การกินอนุภาคนาโน
การกินสารแขวนลอยซิลเวอร์นาโนเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาอาการต่างๆ รวมถึงภาวะข้ออักเสบและมะเร็ง เป็นการกล่าวอ้างและโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต (Wadhera and Fung 2005) อย่างไรก็ตามมีจำนวนไม่น้อยที่เกิดผลตามมาที่เป็นอันตราย เนื่องจากการกลืนกินซิลเวอร์นาโน รวมถึงแผลในลำไส้และอาร์ไจเรีย (Wadhera and Fung 2005) ซึ่งซิลเวอร์นาโนที่รับประทานเข้าไปมักถูกเปลี่ยนไปเป็นไอออนเนื่องจาก pH ที่ต่ำในท้องหรือมีฤทธิ์เป็นกรด
การทดลองในหนู (Kim et al. 2009) โดยการให้หนูกินซิลเวอร์นาโนเป็นเวลา 28 วัน ผลการทดลองพบซิลเวอร์ในสมอง ตับ ไต และปอด และพบความเป็นพิษเกิดขึ้นที่ตับ สำหรับการศึกษาในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบที่รับประทาน colloidal silver (ผู้ป่วยรายนี้ได้รับการนำเสนอผลิตภัณฑ์ colloidal silver ผ่านทางอินเตอร์เน็ต) สิ่งที่พบได้คือ สีผิวที่เปลี่ยนไปเป็นสีเทาฟ้า (สังเกตได้ชัดเจนในบริเวณผิวที่ได้รับแสงอาทิตย์) แต่มีผลที่ดีขึ้นสำหรับการรักษาอาการข้ออักเสบ แต่เมื่อมีการตัดชิ้นผิวหนังมาตรวจสอบพบซิลเวอร์ในชั้นผิว นอกจากนี้ยังพบว่าการกินซิลเวอร์จะทำให้ซิลเวอร์ไหลเวียนไปได้ทั่วร่างกายผ่านทางลำไส้ จากกรณีศึกษานี้เป็นการเน้นให้เห็นถึงความง่ายในการพบผลิตภัณฑ์ที่มีอนุภาคซิลเวอร์นาโนเป็นองค์ประกอบในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพโดยการโฆษณาชวนเชื่อผ่านทางอินเตอร์เน็ต ดังนั้นควรมีกฎระเบียบที่เข้มงวดในการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นและควรคำนึงถึงผลที่เกิดขึ้นจากการใช้ด้วย
การกินอนุภาคนาโน
มีงานวิจัยเพียงเรื่องเดียวที่ศึกษาถึงผลของการกลืนกินอนุภาคนาโนของไทเทเนียมไดออกไซด์ (Wang et at. 2007) ต่อการกระจายตัวและความเป็นพิษ โดยให้หนูได้รับอนุภาคนาโนของไทเทเนียมไดออกไซด์ (ขนาด 25 และ 80 นาโนเมตร) ทางปาก หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ พบการกระจายตัวของอนุภาคนาโนไปยังตับ ม้าม ปอด และไต ซึ่งเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นถึงการเคลื่อนตัวไปยังอวัยวะต่างๆ เนื่องจากเป็นการเคลื่อนย้ายไปตามกระแสเลือด ภายในตับที่มีอนุภาคนาโนเริ่มแสดงการอักเสบ และตับถูกทำลาย แม้ว่างานวิจัยนี้จะเป็นการทดลองเพียงชิ้นเดียวที่แสดงให้เห็นถึงผลของการได้รับอนุภาคนาโนของโลหะออกไซด์ผ่านทางการกลืนกิน แต่ให้ผลที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสของการเคลื่อนตัวของอนุภาคนาโนของโลหะออกไซด์ทางกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ และแสดงให้เห็นว่าตับเป็นเป้าหมายแรกๆ ที่ได้รับพิษจากอนุภาคนาโนของโลหะออกไซด์
เอกสารอ้างอิง :
Kim, Y., Suh, H.S., Cha, H.J., Kim, S.H., Jeong, K.S, Kim, D.H. 2009, “A case of generalized argyria after ingestion of colloidal silver solution”, Am J Ind Med, vol. 52, no.3, pp. 246-250.
Wadhera, A., and Fung, M. (2005). Systemic argyria associated with ingestion of colloidal silver. Dermatol Online J, 11 (1) : 12. Available at http://dermatology.cdlib.org
Wang, J., Zhou, G., Chen, C., Yu, H., Wang, T., Ma, Y., Jia, G., Gao, Y., Li, B., Sun, J., Li, Y., Jiao, F., Zhao, Y. and Chai, Z. 2007, “Acute toxicity and biodistribution of different sized titanium dioxide particles in mice after oral administration”, Toxicol Lett, vol. 168, no. 2, pp. 176-185. |