สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เรียนรู้จากข่าว

ซอยอิงค์ (Soy Ink) หมึกรักษ์โลก

ผู้เขียน: รศ. สุชาตา ชินะจิตร
หน่วยงาน: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 8 ม.ค. 2553

            เรื่องราวที่นำมาเขียนเป็นอุทาหรณ์ใน เรียนรู้จากข่าว (www.chemtrack.org) ส่วนใหญ่เป็นเรื่องพิษภัยที่เกิดขึ้น ครั้งนี้มีเรื่องดีๆ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยของสารเคมีได้ มติชนฉบับวันที่ 8 มกราคม 2553 คอลัมน์ประชาชื่น ให้ความรู้เรื่อง ซอยอิงค์ (Soy Ink) หมึกรักษ์โลก ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากน้ำมันถั่วเหลืองเข้ามาใช้แทนสารเคมีที่อันตราย เพื่อมุ่งสู่การเป็นกรีนพริ้นติ้ง หรือ โรงพิมพ์สีเขียว เราจะได้มาทำความรู้จักกับสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ทั่วๆ ไป ว่าสำคัญอย่างไรและสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างไร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น

            ในกระบวนการผลิตสิ่งพิมพ์มีการใช้สารเคมีหลายชนิด หลักๆ คือ ตัวทำละลาย (solvent) และตัวหมึกพิมพ์ และมีสารที่ใช้ในการทำความสะอาดชิ้นอุปกรณ์ด้วย ตัวทำละลายนั้นทำหน้าที่ผสมรวมให้ทุกอย่างเป็นเนื้อเดียวกันเพื่อการใช้พิมพ์ ที่ใช้กันมากๆ คือสารที่ได้มาจากปิโตรเลียมมีทั้งกลุ่มสายโซ่โมเลกุลสั้น (aliphatic) และกลุ่มอะโรมาติก (aromatic) เช่น เบนซีน โทลูอีน ซึ่งเป็นสารระเหยง่าย (VOC, Volatile Organic Compound) ไวไฟ และมักเป็นสารก่อมะเร็ง ตัวหมึกพิมพ์ก็เป็นสารเคมีที่จะละลายได้ดีในตัวทำละลายที่ใช้มักเป็นสารพวกโลหะหนักซึ่งเป็นพิษหากเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนั้นยังต้องเติมเรซิน และสารเคมีที่ใช้ในการยึดเกาะติดอีกด้วย ส่วนซอยอิงค์ ที่คิดค้นขึ้นมาใช้นั้นได้ค่อยๆ เปลี่ยนตัวทำละลายจากสารปิโตรเลียมเป็นน้ำมันถั่วเหลือง ซึ่งเป็นน้ำมันพืชไม่มี VOC ผงหมึกก็หันมาใช้ผงสีชนิดเดียวกับที่ใช้ในสบู่ หรือ แชมพู ที่ปลอดภัย เรซินทดแทนด้วยโรซิน ซึ่งเป็นยางธรรมชาติที่มาจากไม้สน ส่วนสารยึดเกาะ และสารทำความสะอาดนั้น สามารถลดปริมาณการใช้ให้น้อยที่สุด เมื่อหนังสือพิมพ์มติชนใช้หมึกน้ำมันถั่วเหลือง ที่วิจัยและพัฒนาขึ้นมาใช้ได้เองแล้วปัญหาสุขภาพของคนงานจาก VOC และหมึกพิมพ์ก็ลดลง ผู้หยิบจับจะสังเกตได้ว่าจะไม่ได้กลิ่นแรงๆ ของสารเคมีและมือไม่เปื้อนหมึก โดยที่ยังคงคุณภาพงานพิมพ์ที่ให้สีสันสดใสได้อยู่ แถมยังนำไป recycle และ reuse ได้ง่ายกว่าด้วย

            ใครที่ชอบกินกล้วยแขกใส่ถุงกระดาษหนังสือพิมพ์ ถ้าเป็นกระดาษที่ใช้หมึกซอยอิงค์ ก็มั่นใจได้ว่าจะไม่เปื้อนสารเคมี เรื่องราวดีๆ ก็เป็นข่าวให้เราได้เรียนรู้ได้เหมือนกัน

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Benzene
Toluene
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

เป็นเทคโนโลยีที่ดีมากๆครับ ช่วยต่ออายุให้ยาวนานถึง 100 ปี

โดย:  วิโรจน์ สุวรรณราช  [23 ธ.ค. 2553 08:08]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:5

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับกับหมึกฐานน้ำมันถั่วเหลืองSoy Based แต่อยากเพิ่มเติมเรื่อง OPV. (Overprint Varnish)ฐานน้ำและ Water Based Ink จะต่อยอดเรื่องลดมลพิษและลดความเป็นพิษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้อย่างมากมายมหาศาลเพราะหมึกฐานน้ำแทบไม่มีพิษและย่อยสลายได้ง่ายดายมากครับ

โดย:  นายพงษ์สวัสดิ์ รัตนวิเชียร  [22 ก.ค. 2555 01:45]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 3:214

กระดาษหนังสือพิมพ์ ก็ไม่ใช่ Food grade แล้วครับ จะเอาไปห่อกล้วยแขกได้หรอครับ แล้วน้ำมันจากกล้วยแขก ไปทำละลายสารเคมีในหมึกในกระดาษออกมาปนเปื้อน กินได้จริงๆหรอครับ ผู้เขียนเคยลองกินหมึกถัวเหลืองเข้าไปหรือยังครับ?

โดย:  อนันต์ เขมพาณิชย์กุล  [21 เม.ย. 2564 09:12]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น