ขึ้นชื่อว่าสารเคมี มันมีทั้งคุณประโยชน์และโทษมหันต์ถ้าใช้ผิด เราน่าจะให้ความสำคัญกับการเรียกชื่อให้ถูกต้องเป็นขั้นแรก เพราะถ้าเรียกผิด การหยิบใช้ผิดก็จะตามมา เวลาเราพูดถึงสารเคมีก็คงจะหมายถึงสารประกอบ ซึ่งหมายถึงสารที่ประกอบด้วยธาตุหลายชนิดมาทำปฏิกิริยากันเกิดเป็นสารประกอบขึ้นมา ชื่อของสารประกอบบางทีก็ฟังดูจะคล้ายๆกัน ทำให้คิดว่าเป็นชนิดเดียวกัน อย่างเช่น สารประกอบซัลไฟด์ (sulfide) กับ ซัลไฟต์ (sulfite) ชื่อที่สะกดด้วย ด จะออกเสียงยาวกว่า หรือ คลอไรด์ (chloride) ก็เป็นคนละตัวกับคลอไรต์ (chlorite) เช่น โซเดียมคลอไรด์ หรือเกลือแกง และ โซเดียมไฮโปครอไรต์ ที่ใช้ฟอกขาวเป็นต้น สารประกอบ ไนเตรตก็มีหลายตัวที่เราคุ้นเคย เช่น โปแตสเซียมไนเตรต หรือแอมโมเนียมไนเตรต ที่ใช้เป็นปุ๋ย อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มสารประกอบซัลเฟต คนที่ไปตรวจทางเดินอาหาร กระเพาะ หรือลำไส้ที่โรงพยาบาล เขาจะให้กลืนแบเรียมซัลเฟต ซึ่งนิยมเรียกย่อๆว่า กลืนแบเรียม เพราะมันเป็นสารทึบแสงและไม่ละลายในกระเพาะ เวลาถ่ายเอกซ์เรย์ ก็จะปรากฏภาพให้วินิจฉัยได้ว่า มีแผลในกระเพาะหรือไม่ เผอิญสารประกอบแบเรียมก็ไม่ได้มีเฉพาะแบเรียมซัลเฟต ยังมีแบเรียมไนเตรตอีก ผลร้ายก็คือ ความที่เรียกกันติดปากว่า”ไปกลืนแบเรียม” โศกนาฏกรรมจึงเกิดขึ้นเมื่อคนไข้กลืนแบเรียมไนเตรตแทนที่จะเป็นแบเรียมซัลเฟต เพราะเมื่อแบเรียมไนเตรตลงไปถึงกระเพาะ มันละลายได้ จึงเข้าสู่กระแสโลหิต เกิดอาการน้ำลายฟูมปาก อาเจียน ท้องร่วง หัวใจเต้นช้า ความดันสูง หมดสติ ระบบไหลเวียนของโลหิตล้มเหลว กล้ามเนื้อเกร็ง ถ้าแก้ไขไม่ทันก็อาจตายได้ ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เห็นหรือยังละว่าการเรียกชื่อสารเคมีต้องเรียกให้ถูก อย่ามั่ว
หมายเหตุ
|
โซเดียมไฮโปครอไรต์
|
เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ตามพรบ. วัตถุอันตราย ควบคุมโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมประมง
|
|
แบเรียมไนเตรต
|
เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ตามพรบ. วัตถุอันตราย ควบคุมโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม
|
|