สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เรียนรู้จากข่าว

แคดเมียม... ไม่ใช่แค่ที่แม่ตาว

ผู้เขียน: วลัยพร มุขสุวรรณ
หน่วยงาน: หน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย
วันที่: 6 พ.ค. 2549

            เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีการปนเปื้อนของแคดเมียมในสภาพแวดล้อมในระดับที่น่าห่วงใยและต้องการการแก้ไขและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ วันนี้ผู้เดือดร้อนยังคงรวมตัวกันเรียกร้องการเยียวยาดังปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เมื่อปี พ.ศ. 2547 เคยมีการตรวจสอบดินในนาข้าวพบว่ามีแคดเมียมอยู่ในช่วง 3.4 - 284 มิลลิกรัมแคดเมียม/กิโลกรัมของดิน ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานของยุโรปที่กำหนดไว้ คือ 3 มิลลิกรัมแคดเมียม/กิโลกรัมของดิน ส่งผลถึงพืชผลทางการเกษตรซึ่งพบว่า มีแคดเมียมในเมล็ดข้าวถึง 0.1 - 44 มิลลิกรัมแคดเมียม/กิโลกรัมของข้าว สูงกว่าค่ามาตรฐานของไทยที่กำหนดไว้ที่ 0.043 มิลลิกรัมแคดเมียม/กิโลกรัมของข้าว รวมถึงกระเทียม ซึ่งสูงเกินมาตรฐานถึง 126 เท่า และในถั่วเหลืองเกินมาตรฐาน 16 เท่า

            หากผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ที่แม่ตาวคิดว่าตัวเองรอดพ้นจากแคดเมียมแล้ว คงต้องคิดใหม่ เพราะหลายอย่างในชีวิตประจำวันใช่ว่าจะปลอดจากแคดเมียม เนื่องจากแคดเมียมถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางทั้งทางอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ผลิตภัณฑ์หลายชนิดถึงกับมีมาตรฐานกำหนดความเข้มข้นของแคดเมียมที่ยอมให้มีได้ เช่น ยาสำเร็จรูปที่เป็นสูตรยาแผนโบราณให้มีปริมาณแคดเมียมได้ไม่เกิน 0.3 ส่วนในล้านส่วน ในน้ำดื่มอนุญาตให้มีได้ไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนที่สร้างผลกระทบมากๆ คือการปนเปื้อนของแคดเมียมในอาหารทะเลซึ่งเป็นสินค้าส่งออกของไทยที่สำคัญรายการหนึ่ง มาตรฐานปริมาณแดคเมียมระหว่างประเทศยังไม่ถึงกับกำหนดไว้แน่นอน แต่มีการเสนอค่าไว้เป็นแนวพิจารณาคือ สำหรับสัตว์น้ำมีเปลือก เช่น กุ้ง ยกเว้นล็อบเตอร์และเนื้อปูที่มีสีแดง (ส่วนก้ามปู) 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม. กลุ่มมอลลัสค์ส เช่น หอยและหมึก 1.0 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ส่วนมาตรฐานที่ประเทศไทยกำหนดไว้พวกมอลลัสค์สคือ 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ผลิตภัณฑ์กุ้ง 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

            จากข้อมูลการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์หมึกส่งออกประจำปี 2546 ของกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานคุณภาพสัตว์น้ำและ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ กรมประมง พบว่า ค่าเฉลี่ยแคดเมียมที่ตรวจพบในหมึกกล้วย หมึกกระดอง และหมึกสาย คือ 0.28 0.32 และ 0.47 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ และจากข้อมูลการศึกษาการปนเปื้อนของแคดเมียมในหมึกระหว่างปี พ.ศ. 2535 - 2543 ของภาควิชาเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบว่า ค่าเฉลี่ยแคดเมียมที่ตรวจพบ คือ 0.89 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ส่วนอาหารทั่วไปมีแคดเมียมน้อยกว่า 0.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไตของสัตว์บก เช่น วัว ควาย ไก่ หมู มีการปนเปื้อนแคดเมียมสูงประมาณ 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

            นอกจากอาหารแล้ว สำหรับผู้ที่ยังสูบบุหรี่มีข้อมูลว่า บุหรี่ 1 มวนมีแคดเมียม 1 – 2 ไมโครกรัม และ 10% ของแคดเมียมจะถูกหายใจเข้าไปเวลาสูบ

            อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลก/องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (1989) ได้กำหนดปริมาณแคดเมียมสูงสุดที่ร่างกายรับได้ไว้ที่ 7ไมโครกรัม/กิโลกรัม/คน (สำหรับคนที่มีน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม) เราคงต้องเอาใจใส่เรื่องอาหารการกินรวมถึงการใช้ชีวิตด้านอื่นด้วย เพื่อสุขภาพที่ดีของเรา

ที่มาของข้อมูล :

http://www.dmr.go.th/news/17_01_47_2.html
http://www.fisheries.go.th/industry/news/art2Cadmium.htm
http://www.fisheries.go.th/rgm-samutsa/standard.htm
http://www.fisheries.go.th/quality/detail_knowledge/food_contaminant.htm
http://www.pcd.go.th

 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

คนแม่ตาวรับกรรมไปก่อนนะเนื่องจากผู้ที่แก้ปัญหาไม่ได้สนใจพวกเราหลอก  เขามัวแต่นั่งอยู่ในห้องแอร์แก้ปัญหา  ให้ปลูกอ้อยเอาเจ้าอ้วนบ้านอยู่นครสวรรค์เมียอยู่กำแพงเพชรคนของมิตรผล เจ้าอ้วนบอกว่าพื้นที่แม่ตาวแม่กุ พระธาตุผาแดงไม่เหมาะสำหรับปลูกอ้วย  แลวจะทำอย่างไร  เจ้าหน้าที่เกษตรแม่สอดทุกท่านไปสอบถามเจ้าอ้วนให้แน่นอนก่อนค่อยมาอ้าปากคุยกับชาวบ้าน  ขอวอนให้คณะกรรมการระดับจังหวัดหางบประมาณมาพิสูจน์ดินและน้ำก่อนแล้วค่อยคิดอย่างอื่น  ขึนปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้อีกปีคนแม่ตาวที่รับกรรม  กรรมนั้นจะสนอง

โดย:  คนแม่ตาวที่รับกรรม  [28 ต.ค. 2549 22:12]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

ตอนนี้ใครหน่วยงานอิสระ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทับซ้อนเข้าไปช่วยเหลือหรือไม่ถ้าเป็นหน่วยงานที่มีผลประโยชน์กับบริษัทไปตรวจสอบคงได้ผลตรวจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

โดย:  คนแม่สอดแต่ไปอยู่ที่อื่น  [27 มี.ค. 2552 16:29]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 3:4

สงสารตัวเองและเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกันทีไม่ส ารมารถแก้ปัญหาให้กับสิ่งที่เกิดขึ้นได้นอกจากต้องภาวนาให้สิ่งศักดิ์ดลใจให้ผู้สร้างปัญหาและผู้มีอำนาจใจการแก้ปัญหาได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ให้ความเป็นธรรมกับผู้เดือดร้อน ไม่ใช่ให้ชาวบ้านถอนชื่อ

โดย:  คนแม่สอดที่ได้รับความเดือดร้อน  [6 ส.ค. 2552 17:50]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 4:5

ตั้งแต่เกิดปัญหาการปนเปื้อนของสารแคดเมี่ยมทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยลำห้วยแม่ตาวเป็นอย่างมากไม่ว่าจะด้านการประกอบอาชีพ ความเป็นอยู่เคยปลูกข้าวปลูกผักได้ก็ต้องเปลี่ยนอาชีพใหม่ชาตินี้คิดว่าจะไม่ต้องซื้อข้าวกินก็ต้องหาซื้อข้าวกิน ผักก็ปลูกกินได้เฉพาะบางพื้นที่ ปลูกอ้อยคิดว่าจะพอมีรายได้เลี้ยงครอบครัวก็ถูกกดราคา ตอนนี้ชาวบ้านเป็นหนี้ครัวเรือนกันมากขึ้น ไม่ใช่ขี้เกียจนะแต่ทุกคนที่ปลูกอ้อยปี 52 มักขาดทุนกันทุกคน ตอนนี้ชาวแม่ตาวจนกันถ้วนหน้าครับพี่น้อง

โดย:  คนแม่ตาว  [17 ส.ค. 2552 17:24]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น