การจัดการสารเคมีที่ดี (sound management of chemicals) ควรจะต้องประกอบด้วยระบบที่สามารถระบุความเป็นอันตรายของสารเคมีและสื่อสารให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องสามารถป้องกัน ควบคุม และแก้ไขภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากสารเคมีในลักษณะต่างๆ ได้ ดังนั้นการสื่อสารข้อมูลสารเคมีจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งที่สามารถนำไปสู่การจัดการสารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนั่นคือ ถ้าผู้เกี่ยวข้องรับรู้และเข้าใจถึงธรรมชาติหรือลักษณะความเป็นอันตรายและข้อควรปฏิบัติที่เหมาะสมเมื่อต้องเกี่ยวข้องกับสารเคมีแล้ว ก็จะทำให้เกิดความระมัดระวัง และป้องกันอันตรายไม่ให้เกิดขึ้นต่อทั้งตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อมได้ เหมือนสุภาษิตที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” นั่นเอง
เครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการสื่อสารข้อมูลสารเคมี คือ ฉลาก (label) และ เอกสารข้อมูลความปลอดภัย (Safety Data Sheet, SDS) โดยข้อมูลบนฉลาก จะแสดงสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงอันตราย ข้อความเตือน และข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยต่างๆ ส่วน SDS เป็นเอกสารที่แสดงข้อมูลสารเคมีที่ละเอียดขึ้นกว่าบนฉลาก โดยจะมีข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะความเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม วิธีใช้ วิธีเก็บรักษา ข้อมูลเกี่ยวกับการขนส่ง การกำจัดและการจัดการอื่นๆ เช่น การปฐมพยาบาล ข้อปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ หรือหกรั่วไหล เป็นต้น เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถจัดการกับสารเคมีนั้นได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
แต่ปัญหาที่พบในปัจจุบันของการสื่อสารข้อมูลสารเคมี คือ เกณฑ์การจำแนกความเป็นอันตราย (classification) สัญลักษณ์ (pictogram) และข้อมูลที่ต้องแสดงบนฉลาก รวมถึงรูปแบบของ SDS ในแต่ละประเทศ (หรือแม้แต่ในประเทศเดียวกัน) มีความหลากหลายที่แตกต่างกัน จึงทำให้เกิดความสับสนในการสื่อสารขึ้น เช่น สารเคมีตัวเดียวกันในประเทศหนึ่งระบุว่าเป็นอันตราย มีสัญลักษณ์และข้อความเตือนแบบหนึ่ง ในขณะที่อีกประเทศหนึ่งอาจระบุว่าไม่เป็นอันตรายหรือเป็นอันตรายน้อยกว่า และมีสัญลักษณ์หรือข้อความเตือนอีกแบบหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากมีเกณฑ์การจำแนกและการกำหนดรูปแบบในการสื่อสารที่แตกต่างกัน จากความแตกต่างเหล่านี้เอง ทำให้เป็นไปได้ยากที่จะเกิดการจัดการสารเคมีที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพราะเริ่มต้นก็มีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันเสียแล้ว และถ้าพูดถึงในเชิญธุรกิจการค้าเคมีระหว่างประเทศแล้ว การจำแนกความเป็นอันตราย ติดฉลากบนบรรจุภัณฑ์ และจัดเตรียม SDS ให้ถูกต้องตามข้อกำหนดของแต่ละประเทศถือเป็นต้นทุนและความยุ่งยากอย่างหนึ่งทีเดียว
รูปที่ 1 แสดงตัวอย่างความหลากหลายของสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายในแต่ละภูมิภาค เช่น
ที่มา : ดัดแปลงจากงานนำเสนอของ Andrew Fasey, INTRODUCTION TO CLP: CLASSIFICATION, LABELLING AND PACKAGING REGULATION, Lancaster University, October 2009.
รูปที่ 1 แสดงความหลากหลายของสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายในแต่ละภูมิภาค
จากปัญหาดังกล่าวนี้จึงเป็นที่มาของการเกิด “ระบบ GHS” (The Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals) หรือ ระบบการจำแนกประเภทและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้เกิดการสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก ผ่านทาง ฉลาก และเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS) โดยใช้เกณฑ์เดียวกันในการจำแนกประเภทความเป็นอันตราย หลักการและองค์ประกอบของระบบ GHS แสดงในรูปที่ 2
รูปที่ 2 แสดงหลักการและองค์ประกอบของระบบ GHS
จุดมุ่งหมายของ GHS
1. ยกระดับการป้องอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยจัดให้มีระบบที่เข้าใจง่ายในการสื่อสารข้อมูลและอันตรายของสารเคมี
2. มีแนวทางให้กับประเทศที่ยังไม่มีระบบการจำแนกประเภทและติดฉลากสารเคมี
3. ลดความซ้ำซ้อนของการทดสอบและการประเมินสารเคมี
4. อำนวยความสะดวกในด้านการค้าระหว่างประเทศ สำหรับสาเคมีที่ได้ประเมินและจำแนกแล้วตามหลักเกณฑ์พื้นฐานระหว่างประเทศ
ประวัติศาสตร์ของ GHS
ในปี ค.ศ. 1956 องค์การสหประชาชาติ (UN) เผยแพร่เอกสารข้อแนะนำสำหรับการขนส่งสินค้าอันตราย (UN Recommendations on the Transport of Dangerous Goods, UNRTDG) เพื่อให้ประเทศต่างๆ และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าอันตรายใช้เป็นมาตรฐานเบื้องต้นในการออกกฎระเบียบข้อกำหนด สำหรับการขนส่งสินค้าอันตราย ซึ่งรวมถึงข้อกำหนดของเกณฑ์การจำแนกประเภทความเป็นอันตรายและการแสดงสัญลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ระหว่างการขนส่ง ทั้งนี้สารเคมี/เคมีภัณฑ์บางตัวก็ถึงเป็นสินค้าอันตรายด้วยจึงเข้าข่ายที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้เช่นกัน และเนื่องจากเอกสารจัดทำเป็นปกสีส้มจึงเป็นที่รู้จักกันในนาม “Orange Book” และนี่คือที่มาของระบบ UN Class ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยและใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอาจนับว่าเป็นการเริ่มต้นของระบบ GHS สำหรับสารเคมีในด้านการขนส่งก็ว่าได้ ระบบ UN Class ประกอบด้วยสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายดังรูปที่ 3 และประเภทความเป็นอันตรายหลักๆ 9 ประเภท ดังนี้
ประเภทที่ 1 สารระเบิดได้ (Explosives)
ประเภทที่ 2 แก๊ส (Gases)
ประเภทที่ 3 ของเหลวไวไฟ (Flammable Liquids)
ประเภทที่ 4 ของแข็งไวไฟ (Flammable Solids) สารที่มีความเสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้เอง (Substances Liable to Spontaneous Combustion) และสารที่สัมผัสกับน้ำแล้วทำให้เกิดก๊าซไวไฟ (Substances which in Contact with Water Emit Flammable Gases)
ประเภทที่ 5 สารออกซิไดส์ (Oxidizing Substances) และสารอินทรีย์เปอร์ออกไซด์ (Organic Peroxides)
ประเภทที่ 6 สารพิษ (Toxic Substances) และสารติดเชื้อ (Infectious Substances)
ประเภทที่ 7 วัสดุกัมมันตรังสี (Radioactive Materials)
ประเภทที่ 8 สารกัดกร่อน (Corrosive Substances)
ประเภทที่ 9 วัสดุอันตรายเบ็ดเตล็ด (Miscellaneous Dangerous Substances and Articles)
รูปที่ 3 สัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายตามระบบ UN Class (UNRTDG)
แต่อย่างไรก็ดี ระบบ UN Class จะคำนึงอันตรายที่เกิดจากสมบัติทางกายภาพและความเป็นพิษเฉียบพลันเป็นหลัก ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวและอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ก็คงเนื่องมาจากวัตถุประสงค์ในการใช้งาน คือ เพื่อการขนส่ง ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ดูแล้วอันตรายที่อาจเกิดได้ในระหว่างการขนส่งมักจะเกี่ยวข้องกับอันตรายทางกายภาพและความเป็นพิษแบบเฉียบพลันเป็นส่วนใหญ่
ต่อมาในปี ค.ศ. 1989-1990 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization, ILO) ได้พัฒนาข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยในสถานที่ทำงานขึ้น และเป็นผู้ริเริ่มเสนอให้มีระบการจำแนกและแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลกขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาระบบการจำแนกประเภทสารเคมีและการติดฉลากที่ส่วนใหญ่มีอยู่และใช้ในระบบเดียวกันในสากล ซึ่งจัดทำโดยหน่วยงานหรือองค์การระหว่างประเทศ จะไม่ครอบคลุมการจำแนกประเภทและติดฉลากสารเคมีในทุกมุมมองของความเป็นอันตรายที่อาจเกิดได้จากสารเคมี และจัดทำสำหรับบางกลุ่มการใช้งานของสารเคมีเท่านั้น เช่น ด้านการขนส่งสินค้าและสารเคมีอันตรายมี UNRTDG หรือ Orange book ด้านสารกำจัดศูตรพืช มี WHO Recommended Classification of Pesticides by Hazard and Guidelines to Classification และ FAO (Food and Agriculture Organization) Guidelines on Pesticide Registration และ Guidelines on Good Labelling Practice for Pesticides เป็นต้น
ดังนั้นในปี ค.ศ. 1992 การประชุมสหประชาชาติเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (UN Conference on Environment and Development : UNCED) หรือ “Earth Summit” ณ เมืองริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล จึงมีมติให้การพัฒนาระบบการจำแนกประเภทและติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก (GHS) เป็นการดำเนินงานส่วนหนึ่งแผนปฏิบัติการที่ 21 บทที่ 19 (Chapter 19, Agenda 21) ของโปรแกรมการจัดการสารเคมีเพื่อไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมี Interorganization Programme for the Sound Management of Chemicals (IOMC) เป็นผู้ประสานงานรับผิดชอบ
Chapter 19, Agenda 21
Programme B: Harmonization of classification and labelling of chemicals
“A globally-harmonised hazard classification and compatible labelling system, including material safety data sheets and easily understandable symbols, should be available, if feasible, by the year 2000.” |
จากนั้นในปี ค.ศ. 1995 ภายใต้การดูแลของ IOMC จึงได้มอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบในการเป็นศูนย์ประสานงานทางวิชาการ (technical focal point) เพื่อพัฒนาระบบ GHS ขึ้น 3 ส่วนตามประสบการณ์และความถนัดที่มีมาแต่เดิม ดังนี้
ทั้งนี้ในการพัฒนาระบบ GHS ได้ใช้พื้นฐานจากระบบการจำแนกประเภทและติดฉลากที่ใช้อยู่ในประเทศต่างๆ ซึ่งคาดว่าเป็นระบบหลักๆ ที่ใช้กันอยู่มากที่สุด 4 ระบบ ดังนี้
ต่อมาเมื่อเดือนกันยายนปี ค.ศ. 2002 ในการประชุมสุดยอดของโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Summit on Sustainable Development, WSSD) ณ กรุงโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟาริกาใต้ นานาชาติได้มีข้อตกลงร่วมกัน ให้ทุกประเทศนำระบบ GHS ไปปฏิบัติให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ และกำหนดเป้าหมายให้มีการปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบทั่วโลกภายในปีค.ศ. 2008
จนกระทั่งในที่สุด ระบบ GHS ก็จัดทำแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2002 ได้รับอนุมัติให้ประกาศใช้และเผยแพร่ครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2003 ต่อมามีการปรับปรุงแก้ไข (revise) ทุกๆ 2 ปี ซึ่งการปรับปรุงครั้งล่าสุดคือ เมื่อปี ค.ศ. 2011 เป็นการปรับปรุงครั้งที่ 4 และเนื่องจากหน้าปกของเอกสาร GHS เป็นสีม่วงจึงนิยมเรียกกันว่า “Purple Book”
ขอบเขตของระบบ GHS
ครอบคลุมสารเคมีและผลิตภัณฑ์เคมีทุกชนิดตลอดทั้งวงจรชีวิตของสารเคมี (chemical product lifecycle) ยกเว้น ยา วัตถุเจือปนอาหาร (food additive) เครื่องสำอาง และสารเคมีตกค้างในอาหาร ณ จุดบริโภค (at point of consumption)
องค์ประกอบของระบบ GHS
1. การจำแนกประเภทความเป็นอันตราย : ระบบ GHS แบ่งประเภทความเป็นอันตรายเป็น 3 ด้าน ดังนี้
2. สัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย : ระบบ GHS ประกอบด้วยสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย 9 รูป (pictograms) ดังแสดงในรูปที่ 4
รูปที่ 4 รูปสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายในระบบ GHS
เครื่องมือการสื่อสารข้อมูลในระบบ GHS
1. การติดฉลาก : ระบบ GHS กำหนดให้ฉลากที่ติดบนภาชนะบรรจุสารเคมี/เคมีภัณฑ์ ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย ดังนี้
ตัวอย่างฉลากสารเคมีแสดงในรูปที่ 5
รูปที่ 5 ตัวอย่างข้อมูลบนฉลากของสารเคมี
2. เอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS) ระบบ GHS กำหนดให้ SDS ประกอบด้วย 16 หัวข้อเรียงลำดับ ดังนี้
ประโยชน์ของ GHS
1. คนงาน ผู้ใช้สารเคมี และผู้บริโภค
2. ภาคธุรกิจ
3. ภาครัฐ
GHS กับการเตรียมพร้อมของประเทศไทย
ประเทศไทยค่อนข้างให้ความสนใจกับระบบ GHS มาโดยตลอด หากจะนับอย่างเป็นทางการว่าเริ่มเมื่อไหร่ น่าจะนับได้จากการประชุม Intergovernmental Forum on Chemical Safety (IFCS) ครั้งที่ 4 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมแสดงเจตจำนงร่วมกันนานาประเทศในการนำระบบ GHS มาใช้ในประเทศ เนื่องจากเห็นว่าระบบ GHS จะมีส่วนช่วยส่งเสริมการจัดการสารเคมี เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดข้อกีดกันทางการค้าผลิตภัณฑ์เคมีระหว่างประเทศด้วย ซึ่งในที่ประชุมได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะให้มีผลปฏิบัติได้ภายในปี พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีนโยบายในการนำระบบ GHS มาใช้ปฏิบัติกับสารเคมี/เคมีภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) คณะกรรมการวัตถุอันตรายจึงมีมติแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการดำเนินการในการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย” (คณะอนุกรรมการ GHS) โดยมีองค์ประกอบจากหลายภาคส่วน เช่น
หลังจากนั้นประเทศไทยโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้ทำการศึกษาและเตรียมความพร้อมเพื่อนำระบบ GHS มาปรับใช้ในประเทศ (ดังตารางที่ 1) สำหรับโครงการเด่นๆ น่าจะเป็นโครงการ Thailand GHS Capacity Building (พ.ศ. 2548-2550, 2553-2555) ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานระหว่าง 4 หน่วยงานหลัก คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมวิชาการเกษตร สำนักปลัดกระทรวงคมนาคม และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมในการนำระบบ GHS มาใช้ในประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันเพื่อการฝึกอบรมและวิจัยแห่งสหประชาชาติ (UNITAR) และ ILO ในการดำเนิน มีตัวอย่างกิจกรรม ดังนี้
ตารางที่ 1 ตัวอย่างกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำระบบ GHS มาใช้ในประเทศไทย
GHS กับการบังคับใช้ในประเทศไทย
จากนโยบายที่จะนำระบบ GHS มาใช้กับ สารเคมี/เคมีภัณฑ์ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพรบ. วัตถุอันตรายนั้น ขณะนี้ถือได้ว่าประเทศไทยได้นำระบบ GHS มาใช้แล้วอย่างเป็นทางการกับวัตถุอันตรายที่อยู่ในการควบคุมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จาก “ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย พ.ศ. 2555 ” เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 มีนาคม 2555) โดยตามประกาศฯ มีข้อกำหนดหลัก ดังนี้
สิ่งที่ควรต้องเกิดขึ้นในอนาคตของภาคอุตสาหกรรมหลังจากมีการประกาศใช้ระบบ GHS คือ การมีข้อมูลความปลอดภัย หรือ SDS ของสารเคมี/เคมีภัณฑ์อันตรายที่ผลิต นำเข้า หรือใช้ทุกตัว เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลสำหรับการจัดการด้านความปลอดภัยในองค์กร ซึ่งก่อนหน้านี้มักมีปัญหาการไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เคมีที่ซื้อมาใช้ ถึงขั้นว่าไม่ทราบว่าตนเองใช้สารอะไร ผู้ขายไม่ให้ข้อมูลใดๆ เนื่องจากเป็นความลับทางการค้า ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากยังไม่มีกฎหมายบังคับ ถึงแม้กฎหมายจะกำหนดให้ SDS เป็นเอกสารหนึ่งประกอบการขึ้นทะเบียนหรือขออนุญาตต่างๆ แต่ก็ไม่ได้กำหนดให้ใช้ในการสื่อสารข้อมูลด้วย ดังนั้นเมื่อมีการใช้ระบบ GHS แล้ว ปัญหานี้จึงไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก |
สำหรับวัตถุอันตรายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ (อย.) คือ วัตถุอันตรายในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น ฆ่าเชื้อ ไล่แมลง ซักผ้าขาว ฯลฯ น่าจะประกาศใช้ระบบ GHS ในการจำแนกประเภทความเป็นอันตราย และสื่อสารข้อมูล ในเร็วๆ นี้ ด้วยเช่นกัน หลังจากที่ได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อปีที่ผ่านมา ของ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ คือ
จาก (ร่าง) ประกาศฯ ทั้ง 2 ฉบับ จะพบการเปลี่ยนแปลงหลัก คือ การกำหนดให้ใช้เกณฑ์การจำแนกประเภทความเป็นอันตรายและการสื่อสารข้อมูลผ่าน SDS ตามระบบ GHS ส่วนองค์ประกอบบนฉลากส่วนใหญ่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากองค์ประกอบบนฉลากตามกฎหมายในปัจจุบัน บังคับให้มีข้อมูลบางส่วนตามระบบ GHS อยู่แล้ว เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ สารสำคัญและความเข้มข้น ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่าย ฯลฯ และยังกำหนดให้มีข้อมูลอื่นๆ นอกเหนือจากข้อกำหนดตามระบบ GHS อยู่ด้วย เช่น วิธีใช้ อาการเกิดพิษ วิธีแก้พิษ ฯลฯ ดังนั้น ข้อมูลเหล่านี้ก็ยังคงต้องมีอยู่บนฉลากเหมือนเดิม ดังนั้นเมื่อมีการประกาศใช้ระบบ GHS อย่างเป็นทางการ การเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้ชัดเจนบนฉลากผลิตภัณฑ์เคมีต่างๆ ที่อย.ดูแล คือ รูปสัญลักษณ์และข้อความแสดงความเป็นอันตรายของสารเคมีที่เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ ดังตัวอย่างฉลากที่แสดงในรูปที่ 6
ที่มา : ตัวอย่างการแสดงฉลากวัตถุอันตรายตามระบบสากล GHS, กลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก http://www.fda.moph.go.th/psiond/km.htm สืบค้นเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 55.
รูปที่ 6 ตัวอย่างฉลากตามระบบ GHS ของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข
ในด้านผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ที่อยู่ในความดูแลของกรมวิชาการเกษตร นั้น ขณะนี้น่าจะอยู่ในช่วงศึกษาข้อมูลในการนำระบบ GHS มาปรับใช้ เนื่องจากในปัจจุบันผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในประเทศไทยใช้เกณฑ์การจำแนกของ WHO Recommended Classification of Pesticides by Hazard and Guidelines to Classification 2004 และการติดฉลากของ FAO Guidelines on Good Labelling Practice for Pesticides อยู่ ซึ่งเป็นเกณฑ์สากลที่ใช้กันอยู่สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ ทั้งนี้จากผลการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์และช่องว่างพบว่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมีอุปสรรคในการนำระบบ GHS มาใช้คือ เรื่ององค์ประกอบของข้อมูลที่ต้องแสดงบนฉลาก เนื่องจากองค์ประกอบของฉลากตามระบบ GHS จะให้เฉพาะข้อมูลความเป็นอันตราย และคำเตือนแก่ผู้ใช้ จึงอาจให้ข้อมูล ไม่เพียงพอสำหรับเกษตรกรเท่ากับฉลากที่ทำขึ้นตามคำแนะนำของ FAO ซึ่งมีคำเตือนให้ป้องกันตนเอง จากการได้รับสัมผัสสาร ข้อความระบุอาการเกิดพิษ การแก้พิษเบื้องต้น และคำแนะนำสำหรับแพทย์ เพื่อช่วยแก้ปัญหาในกรณีที่ได้รับพิษ ดังนั้นหากจะนำทั้งระบบ GHS และคำแนะนำของ FAO มาปฏิบัติจะมีปัญหาเรื่องพื้นที่บนฉลากไม่เพียงพอที่จะบรรจุข้อความและสัญลักษณ์ที่จำเป็น แต่อย่างไรก็ดี ขณะนี้ FAO กำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุง Guidelines on Good Labelling Practice for Pesticides ให้สอดคล้องกับระบบ GHS ส่วน WHO ก็ได้เผยแพร่ WHO Recommended Classification of Pesticides by Hazard and Guidelines to Classification ฉบับปี ค.ศ. 2009 ที่ได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับระบบ GHS แล้ว ดังนั้นจึงคาดว่าหากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจะนำระบบ GHS ไปใช้น่าจะอ้างอิงตามหลักการของ FAO และ WHO นี้ได้
จากที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ประเทศไทยถือว่าได้ประกาศใช้ระบบ GHS อย่างเป็นทางการแล้วในระดับหนึ่ง และอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่จะมีการนำระบบ GHS มาใช้อย่างเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการน่าจะต้องทำคือ การหาความรู้และทำความเข้าใจกับระบบ GHS พร้อมทั้งควรจะต้องทราบว่าตนเองมีความเกี่ยวข้องในส่วนใดบ้าง เช่น ถ้าเป็นผู้ผลิตต้องมีหน้าที่ในการจัดทำฉลาก และ SDS ให้ถูกต้องเหมาะสม สำหรับผู้ซื้อสารเคมี/เคมีภัณฑ์มาใช้ ก็ควรต้องได้รับ SDS ของสารเคมี/เคมีภัณฑ์ที่ตนเองซื้อจากผู้ขายเสมอ และต้องศึกษาข้อมูลในฉลากและ SDS ให้เข้าใจ เพื่อที่จะสามารถใช้งานและจัดการได้อย่างปลอดภัยทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น สำหรับประชาชนคงต้องทำความเข้าใจกับสัญลักษณ์แบบใหม่และข้อความบนฉลากผลิตภัณฑ์เคมีต่างๆ เพื่อที่จะใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้อย่างถูกต้องปลอดภัยต่อไป
ระบบ GHS ทำให้เกิดเกณฑ์การจำแนกประเภทความเป็นอันตรายของสารเคมีที่เหมือนกันทั่วโลก พร้อมทำให้ได้รูปสัญลักษณ์ ข้อความแสดงความเป็นอันตราย และคำแนะนำที่ชัดเจนเข้าใจง่าย สำหรับนำไปใช้ในการสื่อสารผ่านฉลาก และ SDS ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้สารเคมี ผู้เกี่ยวข้อง และผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลสารเคมีได้ ส่งผลให้เกิดการจัดการสารเคมีได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ดังนั้นเมื่อประเทศไทยได้นำระบบนี้มาใช้แล้ว ก็คาดหวังว่าในอนาคตประเทศไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากระบบ GHS เพื่อระบุความเป็นอันตรายและสื่อสารข้อมูลสารเคมีให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำไปจัดการความปลอดภัยด้านสารเคมีของประเทศได้อย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกันผู้ใช้สารเคมีและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลสารเคมี ส่งผลให้เกิดความตระหนักถึงความเป็นอันตรายและใช้สารเคมีอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากใช้เกณฑ์การจำแนกประเภทความเป็นอันตรายและสื่อสารข้อมูลสารเคมีในรูปแบบเดียวกัน ทำให้ลดความซ้ำซ้อนของการทดสอบ การจัดทำฉลาก และ การจัดทำ SDS ของสารเคมี
1 สารเคมี หรือ สารเดี่ยว (substance) หมายถึง ธาตุหรือสารประกอบที่อยู่ในสถานะธรรมชาติหรือเกิดจากกระบวนการผลิตต่าง ๆ ทั้งนี้รวมถึงสารเติมแต่งที่จำเป็นในการรักษาความเสถียรของสารเดี่ยว หรือสารเจือปนที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต แต่ไม่รวมถึงสารตัวทำละลายที่สามารถแยกออกมาจากสารเดี่ยวได้โดยไม่มีผลต่อความเสถียรของสารเดี่ยวหรือไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของสารเดี่ยว
2 เคมีภัณฑ์ หรือ สารผสม (mixture) หมายถึง สารผสมหรือสารละลายที่ประกอบด้วยสารเดี่ยวสองชนิด หรือมากกว่าที่ไม่ทำปฏิกิริยาต่อกัน
ข้อมูลอ้างอิง :
1. ตัวอย่างการแสดงฉลากวัตถุอันตรายตามระบบสากล GHS, กลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา [ออนไลน์] เข้าถึงได้จากhttp://www.fda.moph.go.th/psiond/km.htm สืบค้นเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 55.
2. รายงานการประชุมคณะทำงานบริหารโครงการ UNITAR – Thailand Training and Capacity Building for the Implementation of the GHS ครั้งที่ 1/2553 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2553 ณ ห้องประชุมหลวงวิเชียรแพทยาคม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา.
3. รายงานการศึกษาศักยภาพของประเทศไทยในการจัดการสารเคมี เพื่อรองรับระบบสากลการจัดกลุ่มและการติดฉลาก, เอกสารประกอบการประชุมสัมมนาระดับชาติ เรื่อง GHS : การพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยในการจัดการสารเคมี ตามระบบสากล, วันที่ 15-17 พฤษภาคม 2549.
4. ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย พ.ศ. 2555.
5. สุดสาคร พุทโธ, GHS ระบบการจำแนกและการจัดทำฉลากสารเคมีตามข้อกำหนดของสหประชาชาติที่ผ่านการปรับประสานกันทั่วโลกมาแล้ว, กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม.
6. เอกสารประกอบการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย พ.ศ....., จัดโดย สำนักควบคุมวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม, วันที่ 9 พฤษภาคม 2554 [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก http://eis.diw.go.th/haz/index.asp สืบค้นเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 55.
7. เอกสารรับฟังความคิดเห็นต่อการบังคับใช้ระบบ GHS กับวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข, กลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก http://www.fda.moph.go.th/psiond/download/ghs/GHS_22062554/GHS%20hearing.pdf สืบค้นเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 55.
8. เอกสารประกอบการสัมมนาผู้ประกอบการวัตถุอันตราย เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นการบังคับใช้ระบบ GHS และการชี้แจงกฎระเบียบด้านวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข, วันที่ 22 มิถุนายน 2554 [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก http://www.fda.moph.go.th/psiond/GHS_doc.htm สืบค้นเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 55.
9. GHS implementation, UNECE [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก http://www.unece.org/trans/danger/publi/ghs/implementation_e.html สืบค้นเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 55.
10. Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals (GHS), third revised edition, UNITED NATIONS, New York and Geneva, 2009.
11. Understanding the Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals (GHS) : A companion guide to the GHS Purple Book, June 2010 Edition, Chemicals and Waste Management Programme, United Nations Institute for Training and Research (UNITAR). [ออนไลน์] เข้าถึงได้จากhttp://www2.unitar.org/cwm /publications/cw/ghs/GHS_Companion_Guide_final_June2010.pdf สืบค้นเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 55.
ที่มาของข้อมูล :
วารสารสิ่งแวดล้อม (Environmental Journal), สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปีที่ 16 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2555
|