สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
การจัดเก็บสารเคมี

ลักษณะที่ดีของอาคารหรือโกดังเก็บสารเคมีเป็นอย่างไร

ผู้เขียน: ศศิธร สรรพ่อค้า
หน่วยงาน: ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย
วันที่: 19 พ.ย. 2550
คำถาม  ลักษณะที่ดีของอาคารหรือโกดังเก็บสารเคมีเป็นอย่างไร

คำตอบ  นอกจากห้องปฏิบัติการในหน่วยงานหรือสถานศึกษาแล้ว ยังมีอาคารหรือโกดังเก็บสารเคมีที่ไม่เข้าข่ายการควบคุมตามพระราชบัญญัติโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งสถานที่เก็บสารเคมีเหล่านี้บางครั้งมีการจัดการสารเคมีที่ไม่ถูกวิธี ทำให้เกิดการรั่วไหลหรืออุบัติภัย ทำให้พนักงานที่ทำงานในอาคารนั้นๆ หรือประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นจึงควรมีการจัดการที่เหมาะสมในด้านต่างๆ เพื่อลดโอกาสและป้องกันการเกิดอุบัติภัย 

            การจัดเตรียมสถานที่เพื่อเก็บสารเคมีในอาคารสำหรับกิจการขนาดเล็กที่มีการใช้สารเคมีนั้น มีข้อแตกต่างจากการจัดเตรียมห้องปฏิบัติการในรายละเอียดของสถานที่ตั้ง อาณาบริเวณโดยรอบ รวมถึงระบบระบายน้ำและอากาศ  เนื่องจากอาคารเหล่านี้มักเป็นที่เก็บสารเคมีโดยเฉพาะและเก็บในปริมาณมาก จึงมีข้อพึงปฏิบัติที่เพิ่มมากขึ้นและมีหลักการทั่วไปดังนี้

การจัดเก็บสารเคมี

            สามารถใช้การจัดเก็บสารเคมีตามเกณฑ์การแบ่งตามลักษณะอันตรายของ UN ได้

สถานที่ตั้ง

            สถานที่เก็บสารเคมีที่ดี ควรอยู่ห่างจากบริเวณที่มีประชาชนอยู่หนาแน่น ห่างจากเขตพระราชฐานหรือเขตสาธารณะสถาน ห่างไกลจากแหล่งน้ำดื่ม ห่างไกลจากบริเวณที่น้ำท่วมถึง และห่างไกลจากแหล่งอันตรายอื่นๆ ที่อาจเกิดจากภายนอก ควรมีเส้นทางที่สะดวกแก่การขนส่ง และเข้าถึงได้รวดเร็วเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเพียงพอ เช่น อุปกรณ์เตือนอันตรายจากเพลิงไหม้ ระบบจ่ายไฟฉุกเฉิน ระบบดับเพลิง ระบบระบายน้ำ ป้องกันการไหลของน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะพร้อมระบบบำบัดน้ำเสีย และควรมีเครื่องปฐมพยาบาลอยู่ใกล้บริเวณอาคารเก็บสารเคมี

บริเวณโดยรอบ

            สถานที่เก็บสารเคมีต้องมีบริเวณพื้นที่ว่างรอบอาคารอย่างน้อย 10 เมตรเพื่อความสะดวกในการควบคุมสถานการณ์เมื่อเกิดอุบัติภัย อาณาเขตบริเวณโดยรอบที่ตั้งต้องมีกำแพงหรือรั้วกั้นที่อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรงและสามารถบำรุงรักษาให้ดีอยู่เสมอได้ง่าย

 อาคารเก็บสารเคมี

            แผนผังอาคารต้องออกแบบให้สอดคล้องกับชนิดของสารเคมีที่จะเก็บ เนื้อที่และพื้นที่ของอาคารเก็บสารเคมีต้องแบ่งเป็นสัดส่วน เพื่อเก็บสารอันตรายคนละประเภทและสารอันตรายประเภทที่ไม่สามารถเก็บรวมกันได้ อาคารต้องปิดมิดชิดและปิดล็อคได้ วัสดุก่อสร้างอาคารรวมทั้งหลังคาต้องเป็นชนิดไม่ติดไฟและทนไฟ พื้นอาคารต้องมั่นคงแข็งแรง ไม่กักน้ำและไม่ลื่น รวมทั้งไม่ดูดซับสารเคมี ผนังอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กหรือเหล็ก ถ้าเป็นโครงสร้างเหล็กต้องหุ้มด้วยฉนวนกันความร้อน นอกจากนั้นควรจัดทำเขื่อน กำแพง ทำนบ ผนังหรือสิ่งอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายกันเพื่อป้องกันสารเคมีรั่วไหลออกมาภายนอกและมีรางระบายสารเคมีที่รั่วไหลไปยังที่ปลอดภัยเพื่อไม่ให้มีการสะสมตกค้าง

ทางออกฉุกเฉิน

            ต้องจัดให้มีทางออกฉุกเฉิน นอกเหนือจากทางเข้า-ออกปกติ ไม่น้อยกว่า 2 ทาง ประตูต้องเป็นชนิดเปิดออกภายนอก ความสูงไม่น้อยกว่า 1.10 เมตรและเปิดออกได้ง่ายในความมืดหรือเมื่อมีควันหนาทึบ ทางเดินภายในและภายนอกต้องกว้างเพียงพอที่จะลำเลียงเครื่องมือและอุปกรณ์ดับเพลิงได้สะดวก บริเวณทางออกฉุกเฉิน ต้องมีไฟฉุกเฉินติดสัญลักษณ์ชัดเจน ขนาดเหมาะสมที่สามารถมองเห็นได้แม้ในความมืดและไม่มีสิ่งกีดขวาง

การระบายอากาศ

            อาคารที่เก็บสารเคมีต้องมีการระบายอากาศที่ดีโดยคำนึงถึงชนิดของสารเคมีที่เก็บ และสภาพการทำงานที่ปลอดภัย การมีช่องระบายอากาศอยู่ในตำแหน่งบนหลังคา หรือผนังอาคารในส่วนที่ต่ำลงมาจากหลังคา และบริเวณใกล้พื้นจะทำให้การระบายอากาศเป็นไปได้อย่างดี  มีพื้นที่ประตูหน้าต่างและช่องลมรวมกันโดยไม่นับที่ติดต่อระหว่างห้องไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ส่วนของพื้นที่ของห้อง หรือมีการระบายอากาศไม่น้อยกว่า 0.5 ลูกบาศก์เมตรต่อนาที ต่อคนงานหนึ่งคน

การระบายน้ำ

            ท่อระบายน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีต้องแยกกับท่อระบายน้ำฝน และมีบ่อพักน้ำทิ้งเพื่อสามารถนำไปบำบัดได้อย่างถูกวิธี ท่อระบายน้ำฝนต้องอยู่นอกอาคาร ท่อระบายน้ำในอาคารต้องเป็นชนิดที่ไม่ติดไฟ

ข้อพิจารณาเพิ่มเติมสำหรับการเก็บสารเคมีและวัตถุอันตรายนอกอาคาร 

            สารเคมีและวัตถุอันตรายที่เก็บนอกอาคาร โดยเฉพาะในประเทศที่มีอากาศร้อนต้องคำนึงถึงการเสื่อมสภาพ เนื่องจากการสัมผัสกับอุณหภูมิที่สูง จึงต้องระมัดระวังในการเลือกวิธีเก็บโดยอาศัยเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (SDS) ช่วยในการพิจารณา รวมทั้งมีการตรวจสอบการรั่วไหลอย่างสม่ำเสมอเพื่อมิให้ปนเปื้อน ลงสู่ระบบระบายน้ำ
แหล่งอ้างอิง :
กรมควบคุมมลพิษ - คู่มือเกณฑ์ปฏิบัติสำหรับสถานที่เก็บสารเคมีขนาดเล็ก
http://pcd.go.th/Public/Publications/print_haz.cfm?task=storage
สำนักควบคุมวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม. คู่มือการเก็บรักษาวัตถุอันตราย. 2550.
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

ยกตัวอย่างภาพอาคารให้ดูด้วยก็จะดีมาเลยครับ   ขอบคุณครับ

โดย:  ปรีดา  [22 ต.ค. 2552 07:04]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

อยากได้ตัวอย่างสถานที่เก็บสารเคมี ประเภทของเหลวไวไฟ นอกอาคาร เพื่อเป็นแนวทางในการก่อสร้างค่ะ

โดย:  จป.อยุธยา  [12 ก.พ. 2553 11:27]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 3:3

จริงต้องทราบ ระบุสารเคมีในโกดังด้วย
ทั่วไป ก็ระบายอากาศ ระวัง อุณหภูมิ  เพราะสารเคมีกล่ม P , NO เป็นกลุ่มระเบิดง่าย เมื่อเจอญาติที่ถูกใจ  
ยืนยัน  โกดังทั่วไป ก็เก็บสารเคมีได้ แต่บ้างชนิดสาร ต้องเก็บให้ห่างๆๆ  แม้อากาศระบายดี  แต่คนใช้ สาร 2 ตัวใกล้บริเวณกัน ทิ้งไว้ คืน 2 คืน หรือ หยุดยาว กลับมาอาจมีได้ค่ะ

โดย:  ple  [17 เม.ย. 2553 14:05]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 4:4

อยากรู้ว่าหลอดไฟที่ใช้ติดในห้องเก็บสารเคมีต้องเป็นหลอดไฟประเภทไหน
ช่วยตอบด้วยด่วน ด่วน


โดย:  KWAN  [14 มิ.ย. 2553 21:38]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 5:5

ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เป็น Explosion proof

โดย:  สภาษิณี  [11 ม.ค. 2554 03:26]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 6:6

I read your post and wieshd I was good enough to write it

โดย:  Edward  [25 ส.ค. 2555 04:05]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 7:10

อาคารห้องเก็บสารเคมี ห่างจากอาคารผลิต 10 เมตร แต่ถ้าจะก่อสร้างอาคารด้านหลังโรงงานที่มีกำแพงรั่วโรงงานจะต้องห่างจากกำแพงรั่วกี่เมตรครับ

โดย:  จป. ชัยศิริ  [28 พ.ย. 2561 14:14]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น