นักวิจัยสหรัฐคิดค้นเส้นใยนาโนหวังนำมาถักทอทำเป็นเสื้อผ้า ทุกครั้งที่ผู้สวมใส่เคลื่อนไหวร่างกาย พลังงานจากการเคลื่อนไหวจะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นพลังงานไฟฟ้าผ่านเส้นใยนาโน นำไปป้อนให้กับอุปกรณ์ขนาดพกพา เช่น เครื่องเล่นไอพอด ที่กำลังพกติดตัวอยู่ในขณะนั้น
นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยี จอร์เจีย ผู้คิดค้นเส้นใยนาโน เผยว่า เส้นใยนาโนที่ผลิตขึ้นนี้จะบางเฉียบ มีขนาดแค่ 1 ในหลายพันล้านส่วนของความยาว 1 เมตร เส้นใยนาโนเกิดจากการนำเส้นใยมาหุ้มด้วยลวดนาโน ซิงค์ ออกไซด์ หลายคู่ เมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกาย การเต้นของหัวใจ การหายใจ หรือได้รับพลังงานคลื่นเสียง รวมถึงการสั่นสะเทือน ลวดนาโน ซิงค์ ออกไซด์ หลายคู่ที่นำมาหุ้มเส้นใยก็จะเกิดการเสียดสีกัน ก่อให้เกิดเป็นพลังงานไฟฟ้าขึ้นมา
เส้นใยนาโนที่ว่านี้ นอกจากจะนำมาใช้ถักทอทำเป็นเสื้อผ้าได้แล้ว ยังนำมาใช้ทำเป็นม่านหรือเต็นท์ได้ด้วย โดยรับพลังงานจากลม การสั่นของเสียง หรือพลังงานกลในรูปแบบอื่น ๆ มาแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า
เสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยนาโนจะช่วยป้อนพลังงานไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ขนาดพกพา เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องเล่นไอพอด ที่ผู้ใช้งานต้องพกติดตัว และยังเป็นประโยชน์ในการป้อนพลังงานให้กับเครื่องวัดระดับกลูโคสของคนไข้ พลังงานไฟฟ้าที่ได้จากเส้นใยนาโนยังนำมาใช้กับอุปกรณ์ตรวจจับความตึงของสะพาน รวมถึงอุปกรณ์ตรวจจับสารพิษในสิ่งแวดล้อม แต่ถึงกระนั้นเส้นใยนาโนที่คิดขึ้นก็ยังมีข้อเสียตรงที่โดนน้ำไม่ได้ ดังนั้น เสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยนาโนจึงนำไปซักล้างไม่ได้ด้วยเช่นกัน
ที่มาของข้อมูล : สำนักข่าวไทย ประจำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 |