สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เรียนรู้จากข่าว

ปล่อย 3 ขวบอยู่บ้านคว้าน้ำกรดดื่มดับอนาถ

ผู้เขียน: รศ.สุชาตา ชินะจิตร
หน่วยงาน: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 27 เม.ย. 2548

            เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2548 เพิ่งเขียนเรื่องเรียนรู้จากข่าวอุบัติเหตุว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กำลังพิจารณาสั่งห้ามการใช้กรดกัดแก้ว พอถึงวันที่ 27 เมษายน 2548 ก็ได้มีรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ว่า “ปล่อย 3 ขวบอยู่บ้านคว้าน้ำกรดดื่มดับอนาถ”  เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อพี่น้อง 2 คน อยู่บ้านตามลำพัง เผอิญพี่ต้องออกไปข้างนอกขณะน้องหลับ น้องตื่นขึ้นมาไม่เห็นใครคว้าขวดน้ำกรดซึ่งมีลักษณะคล้ายขวดน้ำเปล่ายกขึ้นดื่มจนปากคอไหม้ กรดนั้นคือกรดกัดกระจกที่นำมาใช้ในการทำภาพศิลปะ
          
            จากรายงานวิจัย สกว. เรื่อง “การศึกษาการใช้และความรุนแรงของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีฤทธิ์กัดกร่อน” โดย นพ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ พบว่าจำนวนผู้กลืนกินผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีแนวโน้มสูงขึ้นโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร  ในจำนวนผู้ที่กลืนกินผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์กัดกร่อน 40 คน มีเสียชีวิต 9 คน อีก 31 คนจะพิการ เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทำให้เยื่อบุทางเดินอาหารตั้งแต่ปากลงไปถึงกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กเกิดการอักเสบไปถึงเน่าตายและเกิดการแตกทะลุของทางเดินอาหาร ถ้าไม่เสียชีวิตการรักษาจะต้องใช้เวลานานค่าใช้จ่ายสูง หลายชนิดมีจำหน่ายในท้องตลาดมักมีความเข้มข้นสูง และขาดฉลากเตือนอันตรายหรือข้อควรระวัง สารกัดกร่อนที่เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านเรือน มักมีการกล่าวถึงมาตรการในการป้องกันไว้น้อยมาก  ต่างจากผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในภาคเกษตรกรรม ผู้ป่วยที่กินสารพิษโดยไม่ตั้งใจส่วนใหญ่เกิดจากการกินสารพิษที่ถูกแบ่งบรรจุไว้ในภาชนะต่างๆ ที่ไม่ใช่บรรจุภัณฑ์ดั้งเดิม และที่สำคัญคือภาชนะที่ใช้แบ่งบรรจุสารพิษจะเป็นภาชนะที่มีไว้สำหรับบรรจุน้ำดื่ม หรือเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ ข้อเสนอแนะจากรายงานคือ แนวทางการป้องกันที่มากกว่าการขึ้นทะเบียน การติดฉลาก การแสดงสัญลักษณ์ความเป็นพิษ เพราะต้องครอบคลุมไปถึงการควบคุมความเข้มข้นและบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมด้วย
          
            เหตุการณ์ที่เกริ่นนำเบื้องต้นเป็นอุทาหรณ์สอนใจได้เลยว่าสารกัดกร่อนต้องมีการควบคุมให้มีการระมัดระวังการใช้ ประการแรก การใช้สารกัดกร่อนต้องจำกัดความเข้มข้นไม่เหมาะกับการใช้ของเด็กนักเรียน ขวดบรรจุต้องมีลักษณะแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากขวดบรรจุเครื่องดื่ม สำหรับการป้องกันทั่ว ๆ ไปในบ้านเรือนที่เราท่านควรใส่ใจ คือ การเก็บผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้มิดชิดในที่ที่เด็กไม่สามารถหยิบได้ ลองกลับไปดูในบ้านของท่านโดยเฉพาะในห้องน้ำมีขวดน้ำยาล้างห้องน้ำวางอยู่ที่พื้นหรือเปล่า มันคือกรดที่มีฤทธิ์กัดกร่อนควรเก็บให้พ้นมือเด็กเสีย เท่านี้ก็ปลอดภัยไปหนึ่งขั้นแล้ว

 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น