สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เรียนรู้จากข่าว

อิริเดียมรั่วไหลที่สนามบินสุวรรณภูมิ

ผู้เขียน: รศ. สุชาตา ชินะจิตร
หน่วยงาน: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 26 ธ.ค. 2552

            เรียนรู้จากข่าวเหตุการณ์ของสารกัมมันตรังสี อิริเดียม (Iridium, Ir)  จะเป็นอีกมุมหนึ่งของประเด็นข่าวที่อยากจะชวนคิดเพื่อเรียนรู้ มุมหนึ่งเป็นความรู้เกี่ยวกับสารกัมมันตรังสีซึ่งนานๆ จะเกิดขึ้น ครั้งล่าสุดคือเรื่อง โคบอลต์ 60 ถ้ายังจำกันได้ อีกมุมหนึ่งคือการเสนอข่าวตามรายงานข่าวในสื่อต่างๆ จะเห็นหรือได้ยินว่า สารเคมีรั่วที่สนามบินสุวรรณภูมิ  เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2552 ภายในคลังโหลดสินค้า คาร์โกของบริษัทแบงค์คอกไฟล์เซอร์วิส ได้มีการประสานฝ่ายดับเพลิงภายในท่าอากาศยานกั้นพื้นที่และติดต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เข้ามาตรวจสภาพของกล่องกระดาษบรรจุถังเหล็กซึ่งบรรจุ Iridium ฉีกขาดชำรุด

            ก่อนอื่นมารู้จักสารที่ชื่อ อิริเดียม (Iridium) สัญลักษณ์ Ir เป็นโลหะ วาว แข็งแต่เปราะ ซึ่งชื่อของมันมาจากภาษาละตินแปลว่า รุ้ง เนื่องจากมีความมันวาว สดใสเหมือนรุ้ง พบในธรรมชาติอยู่ในสินแร่พลาตินัม และเป็นผลพลอยได้จากเหมืองนิกเกิล Ir มีหลาย Isotope ซึ่งหมายถึง รูปแบบของธาตุชนิดเดียวกันที่มีจำนวนโปรตอนเท่ากันแต่มีจำนวนนิวตรอนในนิวเคลียสต่างกัน Ir192 เป็น Isotope หนึ่งที่ได้จากการยิงโลหะ Ir ด้วยนิวตรอน ทำให้มันเป็น Isotope กัมมันตภาพรังสี ขณะสลายจะปลดปล่อยรังสีแกมม่าออกมา รังสีก็เป็นพลังงานรูปหนึ่ง มีอันตรายถ้าไม่ควบคุม ถ้าพูดรวมๆ  แสง คลื่นส่งวิทยุ รังสีคอสมิก เป็นรังสีทั้งนั้น แต่เรากำลังมุ่งสนใจสิ่งที่อาจนำมาใช้ประโยชน์หรือโทษต่อมนุษย์ได้ รังสีแกมม่ามีอำนาจทะลุทะลวงสูง ส่งผ่านไปได้ในอากาศเป็นระยะทางไกล ทะลุของแข็งบางอย่างได้ เช่น กระดาษ แผ่นพลาสติก โลหะขนาดหนาหรือกำแพงคอนกรีตจะสามารถหยุดการทะลุทะลวงได้ การบรรจุเพื่อการขนส่งหรือใช้ต้องอยู่ในถังเหล็กป้องกันการแผ่รังสี ผลที่รังสีมีต่อระบบชีวภาพขึ้นอยู่กับชนิดของรังสีและปริมาณที่ได้รับ ถ้าได้รับน้อย ร่างกายอาจสร้างเซลใหม่ขึ้นมาทดแทนเซลที่ถูกทำลายได้ แต่ถ้ามากก็เป็นอันตราย ในกรณีไฟไหม้ แม้ว่าสารจะถูกเผา ความเป็นกัมมันภาพรังสีก็ยังคงอยู่ ไม่ถูกทำลายไปด้วย ผู้ที่ใช้สารประเภทนี้ต้องมีเครื่องวัดปริมาณรังสีติดอยู่กับตัว (dosimeter) เพื่อตรวจสอบว่าไม่ได้รับรังสีเกินขนาดที่จะเป็นอันตราย ที่ใดมีการใช้หรือเกี่ยวข้องกับสารกัมมันตรังสีต้องมีวิธีเฉพาะ มีสัญลักษณ์เตือน (รูปที่ 1) และมีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ ประโยชน์ที่นำสารกัมมันตรังสี Ir192 มาใช้ ได้แก่ การตรวจสอบรอยรั่วหรือตำหนิในกระป๋องหรือในถังโลหะ หรือรอยเชื่อม ทางการแพทย์ใช้รักษามะเร็งบางชนิด  


รูปที่ 1 สัญลักษณ์แจ้งประเภทของสารกัมมันตรังสี 

            ในการนำเสนอข่าวจึงมีข้อสงสัยว่า สารรั่ว หรือ กัมมันตรังสีรั่ว ความหมายเหมือนหรือต่างกัน เนื่องจาก Iridium เป็นแท่งของแข็ง คงจะไม่รั่วหกออกมา แต่ถ้าภาชนะบรรจุ คือ ถังโลหะเสียหาย รังสีอาจจะแพร่ออกมาได้ การที่พนักงานยกของรู้ได้ว่ากล่องนี้อันตรายน่าจะเพราะรู้จักสัญลักษณ์เตือนกัมมันตรังสีที่อยู่บนกล่อง และอาจมีอุปกรณ์วัดขนาดรังสีเพื่อเตือนภัยด้วย เมื่อเห็นสภาพกล่องกระดาษนี้ฉีกขาด จึงแจ้งเหตุ รถดับเพลิงก็คงช่วยอะไรไม่ได้ นอกจากพนักงานผจญเพลิงจะรู้วิธีเฉพาะที่จะจัดการภัยสารกัมมันตรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เป็นหน่วยงานที่มีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์พิเศษจึงเป็นความจำเป็นที่ต้องแจ้ง ปส. เข้ามา

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Iridium-192 (Ir-192)
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

ถ้ารับมากมันจาทำให้เราตายได้หรือปล่าวค่ะ....

โดย:  นันยาง....ปอๆๆๆๆ  [15 ม.ค. 2553 11:43]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

ให้ความรู้ดีจังคะ


โดย:  Minnie  [15 ก.พ. 2553 23:09]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น