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในผลไม้สดทั่วไป ผ่อนปรนให้ใช้ได้เฉพาะสับปะรด มะม่วง มะละกอ อะโวกาโด แนะโรงคัดบรรจุปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด หวั่นเกิดปัญหากรณีสินค้าโดนตีกลับ
นายมนตรี กฤษณีไพบูลย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า สำนักงานผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย รายงานว่า สหภาพยุโรป (EU) ได้ตรวจพบปัญหาการใช้สารมอร์ฟอลีน (Morpholine) ในผลไม้สดที่สหภาพยุโรปนำเข้าจากประเทศที่สาม โดยผู้ส่งออกมักใช้สารชนิดดังกล่าวเป็นตัวกลางในการผลิตไขที่ใช้เคลือบผลไม้สดให้มีความมันวาวเพื่อช่วยรักษาคุณภาพและน้ำหนักสินค้า แต่สาร Morpholine นี้เป็นสารเจือปนอาหาร (Food Additive) ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในสหภาพยุโรป ดังนั้น ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกของไทยจึงควรระมัดระวังในการใช้สารเคลือบผิวผลไม้ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้มีมาตรการผ่อนปรนสำหรับสินค้าผลไม้ 4 ชนิด ได้แก่ สับปะรด มะม่วง มะละกอ และอะโวกาโด ที่ส่งออกก่อนวันที่ 15 ธันวาคม 2553 สามารถที่จะวางจำหน่ายในสหภาพยุโรปได้ต่อเมื่อผ่านการตรวจวิเคราะห์ว่ามีปริมาณสาร Morpholine ตกค้างในเนื้อผลไม้หรือส่วนที่บริโภคต่ำกว่าค่า Limit of Quantification (LOQ) ที่สหภาพยุโรปกำหนด ส่วนสินค้าผลไม้ที่ส่งออกหลังวันที่ 15 ธันวาคม 2553 สหภาพยุโรปจะอนุญาตให้นำเข้าได้ก็ต่อเมื่อผ่านการตรวจวิเคราะห์ว่ามีปริมาณสาร Morpholine ตกค้างในผลไม้ทั้งลูกรวมทั้งเปลือกน้อยกว่าค่า LOQ ที่กำหนด
สำหรับผลไม้ชนิดอื่นนอกเหนือจาก 4 ชนิดดังกล่าว ห้ามใช้สาร Morpholine ผสมในแวกซ์ (wax) เคลือบผลไม้โดยเด็ดขาด หากสหภาพยุโรปตรวจพบ สินค้าอาจถูกปฏิเสธและห้ามนำเข้าหรือถูกตีกลับได้ ผู้ประกอบการโดยเฉพาะโรงคัดบรรจุที่จะส่งออกผลไม้ไปยังสหภาพยุโรปควรต้องศึกษากฎระเบียบและเงื่อนไขการนำเข้าให้ละเอียด และต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศปลายทางอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันปัญหาการปฏิเสธสินค้าซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกเกิดความเสียหายได้
นอกจากปัญหาเรื่องสารตกค้างแล้ว ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกยังต้องให้ความสำคัญในเรื่องสุขอนามัยพืชด้วย โดยเฉพาะแมลงศัตรูพืชที่ติดไปกับสินค้าผลไม้ส่งออกอาจมีปัญหาเกิดขึ้นได้ ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงระบบการผลิต การคัดบรรจุ การยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยว ตลอดจนการขนส่ง พร้อมควบคุมด้านความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศผู้นำเข้าเกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรไทย ซึ่งจะทำให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลกเพิ่มขึ้น
ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำวันที่ 18 มกราคม 2554 |