วันที่ 9 มกราคม เกิดปรากฏการณ์ท้องฟ้ากรุงเทพมีหมอกขาวโพลนไปทั่วตลอดทั้งวัน หลายคนอาจสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นซึ่งอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ได้ชี้แจงว่า เป็นเพราะขณะนี้อยู่ในช่วงแล้ง และมีสภาพอากาศปิดทำให้หลายพื้นที่มีปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะในเขต กทม.ที่มีการจราจรหนาแน่น และแสดงความกังวลถึงแนวโน้มปัญหาโอโซน ซึ่งพบว่าในช่วงปี 2550 หลายพื้นที่เริ่มมีโอโซนเกินมาตรฐานหลายครั้ง โดยจังหวัดที่พบเกินมาตรฐานมากที่สุด คือ สระบุรี พบเกินมาตรฐาน 23 วัน รองลงมาคือ ระยอง เชียงใหม่ ชลบุรี และราชบุรี
จากคำบอกเล่าข้างต้นหลายคนอาจสงสัยต่อไปว่าโอโซนที่กล่าวถึงนี้เป็นโอโซนที่เราพูดกันติดปากว่า “ไปสูดโอโซน” ใช่หรือไม่ และโอโซนนี้สร้างปัญหาอะไรหรือ
โอโซนคือก๊าซที่ประกอบด้วยอะตอมออกซิเจน 3 อะตอม (ก๊าซออกซิเจนประกอบด้วยออกซิเจน 2 อะตอม) ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเกิดขึ้นแบบผิดธรรมชาติ
โอโซนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจะรวมตัวกันอยู่ในชั้นบรรยากาศที่เรียกว่าสตราโตสเฟียร์ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นผิวโลกประมาณ 10 - 60 กม. โอโซนเหล่านี้จะทำหน้าที่กั้นไม่ให้รังสีอัลตราไวโอเลตส่องมายังโลกมากเกินไป ทำให้โลกไม่ร้อนและป้องกันการเกิดมะเร็งผิวหนัง จึงเป็นโอโซนที่ดี ปัจจุบันโลกเรากำลังประสบปัญหารูรั่วของชั้นโอโซนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้มีความพยายามร่วมมือกันลดการใช้สารเคมีที่เป็นสาเหตุให้เกิดรูรั่วของชั้นโอโซน
นอกจากโอโซนตามธรรมชาติที่อยู่สูง ๆ แล้ว พบว่ามีโอโซนปรากฏตัวอยู่ในบรรยากาศใกล้ ๆ พื้นดินด้วย เรียกว่าโอโซนระดับพื้นดิน โดยเป็นโอโซนที่เกิดเองตามธรรมชาติและเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์เช่น การขนส่ง หรือกระบวนการผลิตจากแหล่งอุตสาหกรรม ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซตั้งต้นที่จะทำปฏิกิริยาต่อเนื่องจนได้เป็นโอโซนในที่สุด รวมทั้งอุปกรณ์ผลิตโอโซนที่มนุษย์สร้างขึ้น โอโซนในระดับความเข้มข้น 0.25 ppm ขึ้นไปก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อ ตา จมูก การหายใจเอาโอโซนเข้าไป (แม้ในปริมาณต่ำ) จะทำให้ทางเดินหายใจมีปัญหาทันที เช่น เกิดความระคายเคืองทางเดินหายใจ ทำให้อาการโรคหอบหืดรุนแรงขึ้น ในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีบางรายพบว่าความจุของปอดลดลงชั่วคราวประมาณ 15 – 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เนื้อเยื่อปอดอักเสบ ถ้าได้รับในปริมาณมากจะทำให้ตายได้ นอกจากอันตรายต่อสุขภาพคนแล้วยังมีผลด้านลบต่อพืชผักอีกด้วย เช่นทำให้ผักเป็นโรคได้ง่ายขึ้น ทำให้ผลผลผลิตพืชเศรษฐกิจลดลง เช่นถั่วเหลือง เป็นต้น
สรุปว่าโอโซนที่อยู่บนชั้นบรรยากาศสูง ๆ นั้นมีมาก ๆ ดี ส่วนโอโซนที่อยู่ต่ำ ๆ แถวพื้นดินนี้ยิ่งมีน้อยยิ่งดี และไม่ควรไปสูดโอโซนเด็ดขาด
แนะนำลิงก์ : อ่านเรื่องราวของโอโซนดีที่เราควรถนอมรักษาที่ http://www.chemtrack.org/EnvForKids/Ozone.htm
แหล่งอ้างอิง :
http://www.epa.gov/ttn/oarpg/naaqsfin/o3health.html
http://www.il.mahidol.ac.th/course/ecology/chapter2/chapter2_airpolution8.htm |