สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เรียนรู้จากข่าว

โครงการนำร่องเรียกคืนซากหลอดฟลูออเรสเซนต์

ผู้เขียน: วลัยพร มุขสุวรรณ
หน่วยงาน: หน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย
วันที่: 2 ต.ค. 2549


           กรมควบคุมมลพิษร่วมกับบริษัทผลิตหลอดไฟรายใหญ่ 2 แห่งดำเนินโครงการเรียกคืนซากหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ จากอาคารและสถานประกอบการขนาดใหญ่ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีการใช้หลอดไฟจำนวนมาก เพื่อนำมารีไซเคิลเป็นหลอดไฟใหม่ โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องกำจัดซากหลอดฟลูออเรสเซนต์อย่างถูกวิธีไม่น้อยกว่า 80 ตัน ภายในปี พ.ศ. 2550

           ทั้งนี้ การที่ต้องจัดการซากหลอดฟลูออเรสเซนต์อย่างถูกต้องก็เนื่องมาจากหลอดฟลูออเรสเซนต์มีการใช้ไอสารปรอทในกระบวนการทำให้เกิดแสงสว่าง ไอปรอทที่บรรจุอยู่ในหลอดจะลดปริมาณลงเรื่อย ๆ ตามอายุใช้งานของหลอด โดยจะซึมไปในเนื้อหลอดแก้ว หรือตามขั้วหลอด เป็นต้น ในอดีตการผลิตจะบรรจุไอปรอทอย่างมากเกินพอ เพื่อไม่ให้มีปัญหาไอปรอทหมด แต่ในระยะหลังที่มีความตระหนักด้านสุขภาพอนามัยมากขึ้นจึงมีการลดปริมาณไอปรอทลง ปริมาณไอปรอทที่บรรจุในหลอดฟลูออเรสเซนต์ในหลอดชนิดต่าง ๆ ที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกามีดังนี้ สำหรับช่วงก่อนปี ค.ศ.1988 หลอดขนาด  4 ฟุต  T 12 มีปรอทประมาณ 45 มิลลิกรัมต่อหลอด ในช่วงหลังปี ค.ศ. 1988 ลดเหลือประมาณ 11.6 มิลลิกรัมต่อหลอด  ส่วนหลอดประหยัดพลังงาน มีปรอทเฉลี่ย 4-5 มิลลิกรัมต่อหลอด  ส่วนในประเทศไทยมีข้อกำหนดคุณสมบัติผลิตภัณฑ์ที่จะได้รับฉลากเขียว กรณีหลอดฟลูออเรสเซนต์ต้องมีปริมาณปรอทไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อหลอด

           ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่าในแต่ละปีมีหลอดไฟหมดอายุประมาณ 41 ล้านหลอดที่ถูกทิ้งหรือกำจัดไม่ถูกวิธี โดยในจำนวนนี้เป็นหลอดฟูลออเรสเซนต์ 32 ล้านหลอด เมื่อเทียบกับปริมาณปรอทที่บรรจุได้ตามมารฐานฉลากเขียวจะพบว่ามีปรอทปนเปื้อนอยู่กับหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่ทิ้งประมาณปีละ 320 กิโลกรัม ซึ่งจะปนเปื้อนเข้าสู่สิ่งแวดล้อมในที่สุด เนื่องจากทิ้งรวมไปกับขยะทั่วไป  เมื่อปรอทเข้าสู่สิ่งแวดล้อมจะถูกเปลี่ยนเป็นเมทิลเมอร์คิวรีซึ่งเป็นปรอทในรูปสารอินทรีย์ ที่มีพิษร้ายแรง สะสมได้ในสิ่งมีชีวิต จะยิ่งอันตรายมากเมื่อเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ปรอทอินทรีย์ชนิดนี้คือสาเหตุของโรคมินามาตะที่ปรากฎในประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อ 50 ปีที่แล้ว

ที่มาของข้อมูล :
 
http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9490000122544
http://www.epa.gov/mercury/effects.htm
http://lightingdesignlab.com/articles/mercury_in_fl/mercurycfl.htm
http://www.tei.or.th/greenlabel/TGL_02_R2_02.htm

 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

อยากทราบว่า การทิ้งหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ตามบ้านเรือนที่พักอาศัย ควรจะทิ้งอย่างไรให้ถูกวิธีเพื่อไม่ให้เป็นขยะปนเปื้อน

โดย:  วาสิฏฐี  [9 ต.ค. 2549 09:37]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

สำหรับประชาชนทั่วไป กรมควบคุมมลพิษบอกว่าให้แยกหลอดไฟออกจากขยะทั่วไป และหากมีปริมาณมากก็ให้แจ้งมาที่ กรมฯ เพื่อจัดเก็บรวบรวมมาให้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนของเสียอันตราย สำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ โทร. 0 2298 2436-8

โดย:  วลัยพร  [10 ต.ค. 2549 18:02]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 3:3

อยากเห็นบ้านเรามีมาตรการเรื่องการกำจัดของเสียที่เป็นอันตรายเช่น  ถ่านไฟฉาย  แบตมือถือ ที่กำลังเป็นมรดกอันตรายให้ลูกหลานไว้ดูต่างหน้า   เวลาใช้ก็สนุกมือ  แต่เวลากำจัดนะซิ....

โดย:  พี่ส้ม  [30 ต.ค. 2549 17:06]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 4:4

ถ้าเราจะเริ่มทิ้งเราต้องดำเนินการอย่างไรตอนนี้ เพราะไม่เห็นมีการสื่อสารให้เห็นเลย ประชาชนก็ยังทิ้งรวมกับขยะทั่วไปเหมือนเดิม เพราะไม่มีที่รองรับขยะประเภทดังกล่าว ถ้าจะทำอะไร น่าจะมีการทำจริงจังไปเลย เพราะเรื่องแยกขยะเห็นทำแต่ไม่ประสบผลสำเร็จสักที ควรปลูกจิตสำนึกให้เด็กตั้งแต่ในโรงเรียน จึงจะประสบผลสำเร็จ และต้องมีที่รองรับที่ทิ้งง่ายด้วย

โดย:  จนท.สิ่งแวดล้อม  [15 พ.ย. 2549 17:26]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 5:5

ภาระการกำจัดวัตถุมีพิษ โดยเฉพาะวัตถุที่มีโลหะหนักเป็นส่วนผสมหรือส่วนประกอบนั้น ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจัดการ เช่นจะต้องพิมพ์ข้อความเตือนผู้บริโภคว่าส่วนประกอบใดที่มีอันตราย และอันตรายอย่างใด รวมทั้งการกำจัดวัตถุเหล่านี้หลังการใช้ควรปฏิบัติอย่างไร
ดิฉันไม่ทราบว่าในปัจจุบันนี้กฏหมายของเราได้กำหนดให้มีการจัดเก็บค่ากำจัดขยะที่เกิดจากวัตถุมีพิษ หรือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ในบ้านเราหรือยัง ด้วยเห็นว่าผู้ผลิตและผู้จำหน่ายควรได้มีส่วนในการปันผลกำไรจากสินค้าเหล่านั้น เพื่อมาใช้เป็นส่วนรับผิดชอบในการกำจัดด้วย นอกเหนือจากภาษีที่มีการจัดเก็บตามปกติ

โดย:  เพื่อนแก้ว  [21 พ.ย. 2549 16:10]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 6:6

แล้วตกลงแบตมือถือให้ทิ้งที่ไหน ยังงัย คะ ดิฉันติดตามตลอดแต่ยังไม่เห็นมีใครมาให้ความรู้เลย

โดย:  อ้อม  [7 ธ.ค. 2549 07:53]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 7:7

แบตมือถือเป็นขยะชุมชนประเภทขยะอันตราย ต้องแยกทิ้งต่างหาก เท่าที่ทราบ กทม. กับเทศบาลหลายแห่ง ก็มีโครงการรณรงค์แยกขยะนะคะ แต่การปฏิบัติจริงได้ผลอย่างไรไม่ค่อยแน่ใจค่ะ การจัดการที่น่าทำในฐานะผู้บริโภค เราน่าจะส่งกลับไปให้คนขายหรือคนผลิต เพื่อแสดงเจตนาเรียกร้องให้เข้ามาช่วยรับผิดชอบด้วยนะ

โดย:  วลัยพร  [2 ม.ค. 2550 11:40]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 8:8

คุณทั้งหลายครับ
หลอดฟลูออเรสเซนต์น่ะ มันมีที่ทิ้งครับ
คืออย่างนี้  ก่อนที่ผมจะเรียนจบ (ผมเรียน IE ) ผมทำโปรเจค เรื่อง
การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์รวบรวมหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่หมดอายุการใช้งาน
 แต่ผลที่ออกมาคือ ผมเกือบจะเรียนไม่จบเอา
เพราะอะไรน่ะเหรอ  เพราะเป็นโครงการที่ทำไปแล้วไม่ได้ประโยชน์ อาจารย์ที่มา
สอบโปรเจคผม เค้าว่าอย่างนี้
 ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าไม่มีประโยชน์ตรงไหน  อีกอย่างเค้าบอกว่าไม่เกี่ยวกับ IE  ไม่เกี่ยวกับวิชาทางด้านอุตสาหกรรม -*-
 ยิ่งนึกถึงผมก็ยิ่งไม่เข้าใจ
ที่เล่ามา แค่อยากให้ทุกท่านรู้ว่า
มีคนคิดที่จะทำ  แต่ขาดคนที่จะสนับสนุน  ทุกอย่างมันก็ไม่มีทางสำเร็จหรอกครับ
ตอนนั้นผมเป็นนักศึกษาไฟแรงเลย  พอคิดที่จะทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง มาเจอแบบนี้
แล้วจะกล้าทำต่อได้ไง  ทุกท่านว่าจริงไหมครับ
สวัสดี...มอส...

โดย:  มอส  [9 ต.ค. 2550 11:44]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 9:9

เมื่อเราสะลมซากหลอดไฟฟูลออเรสเซนต์มากแล้ว จะมีที่ไหน หรือสถานประการณ์ไหน รองรับ

โดย:  เจ้าปัญหา  [18 มิ.ย. 2552 16:37]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 10:10

มีขยะพิษมากเช่นหลอดไม่รู้จะทิ้งที่ไหน  ช่วยบอกที


โดย:  เจ้าปัญหา  [18 มิ.ย. 2552 16:39]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 11:11

ต้องการให้ทุกคนใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด

โดย:  มิก  [14 ก.ย. 2552 09:45]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 12:12

เมื่อไรจะมีโครงการเรียกเก็บหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์เก่าคืนอีกล่ะครับ

โดย:  เอนก  [29 ก.ย. 2552 15:22]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 13:13

ทำไมโครงการเรียกคืนซากหลอดฟลูออเรสเซ็นต์ ถึงถูกยกเลิกครับ
แล้วเมื่อไรจะมีโครงการอีกครับ

โดย:  ธนวิชญ์  [12 ต.ค. 2552 16:03]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 14:14

หน่วยงานของรัฐและท้องถิ่น  ยังไม่ตระหนักถึงอันตรายของสารปรอท  ปัญหาเหล่านี้ยังขาดการเอาจริงเอาจังในการแก้ไขและการจัดการกับหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์  ชาวบ้านไม่รู้จะเอาไปทิ้งที่ไหนก็เอาไปทิ้งในลำน้ำ ลำเหมืองที่ใช้ในการเกษตรเยอะมากๆ

โดย:  มนูญ  [19 ก.ย. 2554 09:24]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 15:18

อยากทราบว่าหลอดไฟจำนวนมากจะนำไปทิ้งที่ไหน คะ ของโรงพยาบาลนะ

โดย:  วิมลรัตน์ ฉัตรศรีวงศ์  [12 พ.ค. 2555 21:04]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 16:19

อยากทราบขั้นตอนการกำจัดหลดดไฟ

โดย:  สมชาย  [14 มิ.ย. 2555 14:10]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 17:23

ขณะนี้ บริษัท ไทยโตชิบ้าไลท์ติ้ง จำกัด ได้ดำเนินโครงการกรีนแลมป์ ”เก็บ แยก คืน ฟื้นชีวิต”  โดยบริการเก็บหลอดไฟที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพการใช้งานจากลูกค้า เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี โดยโตชิบ้าได้จัดบริการนี้แก่กลุ่มลูกค้า บริษัท สำนักโครงการ และโรงงานต่างๆ หากหน่วยงานใดมีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ หรือต้องการข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ บริษัท ไทยโตชิบ้า ไลท์ติ้ง จำกัด โทรศัพท์ 0-2501-1425-9 ต่อ 155 , 160 ฟรี..ไม่คิดค่าใช้จ่ายในการกำจัดซากหลอด

โดย:  ไทยโตชิบ้าไลท์ติ้ง จำกัด  [23 ส.ค. 2555 10:15]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 18:24

ปัจจุบัน โตชิบ้า ไลท์ติ้ง ยังรับกำจัดหลอดฟลูออเรสเซนต์อยู่ไหมครับ

โดย:  วรชาติ  [20 ก.ค. 2562 18:27]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น