สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย

ถ้าเราเปลี่ยน โลกของเราก็เปลี่ยน

ผู้เขียน: วลัยพร มุขสุวรรณ
หน่วยงาน: หน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย
วันที่: 26 ส.ค. 2551

ใคร ๆ ก็ชอบของถูก

            เวลาที่เราจะซื้ออะไรสักอย่าง เชื่อแน่ว่าหลายคนคงจะใช้เวลาไปกับการค้นหาของให้ได้ถูกใจมากที่สุด และแน่นอนต้องถูกเงินมากที่สุดด้วยเช่นกัน เวลาเห็นสินค้าที่มีราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ เราเคยมีคำถามบ้างหรือไม่ว่า ทำไมถึงได้ถูกอย่างนี้ ?  ตัวอย่าง เช่น โทรศัพท์ที่แสดงในรูปด้านล่าง ขายกันที่ราคา 1,100 บาทเท่านั้น นั่นหมายความว่าการผลิตและทำตลาดโทรศัพท์เครื่องนี้มีค่าใช้จ่ายเพียงหนึ่งพันกว่าบาท เป็นไปได้หรือ ? 



เราลองมาดูว่าในการผลิตโทรศัพท์เครื่องหนึ่งมีต้นทุนมาจากอะไรบ้าง

            ต้นทุนแรก แน่นอนว่าต้องเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องวัตถุดิบต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของโทรศัพท์ ได้แก่ โลหะ พลาสติก เซรามิก แก้ว โลหะหายาก เช่น ทองแดง (copper) ทอง (gold) ตะกั่ว (lead) นิกเกิล (nickel) สังกะสี (zinc) เบริลเลียม (beryllium) แทนทาลัม (tantalum) โคลตัน (coltan) และอื่น ๆ ข้อมูลจากองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. EPA) ระบุไว้ว่า โทรศัพท์เครื่องหนึ่ง ๆ ประกอบด้วย โลหะ ร้อยละ 40 พลาสติก ร้อยละ 40 เซรามิกและโลหะหายาก ร้อยละ 20

            ต้นทุนถัดมาเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นจากขั้นตอนการผลิต ส่วนประกอบหลัก ๆ คือแผงวงจรพิมพ์ (printed circuit board) ซึ่งเปรียบเสมือนสมองของโทรศัพท์มือถือที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานทั้งหมดของโทรศัพท์ แผงวงจรนี้ทำมาจากพลาสติกและไฟเบอร์กลาส เคลือบด้วยทอง และต่อเชื่อมกับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก ส่วนประกอบต่อมาคือ หน้าจอแอลซีดี (LCD) ซึ่งผลิตโดยใส่ผลึกของเหลวลงไประหว่างแผ่นกระจกหรือพลาสติก ถัดมาเป็นแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานของโทรศัพท์มือถือ  แบตเตอรี่ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่เรียกว่าอิเล็กโทรด และส่วนที่เป็นของเหลวที่เรียกว่า สารละลายอิเล็กโทรไลท์ ต้นทุนที่ต้องจ่ายในการผลิตและประกอบได้แก่ ค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าแรงงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบำบัดของเสีย และค่าบำรุงรักษา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายในเรื่องบรรจุภัณฑ์ การขนส่ง การออกแบบ การบริหารจัดการด้านการตลาด ฯลฯ

            จากรายการต้นทุนที่ร่ายเรียงมาข้างต้น จะเห็นว่ามีมากมายหลายรายการจนไม่น่าเชื่อว่า 1,100 บาท จะเพียงพอได้อย่างไร เมื่อมองลงไปในรายละเอียด เราจะพบว่าต้นทุนหลายอย่างผู้ผลิตวัตถุดิบโทรศัพท์มือถือไม่ได้จ่ายเอง ตัวอย่างเช่น แทนทาลัม ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่จำเป็นสำหรับผลิตภัณฑ์ไฮเทคทั้งหลาย เนื่องจากมีสมบัติทนทานต่อความร้อนได้ดีมาก แทนทาลัมได้มาจากแร่โคลตันอีกทีหนึ่ง แร่โคลตันนี้พบมากในพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศคองโก ปัญหาคือการทำเหมืองแร่เพื่อสกัดเอาแร่โคลตันออกมาในประเทศคองโก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น เนื่องจากต้องการใช้พื้นที่ที่ชาวพื้นเมืองอยู่อาศัยมาทำเหมืองแร่โคลตัน องค์กร Human Right Watch ประมาณการณ์ว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1999 คนพื้นเมืองอย่างน้อย 10,000 คน ถูกฆ่าตายและประมาณ 200,000 คน อพยพไปอยู่ที่อื่น ต้นทุนค่าแทนทาลัมไม่ได้รวมค่าความเสียหายจากการทำลายล้างที่เกิดขึ้นนี้ ชนพื้นเมืองทางตะวันออกของคองโกคือคนที่แบกรับต้นทุนส่วนนี้แทนผู้ที่ซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องนี้หรือสินค้าไฮเทคอื่น ๆ


การทำเหมืองแร่โคลตันในคองโก (ภาพจาก telegraph.co.uk)

ของถูก พังเร็ว

            บ่อยครั้งที่เราซื้อสินค้าประเภทไฮเทคที่มีราคาถูกมาใช้แล้วพบว่าใช้งานไปเพียงไม่นานก็เสียหาย ไม่สามารถใช้ต่อได้เสียแล้ว ทำให้เราต้องทิ้งของนั้นไปและซื้ออันใหม่มาใช้แทน วงจรชีวิตที่สั้นเช่นนี้ของสินค้าไฮเทคเร่งให้เกิดการใช้วัตถุดิบมากขึ้น และปริมาณซากของเสียก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากโครงการสำรวจปริมาณและชนิดของซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สนับสนุนโดยกรมควบคุมมลพิษ กล่าวไว้ว่าว่ามีของเสียที่เป็นซากอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งประเทศกว่า 4.4 แสนตันต่อปี ปริมาณซากของเสียที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมากกำลังเป็นปัญหาในด้านการจัดการ เนื่องจากซากผลิตภัณฑ์สินค้าไฮเทคเหล่านี้มีส่วนประกอบของสารอันตราย เช่น ตะกั่ว ปรอทและนิกเกิล เป็นต้น จึงทำให้ซากของเสียมีความเป็นอันตรายไปด้วย การจัดการจึงต้องคำนึงในเรื่องความปลอดภัยด้วย

ไม่ใช้แล้วไปไหน

            การจัดการกับซากผลิตภัณฑ์ไฮเทคที่หมดอายุการใช้งานแล้วได้แก่ การซ่อมแซมเพื่อใช้ใหม่ และการรีไซเคิลเอาวัตถุดิบกลับมาเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ ซึ่งอาจผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เดิมหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ การรีไซเคิลช่วยบรรเทาปัญหาบางส่วน เพราะสามารถลดปริมาณซากของเสียได้ระดับหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ ในการรีไซเคิลซากของเสียยังมีความเสี่ยงอันตรายของผู้ที่ทำการรีไซเคิลด้วย ถ้าทำการรีไซเคิลด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม การรีไซเคิลซากของเสียอันตรายจำพวกผลิตภัณฑ์ไฮเทคในประเทศไทยส่วนใหญ่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงต่ออันตรายจากสารอันตราย เนื่องจากการรีไซเคิลในบ้านเราพัฒนามาจากกิจการรับซื้อของเก่า ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องของเงินทุนและเทคโนโลยี การรวบรวมและคัดแยกดำเนินการโดยบุคคลทั่วไปที่มีรายได้น้อยและไม่มีความรู้ความเข้าใจถึงความเสี่ยงอันตรายจากซากของเสียเหล่านี้ การคัดแยกชิ้นส่วนเพื่อนำมาขายจึงไม่ได้คำนึงในเรื่องความปลอดภัย เช่นทำการแยกทองแดงออกจากสายไฟด้วยการเผา หรือการทุบจอโทรทัศน์ทิ้งเพื่อแยกเอาเฉพาะส่วนที่เป็นโลหะ เป็นต้น


การเผาสายไฟเพื่อแยกเอาทองแดง
(ภาพจาก กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม)


เศษจอโทรทัศน์ที่ถูกทุบทิ้ง
(ภาพจาก กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม)

            การรีไซเคิลเป็นคำตอบหนึ่งในการจัดการของเสีย แต่ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะการจัดการซากของเสียอันตรายจำเป็นต้องใช้มาตรการที่หลากหลายเข้ามาใช้ร่วมกัน การจัดการจึงต้องมองข้ามจากการจัดการของเสียไปสู่การจัดการวัสดุ กล่าวคือ ต้องดูการจัดการตลอดทั้งวงจรของวัสดุหรือวัตถุดิบ ตั้งแต่การสกัดแยกจากธรรมชาติ การผลิตเป็นสินค้าใช้สอย และการกำจัดเมื่อไม่ใช้งานแล้ว มาตรการที่นำมาใช้ เช่น การให้ผู้ผลิตสินค้าต้องรับผิดชอบในการกำจัดซากสินค้าของตน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าต้องหันมาให้ความสนใจกับการออกแบบสินค้าที่ง่ายต่อการกำจัดซาก หรือการยึดอายุการใช้งานของสินค้า เป็นต้น

            สำหรับผู้บริโภค เราต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สินค้าให้เป็นไปในทางที่จะช่วยลดการใช้วัสดุทรัพยากรธรรมชาติ เช่นการไม่เปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องใช้บ่อยทั้งที่ยังใช้งานได้อยู่ ใช้ของที่ได้รับการออกแบบให้มีอายุการใช้งานยาวนาน หรือใช้ส่วนประกอบที่ง่ายต่อการรีไซเคิล ไม่มีส่วนผสมของสารพิษ เป็นต้น สุดท้ายขอเชิญชวนทุกคนให้มาร่วมกันรณรงค์โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สินค้าของเรา ซึ่งจะช่วยลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณของเสียอันตราย รวมทั้งลดการเบียดเบียนผู้อื่นที่ต้องตกเป็นผู้รับภาระผลเสียจากการรังสรรค์สิ่งอำนวยความสุขเหล่านี้

แหล่งข้อมูล :

The life-cycle of a cell phone: www.epa.gov/epaoswer/education/pdfs/life-cell.pdf, Aug 15, 2008.
Kristi Essick, 2001. Guns, Money and Cell Phones, The Industry Standard Magazine, Jun 11 2001:
http://www.globalissues.org/article/442/guns-money-and-cell-phones, Aug 15, 2008.
"Congo's Bloody Coltan" VDO clip by Pulitzer Center on Crisis Reporting:

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Beryllium
Copper
Gold
Lead
Nickel
Tantalum
Zinc
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:3

เฮ้อ คนเรา ไม่อยากได้แล้ว โทรศัพท์อันใหม่

โดย:  อุ๊งอิ๊ง  [17 พ.ย. 2551 21:16]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:5

คนสมัยนี้   ก็แบบนี้แหละ...

โดย:  มินนี่  [12 ก.ค. 2552 12:25]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น