กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจวิเคราะห์เครื่องสำอางในช่วง 5 ปี ยังคงพบสารต้องห้าม 3 ชนิด คือ ไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ และปรอทแอมโมเนียเพียบ เผยได้มีการคิดค้นและพัฒนาผลิตชุดทดสอบอย่างง่ายรู้ผลภายใน 5 วินาที ถึง 5 นาที
วันนี้ (10 กุมภาพันธ์ 2552) นพ. มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันเครื่องสำอางที่ช่วยให้ใบหน้าขาวเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้ดำเนินการเฝ้าระวังความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้ตรวจวิเคราะห์เครื่องสำอาง รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,412 ตัวอย่าง จำแนกได้ดังนี้ ปี พ.ศ. 2547 ตรวจ 501 ตัวอย่าง พบสารอันตรายห้ามใช้ 157 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 31 ปี พ.ศ. 2548 ตรวจ 317 ตัวอย่าง พบสารอันตรายห้ามใช้ 72 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 23 ปี พ.ศ. 2549 ตรวจ 405 ตัวอย่าง พบสารอันตรายห้ามใช้ 92 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 23 ปี พ.ศ. 2550 ตรวจ 531 ตัวอย่าง พบสารอันตรายห้ามใช้ 146 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 28 และปี พ.ศ. 2551 ตรวจ 658 ตัวอย่าง พบสารอันตรายห้ามใช้ 134 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 20.4
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวอีกว่า สารห้ามใช้ที่ตรวจพบมากที่สุด คือ ปรอทแอมโมเนีย รองลงมา คือ สารไฮโดรควิโนน และกรดเรทิโนอิก โดยตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยังคงพบเครื่องสำอางผสมสารห้ามใช้ทั้ง 3 ชนิด ถึงแม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลงก็ตาม สำหรับอันตรายจากสารไฮโดรควิโนน จะทำให้ผู้ใช้เกิดอาการระคายเคือง เกิดจุดด่างขาวที่หน้า ผิวหน้าดำ เป็นฝ้าถาวรรักษาไม่หาย กรดเรทิโนอิกหรือกรดวิตามินเอ อาจทำให้เกิดอาการหน้าแดงแสบร้อนรุนแรง เกิดการอักเสบ ผิวหน้าลอกอย่างรุนแรงและอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ และสารประกอบของปรอทหรือปรอทแอมโมเนีย อาจทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เกิดพิษสะสมของสารปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะและไตอักเสบ
นพ. มานิต ธีระตันติกานนท์ กล่าวต่ออีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการเฝ้าระวังและพัฒนาการตรวจวิเคราะห์เครื่องสำอางมาอย่างต่อเนื่องและปัจจุบันได้มีการคิดค้นและพัฒนาชุดทดสอบอย่างง่าย ประกอบด้วย ชุดทดสอบไฮโดรควิโนน หลังจุ่มชุดทดสอบจะรู้ผลใน 5 วินาที ชุดทดสอบปรอทแอมโมเนียรู้ผลใน 5 นาที และชุดทดสอบกรดเรทิโนอิกรู้ผลใน 1 นาที ซึ่งสามารถใช้ตรวจสอบเบื้องต้นว่าเครื่องสำอางผสมสารอันตรายห้ามใช้หรือไม่ และเพื่อลดความเสี่ยงของการได้รับอันตรายจากเครื่องสำอาง โดยเป็นชุดทดสอบที่ให้ผลรวดเร็วภายใน 2 นาที วิธีการใช้ง่าย ไม่จำเป็นต้องทำโดยบุคลากรที่ชำนาญเฉพาะ สามารถนำไปใช้ภาคสนามได้ หน่วยงานที่รับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขสามารถนำไปใช้คัดกรอง ความไม่ปลอดภัยของเครื่องสำอางที่จำหน่ายในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค หากหน่วยงานใดสนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หรือ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 14 แห่ง ทั่วประเทศ
ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 |