สมัยก่อนถ้าคนไทยจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับยาพิษ ก็จะอาทิน้อยใจแฟนซดยาพิษ อกหักรักคุดซดยาพิษ เครียดเพราะป่วยด้วยโรคร้ายซดยาพิษ ฯลฯ อะไรประมาณนี้ แต่มาสมัยนี้ไม่เท่านี้อีกแล้ว ชักจะเริ่มบ่อยแล้วที่ได้ยินข่าว วางยาพิษ หวังทำร้าย หวังฆ่าผู้อื่น เช่น วางยาพิษฆ่าหลาน 2 คน หวังเอาเงินทำศพ ก่อนหน้ามีข่าว วางยาพิษในขวดเครื่องดื่มชูกำลัง เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีข่าว วางยาพิษใช้เข็มฉีดใส่นมกล่อง ล่าสุดก็เพิ่งเป็นข่าวดังอีก คือ วางยาพิษโรยหน้าเค้ก
โฟกัสดูเรื่องนี้กันชัด ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณี กินยาพิษเอง ไม่ว่าจะกรณี ถูกวางยาพิษ และไม่ว่าจะเสียชีวิตหรือไม่เสียชีวิต ส่วนใหญ่แล้ว ยาพิษ ที่ถูกนำมาใช้มักจะเป็นกลุ่ม ยาฆ่าแมลงที่มีใช้กันอยู่ทั่วไป อย่างรายที่ถูกวางยาพิษในนมกล่องเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งภรรยาของชายผู้ถูกคนร้ายมุ่งวางยาฆ่าต้องรับเคราะห์แทนและเสียชีวิตนั้น ยาพิษที่ถูกคนร้ายนำมาใช้ก็คือสารเคมีกำจัดแมลง ชื่อ แลนเนท (Lannate)
ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดย ไวโรฒ วณิชวงศา อธิบายถึงเจ้าแลนเนทไว้ สรุปได้ว่าแลนเนทเป็นชื่อทางการค้าของเม็ทโธมิล (Methomyl) ซึ่งเป็นสารเคมีกำจัดแมลงชนิดหนึ่งในกลุ่มคาร์บาเมต ใช้ในการป้องกันกำจัดแมลงที่เป็นศัตรูพืชได้หลายชนิด
ลักษณะทั่วไปทางวิทยาศาสตร์ของแลนเนท จะเป็นผลึกของแข็งสีขาว มีกลิ่นกำมะถันเจือจาง มีความเสถียรในสภาพที่เป็นของแข็งมากกว่าสภาพที่เป็นด่าง และสามารถสลายตัวได้ดีในสภาพที่มีอุณหภูมิสูง หรือในสภาพที่เป็นด่าง รวมถึงสามารถสลายตัวได้อย่างรวดเร็วเมื่ออยู่ในดิน ซึ่งเพราะแลนเนทมีสีขาวคล้ายเกล็ดของน้ำตาล ดังนั้น ปัจจุบันผู้ผลิตจึงต้องผสมสีเข้าไป เช่น สีน้ำเงิน เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดในการนำไปใช้งาน คุณสมบัติหนึ่งของแลนเนทก็คือ มีกลิ่นน้อยมาก อีกทั้งยัง ละลายน้ำได้ ซึ่ง 2 จุดนี้ถือว่าต้องระวัง
แลนเนทเมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะก่อเกิดกระบวนการเมตาบอลิซึม ซึ่งบางส่วนจะถูกขับออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว แต่บางส่วนที่หลงเหลือตกค้างอยู่ในร่างกายและตามเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ จะ ก่อให้เกิดพิษโดยมันจะไปขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ Cholinesterase และส่งผลกระทบต่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อาการเริ่มแรกจะอ่อนเพลีย เหงื่อออกมาก ตาพร่ามัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก ม่านตาหรี่ และกล้ามเนื้อชักกระตุก จากนั้นอาจเกิดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง เกิดอาการชัก และหมดสติ
เนื่องจากสารเคมีกำจัดแมลงชนิดนี้เป็นยาที่หาซื้อได้ง่าย จึงสะดวกต่อการนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ง่ายกว่าสารเคมีกำจัดแมลงชนิดอื่น ๆ ทางผู้เชี่ยวชาญระบุ นี่แหละทำให้ แลนเนท เป็น ยาพิษฆ่าคนได้
ต่อไปลองมาดูกรณียาพิษในเค้กที่เพิ่งเกิดล่าสุดที่โรงเรียนพาณิชย การแห่งหนึ่ง จนต้องมีการหามนักเรียน 25 คน ชาย 12 คน หญิง 13 คน ส่งโรงพยาบาลกันจ้าละหวั่น จากอาการอาหารเป็นพิษ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ และปวดท้องรุนแรง ซึ่งโชคยังดีที่ไม่มีการเสียชีวิตหมู่ ทั้งนี้ กรณีที่เกิดขึ้นนี้เบื้องต้นมีรายงานข่าวว่าพบสารคอปเปอร์ซัลเฟต (Copper sulphate) ปะปนอยู่ในเค้ก
จากข้อมูลของฐานความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี (www.chemtrack.org) สนับสนุนโดย สกว. ระบุไว้ว่าคอปเปอร์ซัลเฟตนี่ก็เป็นสารยาฆ่าแมลง อยู่ในกลุ่มยาฆ่าแมลงจำพวกสารอนินทรีย์ inorganic insecticide กลุ่มเดียวกับ สารหนู, กำมะถันผง ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงที่มีใช้กันในเมืองไทยมานานแล้ว นิยมใช้ในการป้องกันและกำจัดแมลงประเภทปากกัดกิน เช่น แมลงสาบ ปลวก ตั๊กแตน หนอนผีเสื้อกินพืชบางชนิด
สารนี้สลายตัวได้ยากและมีพิษต่อพืชสูง ที่สำคัญก็คือมีพิษต่อสัตว์และคนมาก
คอปเปอร์ซัลเฟตเป็นสารประกอบของทองแดงที่ใช้กันมานาน ชาวอียิปต์โบราณใช้เกี่ยวกับสีย้อม สมัยกรีกโบราณใช้เป็นยาโรคปอด ราวคริสต์ศตวรรษที่ 18 ใช้ชุบเมล็ดข้าวสาลีป้องกันเชื้อรา และใช้รักษาเนื้อไม้ สารละลายคอปเปอร์ซัลเฟตผสมปูนขาวกับน้ำป้องกันโรคราน้ำค้างในไร่องุ่นได้ ป้องกันแบคทีเรียได้หลายชนิด นอกจากนี้ ยังมีการใช้ในอุตสาห กรรมชุบ ใช้ป้องกันตะไคร่และสาหร่ายในแหล่งน้ำ หรือสระว่ายน้ำ
แต่ประเด็นคือมันก็มีความเป็นยาพิษด้วย การใช้ต้องระวังซึ่งที่พบเป็นปัญหาได้บ่อยคือกระเด็นเข้าตา ทำให้แสบตาอย่างรุนแรง, ถูกผิวหนัง ทำให้ปวดแสบปวดร้อน เป็นตุ่มพอง เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ การใช้ต้องระวังอย่าให้ถูกผิวหนัง อย่าหายใจเอาฝุ่นที่ฟุ้งกระจายเข้าไป และที่สำคัญคือหากกลืนกินคอปเปอร์ซัลเฟตเข้าไปจะทำให้ปวดท้องรุนแรง มีเหงื่อมาก และอาจช็อกได้ ซึ่งโอกาสถึงขั้นเสียชีวิตใช่ว่าจะไม่มี
โดยสรุปยาฆ่าแมลงอาจจะเป็นภัยสามัญประจำบ้าน หากใช้โดยไม่ระมัดระวังอาจจะนำภัยมาสู่ตัวและคนใกล้ชิดได้ และหากใช้ผิดประเภทมันสามารถจะเป็นยาพิษร้ายเหมือนที่ในเมืองไทยยุคปัจจุบันมีข่าวอยู่ประจำ
ที่มาของข้อมูล : คอลัมน์สกู๊ปข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 |