ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อประเทศจีนได้เผยผลการศึกษา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมาว่า ระดับมลพิษในอาคารบ้านเรือนนั้นมีค่าสูงกว่า มลพิษตามท้องถนน 5 - 10 เท่า และเป็นสาเหตุของโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ที่ทำให้เด็กๆ กว่า 2.2 ล้านคน เสียชีวิตในแต่ละปี ในจำนวนนั้นยังเป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ถึง 1 ล้านคน
ผลการศึกษาระบุถึงอันตรายจากมลพิษที่เกิดจากการระเหยของสารฟอร์มัลดีไฮด์ เบนซิน แอมโมเนีย โดยกล่าวว่า สารพิษฟอร์มัลดีไฮด์ เป็นสาเหตุหลักของความเจ็บป่วย ซึ่งพบมากในวัสดุตกแต่งอาคาร ไม้อัดและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้อัด โฟมที่ใช้ทำฉนวนกันความร้อน ผลิตภัณฑ์กระดาษไฟเบอร์กลาส ผ้าม่าน พรมปูพื้น และเฟอร์นิเจอร์ โดยจะค่อยๆ ระเหยออกมาช้าๆ ตลอดเวลา และอบอวลอยู่ในอาคารนานหลายปี
การค่อยๆ รับสารพิษอย่างช้าๆ และไม่รู้ตัวนี้ ทำให้ผู้ใหญ่ และเด็กจำนวนมากป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ ภูมิแพ้และหอบหืด นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระดูและการเจริญพันธุ์อีกด้วย ในบางรายอาจรุนแรงถึงกับเป็นโรคมะเร็ง นอกจากนี้ ความเสี่ยงจะรุนแรงขึ้นกับเด็กทารกในครรภ์มารดาซึ่งอาศัยอยู่ในอาคารนั้นเป็นเวลานาน
ความไม่สมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมของจีน ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างผลกระทบต่อชีวิตประชาชน และกลายเป็นปัญหาใหญ่ซึ่งรัฐบาลจีนพยายามแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษในเมือง ความปลอดภัยในการทำงาน และการขาดแคลนน้ำสะอาดดื่ม จนทำให้จีนเป็นประเทศที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก ตามข้อมูลของธนาคารโลก ที่อ้างเมื่อปี 2550 รายงานว่า ในแต่ละปี จะมีชาวจีนเสียชีวิตเนื่องจากมลพิษทางอากาศ และน้ำ ราว 750,000 คน
ที่มาของข้อมูล : ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ประจำวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 |