สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
การจัดเก็บสารเคมี

มีข้อกำหนดสำหรับการจัดเก็บสารเคมีในอุตสาหกรรมหรือไม่

ผู้เขียน: ศศิธร สรรพ่อค้า
หน่วยงาน: ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย
วันที่: 21 พ.ย. 2550

คำถาม  มีข้อกำหนดสำหรับการจัดเก็บสารเคมีในอุตสาหกรรมหรือไม่

คำตอบ  การจัดเก็บสารเคมีสำหรับกิจการทั่วไปหรือโรงงานอุตสาหกรรมสามารถใช้หลักการเดียวกับการจัดเก็บสารเคมีทั่วไปซึ่งสามารถดูรายละเอียดได้จากเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (SDS) หรือจัดเก็บสารเคมีโดยแยกตามประเภทและสถานะของสารเคมีที่แบ่งตามระบบสัญลักษณ์ต่างๆ นั้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ครอบครองหรือผู้ใช้สารเคมีสามารถจำแนกสารเคมีได้ด้วยวิธีหรือข้อกำหนดอื่นๆ ขึ้นกับความเหมาะสมของกิจการ ดังเช่นในภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีการใช้สารเคมีในปริมาณมาก หากต้องศึกษาการจัดเก็บสารเคมีแต่ละตัวอาจใช้เวลามากและอาจทำให้สับสน ทางสมาคมอุตสาหกรรมของประเทศเยอรมัน หรือ VCI (the Verband der Chemischen Industrie e.V.) จึงได้กำหนดแผนสำหรับการจัดเก็บสารเคมีหรือผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทที่เรียกว่า LGK Class ซึ่งได้นำกฏหมายและข้อกำหนดทางวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดเก็บสารเคมีภายในประเทศเยอรมันมาเป็นบรรทัดฐาน เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใช้หรือผู้ครอบครองสารเคมีหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีข้อมูลอื่นๆ 

            ในการจัดเก็บสารเคมีควรจัดเก็บสารเคมีประเภทเดียวกันไว้ด้วยกันและแยกจากสารเคมีประเภทอื่น แต่หากสารเคมีนั้นๆ มีอันตรายหลายอย่างหรือจำเป็นต้องเก็บสารเคมีไว้ในสถานที่เดียวกัน VCI ได้กำหนดการพิจารณาเพื่อแบ่งประเภทและกำหนดการจัดเก็บดังแผนภูมิที่ 1 และตารางที่ 1 อย่างไรก็ตาม สำหรับสารระเบิดได้ สารติดเชื้อ และสารกัมมันตรังสี ต้องจัดเก็บสารเหล่านี้เป็นพิเศษตามระเบียบของรัฐ

            สำหรับเกณฑ์ของสถานที่เก็บสารเคมีสำหรับอุตสาหกรรมสามารถดูรายละเอียดได้จากคู่มือการเก็บรักษาวัตถุอันตราย สำนักควบคุมวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือ
http://www2.diw.go.th/haz/hazard/indexlibary.htm

แผนภูมิที่ 1 การจำแนกประเภทสารเคมีตามข้อกำหนดของ VCI


เงื่อนไขการจัดเก็บวัตถุอันตรายตามตารางการจัดเก็บ 

            1.  การจัดเก็บของเหลวไวไฟ และก๊าซภายใต้ความดันในภาชนะบรรจุขนาดเล็ก (กระป๋องสเปรย์) สามารถจัดเก็บได้โดยมีเงื่อนไขดังนี้ ต้องจัดให้มีการระบายอากาศ และปริมาณการจัดเก็บสารต้องไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการจัดเก็บทั้งหมด ทั้งนี้ปริมาณรวมของของเหลวไวไฟและก๊าซภายใต้ความดันในภาชนะบรรจุขนาดเล็ก (กระป๋องสเปรย์) ต้องไม่เกิน 100,000 ลิตร 

            2.  ก๊าซภายใต้ความดันในภาชนะบรรจุขนาดเล็ก (กระป๋องสเปรย์) เก็บคละกับสารพิษได้ โดยมีเงื่อนไขต่อไปนี้ ห้องที่มีผนังทนไฟ ขนาดพื้นที่ต้องไม่เกิน 60 ตารางเมตร และปริมาณการจัดเก็บสารไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณการจัดเก็บทั้งหมด อุณหภูมิของห้องต้องไม่เกิน 50 องศาเซลเซียส ต้องมีการระบายอากาศและต้องมีทางออกฉุกเฉิน 2 ทาง ทางออกฉุกเฉินทั้งสองทางต้องมีอุปกรณ์ดับเพลิงประเภทผงเคมีแห้ง ABC ขนาด 6 กิโลกรัม แห่งละ 1 เครื่อง ถ้าห้องเก็บมีขนาดใหญ่กว่า 60 ตารางเมตร การเก็บวัตถุอันตรายเหล่านี้ต้องจัดเก็บแบบแยกห่างด้วยวิธีการที่เหมาะสมหรือแยกบริเวณ 

            3.  วัสดุที่เป็นสาเหตุให้เกิดการลุกติดไฟหรือลุกล่ามได้อย่างรวดเร็ว เช่น วัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ ควรจัดเก็บแยกบริเวณออกจากสารพิษหรือของเหลวไวไฟ 

            4.  ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำปฏิกิริยากับสารอื่นในขณะเกิดอุบัติเหตุ สามารถเก็บคละกันได้โดยการจัดเก็บแบบแยกห่าง เช่น แยกออกจากกันโดยมีกำแพงกั้น เว้นระยะปลอดภัยให้ห่าง เก็บในบ่อแยกจากกัน หรือในตู้เก็บที่ปลอดภัย 

            5.  ห้องเก็บรักษาวัตถุอันตราย ให้จัดเก็บก๊าซภายใต้ความดันได้ไม่เกิน 50 ท่อ ในจำนวนดังกล่าวอนุญาตให้เก็บเป็นก๊าซภายใต้ความดันที่มีคุณสมบัติไวไฟ ออกซิไดส์ หรือก๊าซพิษ เก็บรวมกันได้ไม่เกิน 25 ท่อ สารติดไฟได้ (ประเภท8A และ11) (ยกเว้นของเหลวไวไฟ) อาจนำมาเก็บรวมได้ โดยจัดเก็บแบบแยกห่างจากก๊าซภายใต้ความดันด้วยผนังที่ทำจากวัสดุที่ไม่ติดไฟ ที่มีความสูงอย่างน้อย 2 เมตร และมีระยะห่างจากผนังอย่างน้อย 5 เมตร 

            6.  อนุญาตให้เก็บคละได้ ถ้ามีข้อกำหนดความปลอดภัยสำหรับสินค้าคงคลังทั้งหมดโดยให้เป็นไปตามข้อกำหนดการจัดเก็บวัตถุอันตรายประเภท 2B 

            7.  อนุญาตให้เก็บคละกับของเหลวไวไฟที่มีจุดวาบไฟสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส ถ้าการเก็บคละกันนี้ไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาที่เป็นอันตราย (การลุกติดไฟและ/หรือให้ความร้อนออกมา หรือให้ก๊าซไวไฟ หรือให้ก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะการขาดออกซิเจน หรือให้ก๊าซพิษ หรือทำให้เกิดบรรยากาศของการกัดกร่อน หรือทำให้เกิดสารที่ไม่เสถียร หรือเพิ่มความดันจนเป็นอันตราย) หากพบว่ามีโอกาสเกิดอันตรายตามที่กล่าว ให้จัดเก็บโดยเว้นระยะห่าง ที่ปลอดภัย (5 เมตร) 

            8.  สารติดไฟที่มีคุณสมบัติเป็นพิษเก็บคละกับของแข็งไวไฟ (ประเภท 4.1B) ได้ 

            9.  ห้ามเก็บของเหลวไวไฟ (ประเภท 3A) คละกับสารกัดกร่อนที่บรรจุในภาชนะที่แตกง่าย ยกเว้นมีมาตรการป้องกันไม่ให้สารทำปฏิกิริยากันได้ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น 

            10.  อนุญาตให้เก็บคละกันได้ ยกเว้นก๊าซไวไฟ 

            11.  ต้องจัดทำมาตรการป้องกันเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเก็บรักษาโดยได้รับความเห็นชอบจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม 

            12.  วัตถุอันตรายของแข็งไวไฟ (ประเภท 4.1 A) ที่มีคุณสมบัติการระเบิดอาจเก็บคละกับวัตถุอันตรายอื่นคือ ประเภท 3B 4.1B 8A 8B 10 11 12 หรือ 13ได้ถ้าระยะห่างที่ปลอดภัยซึ่งจัดไว้เพื่อป้องกันอันตรายที่จะมีต่อบริเวณโดยรอบอาคารคลังสินค้ามีเพียงพอหรืออาจต้องกำหนดให้มากขึ้น ซึ่งต้องตรวจสอบเป็นกรณี ๆ ไป

            13.  อนุญาตให้เก็บวัตถุอันตรายเปอร์ออกไซด์อินทรีย์ (ประเภท 5.2) คละกับของแข็งไวไฟ (ประเภท 4.1B) ได้ 

            14.  อนุญาตให้เก็บคละกับดินขับ (propellants) และตัวจุดชนวน (radical initiators) ถ้าสารนั้นไม่มีส่วนผสมของโลหะหนัก 

            15.  การเก็บสารออกซิไดส์ ประเภท 5.1B อาจอนุญาตให้เก็บคละกับวัตถุอันตรายประเภท 6.1A 6.1Bได้ซึ่งสามารถเก็บได้ปริมาณสูงถึง 20 เมตริกตัน โดยต้องมีมาตรการความปลอดภัย คือ อาคารคลังสินค้าต้องมีระบบเตือนภัยไฟไหม้ ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ และทีมผจญเพลิงระดับกึ่งมืออาชีพของบริษัท (พนักงานบริษัททำหน้าที่ดับเพลิงอย่างเดียวพร้อมมีรถดับเพลิงของบริษัท) ถ้ามีสารไม่ถึง 1 เมตริกตัน ไม่ต้องมีมาตรการเสริมดังกล่าว 

            16.  การเก็บวัตถุอันตรายประเภทเปอร์ออกไซด์อินทรีย์รวมกับวัตถุอันตรายอื่นๆ จำเป็นต้องออกแบบและตรวจสอบแต่ละกรณีว่าระยะห่างปลอดภัย (ระหว่างอาคารคลังสินค้าและชุมชน) ที่กำหนดขึ้นโดยรอบอาคารคลังสินค้ามีเพียงพอหรือต้องกำหนดให้มากขึ้น เพื่อป้องกันโอกาสที่จะเกิดอันตราย

            17.  ให้พิจารณาตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยเฉพาะของวัตถุอันตรายแต่ละประเภท 

            18.  วัสดุกัมมันตรังสี ควรแยกจัดเก็บตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของหน่วยงาน IAEA และได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

ขอบคุณมากครับ

ปล. เอาไปทำรายงาน  อิอิอิ

โดย:  io  [29 ก.ย. 2552 00:28]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:5

Posts like this brighten up my day. Thanks for tkiang the time.

โดย:  Kaleigh  [24 ธ.ค. 2554 07:53]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 3:8

อยากทราบวิธีการทำตารางการจัดเก็บวัตถุอันตรายคะ

โดย:  อรดา  [14 พ.ค. 2557 16:01]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 4:18

อยากทราบวิธีการเรียนรู้และทำความเข้าใจตารางการจัดเก็บสารเคมี และ วัตถุอันตราย รบกวนช่วยสอนและแนะนำด้วยครับ

โดย:  สถาพร  [4 ก.พ. 2560 16:28]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 5:20

อยากทราบว่าหากนำเข้าสเปร์ยที่มีสาร Chlorine Dioxide เป็นส่วนประกอบ0.2%+water H2o 99.8% ต้องขออนุญาตินำเข้าวัตถุอันตรายและต้องยื่นหน่วยงานใดบ้างนอกจาก องค์การอาหารและยาคะ

โดย:  pranee  [14 ธ.ค. 2560 16:10]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น