โพลีสไตรีน (Polystyrene, PS) เป็นพลาสติกที่ผลิตขึ้นมาจากสไตรีนโมโนเมอร์ ซึ่งเป็นสารไฮโดรคาร์บอนที่ได้จากปิโตรเลียม ถูกผลิตออกขายครั้งแรกในช่วงปี 1930 - 1939 ช่วงแรกสไตรีนที่ผลิตขึ้นมาถูกนำไปใช้ในสงครามโลก ครั้งที่ 2 เป็นหลัก หลังจากสงครามจบลงจึงเปลี่ยนมาผลิตเป็นพลาสติกโพลีสไตรีนออกขายแทน ในการผลิตโพลีสไตรีนยังมีวัตถุดิบอื่น ๆ ที่ใช้ร่วมด้วยได้แก่ เบนซีน เอทิลีน และบิวทาไดอีน
โพลีสไตรีนเป็นพลาสติกชนิดเทอร์โมพลาสติก คือหลอมเป็นของเหลวได้ โดยที่อุณหภูมิห้องจะอยู่ในสถานะของแข็ง แต่จะหลอมละลายเมื่อทำให้ร้อนและแข็งตัวเมื่อเย็นลง โพลีสไตรีนแข็งที่บริสุทธิ์จะไม่มีสี ใส แต่สามารถทำเป็นสีต่าง ๆได้ และยืดหยุ่นได้จำกัด
โพลีสไตรีนที่ใช้กันอยู่ทั่วไปส่วนใหญ่เป็นชนิดที่เรียกว่า expanded polystyrene (EPS) เป็นชนิดที่ได้จากการผสมโพลีสไตรีนร้อยละ 90-95 กับสารทำให้ขยายตัว (ที่ใช้กันมากคือเพนเทนหรือคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อก่อนใช้ ซีเอฟซี ซึ่งเป็นสารทำลายชั้นโอโซน) ร้อยละ 5-10 พลาสติกที่เป็นของแข็งถูกทำให้เป็นโฟมโดยการใช้ความร้อน (มักเป็นไอน้ำ) โพลีสไตรีนอีกชนิดหนึ่งคือ Extruded polystyrene (XPS) มีชื่อทางการค้าที่แพร่หลายคือ Styrofoam เป็นชนิดที่มีการเติมอากาศไว้ในช่องว่างตามเนื้อโฟมทำให้มีค่าการนำความร้อนต่ำ ใช้ในงานก่อสร้าง และใช้เป็นฉนวนกันความร้อนในอาคาร และยังมีชนิดที่เป็นแผ่นเรียกว่า Polystyrene Paper Foam (PSP) ใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหาร เช่นกล่องหรือถาดใส่อาหาร
กระบวนการผลิตโพลีสไตรีนปลดปล่อยสารพิษอะไรบ้าง สารพิษที่ปลดปล่อยออกมาในระหว่างการผลิตโพลีสไตรีนได้แก่
1. เบนซีน (เป็นสารก่อมะเร็ง)
2. สไตรีนโมโนเมอร์ (เป็นสารที่สงสัยว่าก่อให้เกิดมะเร็ง)
3. 1,3-บิวทาไดอีน (เป็นสารที่สงสัยว่าก่อให้เกิดมะเร็ง)
4. คาร์บอนเตตระคลอไรด์ ทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองและสงสัยว่าก่อให้เกิดมะเร็งในคน)
5. โครเมี่ยม (6) ออกไซด์ ก่อให้เกิดมะเร็งและการกลายพันธุ์ในสัตว์ทดลอง
มีรายงานการตรวจพบว่าคนงานที่ทำงานในโรงงานสไตรีนและโพลีสไตรีนมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับการทำงานของปอด ทำลายโครโมโซม และเป็นมะเร็งเพิ่มมากขึ้น
อะไรบ้างที่ทำจากโพลีสไตรีน
- แก้วโฟมที่ใช้แล้วทิ้ง ที่ค้นพลาสติก จานหรือถาดพลาสติกใส่อาหาร
- โฟมที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เช่นบรรจุภัณฑ์กันกระแทกสำหรับใส่ขวดไวน์ ผลไม้ และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
- วัสดุช่วยพยุงให้ลอยน้ำ
- แผ่นฉนวนกันความร้อนในอาคาร
- อื่น ๆ เช่น ไม้บรรทัด ไม้แขวนเสื้อ ม้วนวีดีโอ ตลับเทป เป็นต้น
ข้อควรระวัง
1. การใช้ภาชนะโฟมพลาสติก EPS ใส่อาหารที่ร้อน เช่นกาแฟร้อน การค้นกาแฟร้อน ๆ ด้วยแท่งคนที่ทำจากพลาสติก EPS หรือการที่โฟมสัมผัสกับกรดเช่น้ำมะนาว หรืออาหารที่มีวิตามิน เอแล้วนำไปเข้าไมโครเวฟ ก็สามารถทำให้สไตรีนโมโนเมอร์ในโฟมพลาสติกละลายออกมาผสมในอาหารได้
2. การเผาโฟมพลาสติกโพลีสไตรีนทำให้เกิดก๊าซพิษสไตรีนออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของของมะเร็ง
3. การรีไซเคิลโฟมโพลีสไตรีนมีปัญหาในเรื่องไม่คุ้มทุนเป็นสำคัญ เนื่องจากคุณภาพของพลาสติกที่รีไซเคิลได้จะต่ำลงกว่าก่อนผ่านการรีไซเคิล ดังนั้นพลาสติกที่รีไซเคิลได้จึงไม่สามารถนำกลับมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เดิมได้ ต้องทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ด้อยคุณภาพลงไป เช่นโฟมบรรจุอาหารไม่สามารถรีไซเคิลกลับมาใส่อาหารได้อีก ต้องนำไปทำเป็นโฟมกันกระแทก ฉนวนฝาผนัง ถาดในโรงอาหาร เป็นต้น ซึ่งการทำเช่นนี้ต้องใช้เพิ่มวัตถุดิบหรือต้นทุนด้านต่าง ๆ เข้าไปอีก
ทางเลือก
หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์โฟมโพลีสไตรีนโดยใช้ผลิตภัณฑ์อื่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทน เช่นเลิกใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่เป็นโฟม เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง :
Chintan Environmental Research and Action Group, 2007. Plastic: A treat to mankind, National Book Trust, India
จิราวรรณ หาญวัฒนกุล, เมษายน 2550. โฟมพลาสติกชนิดพอลิยูรีเทนและพอลิสไตรีน
http://www.dss.go.th/dssweb/st-articles/files/bla_4_2550_foams.pdf
http://en.wikipedia.org/wiki/Polystyrene
http://www.ejnet.org/plastics/polystyrene/nader.html
http://www.ejnet.org/plastics/polystyrene/disposal.html#recycling |