สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

แป้งนาโนต้านแบคทีเรียฝีมือคนไทย

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
วันที่: 20 ก.พ. 2551

            นางวรพรรณี ชัยพรหมประสิทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท เอสเอสยูพี 1991 (กรุงเทพ) จำกัด ผู้ผลิตเครื่องสำอางแบรนด์คิวท์เพรส กล่าวว่า หลังจากส่งนักวิจัยของบริษัทไปศึกษาวิธีการประยุกต์ใช้ "สารซิลเวอร์นาโน" ในผลิตภัณฑ์แป้งและโรลออนระงับกลิ่นกาย จากศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดว่าไม่เกิน 3 เดือน ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะออกสู่ตลาด

            บริษัทถือเป็นรายแรกที่นำสารซิลเวอร์นาโน ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของจุฬาฯ มาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์แป้งและโรลออน เพื่อเพิ่มคุณสมบัติการยับยั้งแบคทีเรียตามจุดต่างๆ ของร่างกาย โดยได้ทดสอบในอาสาสมัคร 30 คน เพื่อดูการระคายเคือง ความเป็นพิษต่อผิวหนัง และประสิทธิภาพการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย โดยทาแป้งตามลำตัวและทาโรลออนบริเวณรักแร้

            ทีมงานเก็บข้อมูลครั้งแรกที่ครึ่งชั่วโมงแรกหลังทา และเมื่อครบ 4, 8, 12 และ 24 ชั่วโมงตามลำดับ พบว่าสามารถยับยั้งแบคทีเรียได้ 100% อาสาสมัครไม่เกิดการแพ้แต่อย่างใด ทั้งยังพึงพอใจต่อตัวผลิตภัณฑ์เนื่องจากช่วยระงับกลิ่นกายได้จริง แถมยังมีกลิ่นหอมของดอกไม้ ซึ่งได้จากดอกกุหลาบขาว และกลิ่นคูลเกิร์ล ที่สังเคราะห์ขึ้นมาเป็นส่วนผสม

            นอกจากการทดสอบในอาสาสมัครแล้ว บริษัทยังอยู่ระหว่างพัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ต้านแบคทีเรียทั้งสอง เพื่อให้มีมาตรฐานทุกครั้งที่เดินเครื่อง คาดว่าทุกอย่างจะสมบูรณ์และพร้อมวางตลาดได้ภายใน 3 เดือนนี้ ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์แป้งและโรลออนระงับกลิ่นกายด้วยสารซิลเวอร์นาโน ถือเป็นผลิตภัณฑ์แรกที่ใช้สารซิลเวอร์นาโนฝีมือคนไทย จากที่ผ่านมาอาศัยสารนำเข้าซึ่งราคาหลักหมื่นต่อกิโลกรัม ขณะที่สารนาโนของไทยราคาถูกกว่าประมาณ 3 เท่าตัว

            รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ หัวหน้าฝ่ายวัสดุนาโน ศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายทั้งสองแบบ เป็นการนำงานวิจัยไปต่อยอดส่วนหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมเครื่องประดับ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมสิ่งทอและอุตสาหกรรมเครื่องกรองน้ำที่ติดต่อมา เพื่อใช้สารนาโนดังกล่าว

            “เทคโนโลยีซิลเวอร์นาโนยังประยุกต์ใช้ได้กับอีกหลายอุตสาหกรรม ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการต้องการยกระดับผลิตภัณฑ์ของตนหรือไม่ หากผู้ใดสนใจก็ติดต่อมาที่ภาควิชาเคมี เพื่อขอรับคำแนะนำได้ และการประยุกต์ใช้นี้ไม่จำเป็นต้องทำตามขั้นตอน 1 ถึง 10 แต่สามารถก้าวกระโดดจาก 1 เป็น 10 แล้วย้อนรอยกลับมาศึกษากระบวนการที่ 2-8 ภายหลังก็ได้” หัวหน้าฝ่ายวัสดุนาโน กล่าว

            ส่วนผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์นี้ จุฬาฯกำลังระหว่างทดสอบผลิตภัณฑ์ต้นแบบในหนูทดลอง โดยดูด้านการแพ้ ความเป็นพิษและความสามารถในการยับยั้งแบคทีเรีย เพื่อให้ได้ผลการทดสอบที่ถูกต้องและครบถ้วนตามขั้นตอนการวิจัย ทั้งนี้ การทดสอบของจุฬาฯเป็นคนละส่วนกับการทดสอบในอาสาสมัครของภาคเอกชนข้างต้น แต่ผลที่ได้สามารถใช้อ้างอิงระหว่างกันเพื่อเสริมความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในอนาคต


ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ประจำวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - นักวิจัยฟินแลนด์ศึกษาพบ สารนาโนมีผลเสียต่อปอด
บอกข่าวเล่าความ - สหรัฐคิดค้นเส้นใยนาโนป้อนพลังงาน
บอกข่าวเล่าความ - จุฬาฯ พัฒนาซิลเวอร์นาโน ป้อนภาคอุตสาหกรรม
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น