สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย

การจัดการขั้นต้นเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษในมาบตาพุด

ผู้เขียน: รศ.ดร. วราพรรณ ด่านอุตรา
หน่วยงาน: หน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย
วันที่: 1 เม.ย. 2553

            การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลในปี พ.ศ. 2531 เพื่อพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกและรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมมีผลให้ประเทศไทยมีความเจริญเติบโตเชิงเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เช่น ปัญหาสุขภาพอนามัย การปนเปื้อนของสารเคมีในน้ำ และการแพร่กระจายของสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย   เพื่อให้เกิดการดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่   มาบตาพุดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการประชุมครั้งที่  5/2550 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2550  ได้ให้ความเห็นชอบ แผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ ในพื้นที่จังหวัดระยอง พ.ศ. 2550 - 25541   พร้อมทั้งกลไกการบริหารจัดการ ในแผนปฏิบัติการฯดังกล่าวได้มีการกำหนดเป้าหมาย ผลผลิต/ตัวชี้วัด และมาตรการ เพื่อดำเนินโครงการ รวม 64 โครงการ (95 โครงการย่อย) และในวันที่ 27 มีนาคม 2550 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณประจำปี 2551 จำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อจัดสรรให้กับโครงการที่เสนอโดยชุมชนและส่วนราชการภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณจากการนิคมอุตสาหกรรม และภาคเอกชนอีกกว่า 4,000 ล้านบาท รวมเป็น 6,680 ล้านบาท สำหรับดำเนินงาน 67 โครงการย่อย ภายใน 5 ปี

            แต่ขณะที่แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวยังไม่ปรากฏผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจน  ในปีพ.ศ. 2550 องค์กรและภาคเอกชนได้พยายามเคลื่อนไหว รณรงค์ให้รัฐบาลพิจารณาประกาศให้พื้นที่  มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ และเกิดผลเป็นรูปธรรม เมื่อศาลปกครองจังหวัดระยอง มีคำสั่งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศท้องที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษ

ผลกระทบและการเกิดมลพิษในมาบตาพุด

            การประกาศท้องที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษ เป็นผลของการร้องเรียนว่าโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯ ปล่อยมลพิษจนประชาชนเจ็บป่วยเรื้อรัง โดยมีผลงานวิจัยสนับสนุนข้อร้องเรียนข้างต้น เช่น ผลงานวิจัยของสถาบันมะเร็งแห่งชาติที่ว่า ประชาชนในเขตอำเภอเมืองระยองมีสถิติการเกิดโรคมะเร็งสูงกว่า อำเภออื่นๆ เป็น  3 เท่า2  ซึ่งผู้วิจัยรายงานว่าการเกิดมะเร็งมีหลายสาเหตุ และ มลพิษทางอากาศก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้แนวโน้มการเจ็บป่วยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในอำเภอเมือง ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

            โรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมีอยู่หลายประเภท และมีโรงงานขนาดใหญ่อยู่มาก โรงงานเหล่านี้มีทั้งที่เป็นแหล่งสารเคมีตั้งต้นสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ  และ โรงงานที่ใช้สารเคมีทั้งที่ผลิตในท้องที่และนำเข้ามาจากที่อื่นสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ก็มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากมลพิษในมาบตาพุด จำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเชื่อถือได้ จึงจะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะอุตสาหกรรมทุกอย่างล้วนทำให้เกิดสารมลพิษได้ทั้งสิ้น และ มลภาวะในมาบตาพุดเป็นผลรวมของมลพิษที่โรงงานต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิดขึ้น จากกระบวนการผลิตหรือใช้สารเคมี มิใช่เกิดจากโรงงานประเภทใดประเภทหนึ่งหรืออุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งโดยเฉพาะ และมลพิษที่เกิดจากโรงงานขนาดใหญ่อาจน้อยกว่าโรงงานขนาดเล็ก เพราะโรงงานแต่ละโรงทำให้เกิดมลพิษได้มากน้อยและรุนแรงต่างกัน แม้ว่าสารเคมีที่ผลิตและนำเข้าหรือใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดมลพิษ จะเหมือนกัน แต่กระบวนการผลิตมีลักษณะกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษได้แตกต่างกัน  นอกจากนี้ปัจจัยการผลิตที่เป็นต้นเหตุของการเกิดมลพิษที่แต่ละโรงงานใช้ก็อาจมีจำนวนไม่เท่ากัน หรือมีความรุนแรงแตกต่างกัน 

            หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมกำกับดูแลการแพร่กระจายของมลพิษจากการอุตสาหกรรมมีอยู่หลายหน่วยงาน  กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งให้ความสำคัญในการกำกับดูแลสารมลพิษในอากาศ ได้กำหนดค่ามาตรฐานของสารมลพิษไว้ 15 รายการ3 รวมทั้งสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Solvents, VOCs)4  และกำหนดให้โรงงาน จัดทำรายงานชนิดและปริมาณสารมลพิษที่ปล่อยออกจากโรงงานโดยเน้นที่ฝุ่นละออง SO2  NOx  และ VOCs กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีหน้าที่ตรวจสอบรายงานของผู้ประกอบการ และกรมควบคุมมลพิษทำหน้าที่เฝ้าระวังวัดมลพิษในบรรยากาศ โดยมีสถานีสำหรับวัดพร้อมออกรายงาน ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามดูได้จากเว็บไซด์ของกรมควบคุมมลพิษ5  การกำหนดให้ผู้ประกอบการทำรายงานและการตรวจวัดมลพิษของหน่วยงานภาครัฐนี้ ก็เพื่อรวบรวมข้อมูลการเฝ้าระวังและติดตามการเกิดมลพิษจากการอุตสาหกรรมสำหรับการดำเนินการป้องกันผลกระทบของการแพร่กระจายของสารมลพิษ

“ข้อมูล” ปัจจัยสำคัญสำหรับแก้ไขปัญหามลพิษในมาบตาพุด

            การดำเนินการลดและขจัดมลพิษให้เกิดผลเป็นรูปธรรมนั้น ต้องทราบว่าว่าแหล่งเกิดมลพิษที่แท้จริงมาจากปัจจัยอะไรบ้าง แต่ปัญหาคือจะหาข้อมูลจากที่ใด และข้อมูลที่ได้มาเชื่อถือได้หรือไม่  แต่ผลกระทบจากมลพิษในพื้นที่มาบตาพุดเป็นผลกระทบที่เกิดจากมลพิษรวม ซึ่งเกิดที่ปลายทางของกิจกรรมต่างๆ ของโรงงานอุตสาหกรรม  การแก้ปัญหาผลกระทบจึงต้องค้นหาข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเชื่อถือได้ว่าผลรวมของมลพิษในมาบตาพุดนั้น เกิดจากสาเหตุใดบ้าง  แต่การแก้ปัญหามลพิษของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกรณีพื้นที่มาบตาพุดหรือพื้นที่อื่นๆ ก็ตาม ปัญหาสำคัญคือ การขาดแหล่งอ้างอิงข้อมูลที่มีความพร้อมในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทันสมัยที่สามารถนำมาอ้างอิงเพื่อใช้ตัดสินใจเชิงนโยบายที่เหมาะสม ในการวางแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการที่ทำให้เกิดผลผลิตที่ใช้ได้จริงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้นในระหว่างที่ผู้เกี่ยวข้องรอข้อสรุปว่าโครงการหรือกิจการใดจะอยู่ในข่ายที่ “อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม” หรือไม่ ผู้มีส่วนก่อมลพิษทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรหันมาให้ความสนใจกับการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลที่จะนำเข้าสู่กระบวนการควบคุม เพื่อ “ลดและขจัดมลพิษ” ในโรงงานของตน ซึ่งจะส่งผลไปถึงการลดและขจัดมลพิษในพื้นที่ โดยศึกษาทำความเข้าใจและปฏิบัติตาม “หลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ”  ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม6,7 และพิจารณากิจกรรมของตนที่ดำเนินการอยู่เกี่ยวกับ กระบวนการ วัตถุดิบ และผลิตผล ว่ามีอะไรบ้างที่ทำให้เกิดสารมลพิษและการแพร่กระจาย เพื่อให้มีข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการเกิดมลภาวะในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การรวบรวมข้อมูลสำหรับการดำเนินงานลดและขจัดมลพิษในมาบตาพุด

            สิ่งที่น่าสนใจคือจากผลงานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว) เมื่อปีพ.ศ. 2543 ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีและสิ่งแวดล้อมกว่า 30 ฉบับ มีหน่วยงานระดับกระทรวงมากกว่า 10 กระทรวงที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย แต่สิ่งที่ค้นพบในงานวิจัยดังกล่าว คือ  “หน่วยงานต่างๆ มีระบบรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลที่มุ่งสนองการใช้งานของหน่วยงาน แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถเชื่อมโยงกันให้เกิดข้อมูลที่ใช้ประโยชน์ในเชิงการติดตามได้”8 หากพิจารณา รูปที่ 1 และตารางที่ 1 ที่แสดงตัวอย่างกฎหมายที่ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติเกี่ยวกับสารเคมีที่มีอยู่หลายฉบับ


รูปที่ 1 ตัวอย่างของกฏหมายควบคุมสารเคมี

ตารางที่ 1 ตัวอย่างหน้าที่ที่ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมายต่างๆ

กฎหมาย

หน้าที่ของผู้ประกอบการ

พรบ.วัตถุอันตราย

-  ขึ้นทะเบียน ขออนุญาต แจ้งดำเนินการเกี่ยวกับการผลิต นำเข้า ส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง วัตถุอันตรายตามรายการที่กำหนด 

-  แจ้งข้อเท็จจริงการผลิต นำเข้า ส่งออก มีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายตามรายการที่กำหนด ( 54 รายการ ) ทุก 6 เดือน

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม (สารเคมี) พ.ศ. 2520

-  ควบคุมไม่ให้ในสถานที่ประกอบการมีปริมาณความเข้มข้นของสารเคมี และฝุ่นแร่ ในบรรยากาศของการทำงานเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนด

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2534

-  แจ้งชื่อ ปริมาณ รายละเอียดสารอันตราย ภายใน 7 วัน หลังจากมีสารอันตรายไว้ในครอบครอง

-  จัดทำรายงานความปลอดภัยและประเมินการก่ออันตรายของสารเคมีอันตรายในสถานประกอบการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

-  รายงานผลการตรวจวัดปริมาณความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายในบรรยากาศบริเวณสถานที่ทำงานและสถานที่เก็บสารเคมีอันตราย  อย่างน้อยไม่เกิน 6 เดือนต่อครั้ง

-  รายงานผลการตรวจสุขภาพลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย

พรบ. โรงงาน

-  ขออนุญาตประกอบกิจการ แจ้งเงินลงทุน กำลังเครื่องจักร ชื่อ/ปริมาณการใช้ และแหล่งที่มาของวัตถุดิบ

-  แจ้งข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับการประกอบกิจการรายเดือน

-  จัดทำรายงานชนิดและปริมาณสาร   มลพิษที่ระบายออก

   จากโรงงาน                       

            หน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่กำกับดูแลความปลอดภัยของสารเคมีเหล่านี้ ต้องรับผิดชอบการรวบรวมและติดตามตรวจสอบข้อมูลที่ผู้ประกอบการรายงานตามแบบฟอร์มต่างๆ แต่ไม่ปรากฏว่ามีรายงานดังกล่าวหรือไม่ หรือมีอยู่ที่ใด ดังนั้นในการพิจารณาประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ จึงไม่ปรากฏว่ามีหน่วยงานใดสามารถให้ข้อมูลได้ชัดเจนว่า ภาพรวมของผลกระทบจากมลพิษมีที่มาอย่างไร ปัจจัยเบื้องต้นคืออะไรบ้าง ระบบตรวจสอบและติดตามการก่อมลพิษเป็นเช่นไร การตัดสินให้ประกาศว่ามาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ จึงต้องใช้ข้อมูลสถิติความเจ็บป่วยจากโรคมะเร็ง ซึ่งไม่ใช่ปัจจัยปฐมภูมิ

            หากต้องการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมี ซึ่งเป็นปัจจัยเบื้องต้นที่ก่อมลพิษและจำเป็นสำหรับการวางแผนการดำเนินงาน เช่น

            1. มีโรงงานจำนวนเท่าใดในพื้นที่มาบตาพุด

            2. มีสารเคมีกี่ชนิด ที่มีการ นำเข้า ผลิต เก็บ ใช้ ขนส่ง และทิ้งในพื้นที่มาบตาพุด

            3. มีสารเคมีกี่ชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็ง

            4. มีสารเคมีกี่ชนิดที่เป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย

            5. ปริมาณที่มีการ นำเข้า ผลิต เก็บ ใช้ ขนส่ง และทิ้งของแต่ละโรงงานเป็นเท่าใด

            6. ฯลฯ

            จะพบว่าไม่มีหน่วยงานใดสามารถให้คำตอบได้ทันที และข้อมูลที่สืบค้นได้มีเพียงบางอย่าง กล่าวคือ ระบบการจัดการข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม สามารถค้นหาคำตอบสำหรับคำถามข้อแรกได้ทันที คือ จังหวัดระยองมีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ 2,122 โรง (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2552) เป็นโรงงานในพื้นที่นิคมฯ และเขตประกอบการฯ 476 โรง (มีนิคมอุตสาหกรรม 8 แห่ง และ เขตประกอบการฯ 5 เขต) และเป็นโรงงานนอกเขตนิคมฯ 1,646 โรง สำหรับข้อมูลพื้นที่มาบตาพุด คือ มีโรงงาน 187 โรง อยู่ในเขตพื้นที่การนิคม 121 โรง และนอกเขตฯ 66 โรง โรงงานอุตสาหกรรม 187 โรง ในมาบตาพุดแบ่งได้เป็น 16 กลุ่ม กลุ่มที่มีจำนวนสูงสุดคือ กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 87 แห่ง รองลงไปคือกลุ่มการผลิตอื่นๆ และผลิตภัณฑ์โลหะจำนวน 35 และ 17 แห่งตามลำดับ ระบบนี้สามารถสืบค้นได้ต่อไปว่าโรงงานแต่ละแห่งอยู่ในกลุ่มเคมีภัณฑ์หรือกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมี อย่างไรก็ดี หากต้องการตรวจสอบความถูกต้องว่าปัจจุบันมีโรงงานที่ยังดำเนินการอยู่จริงจำนวนเท่าใด ก็จะต้องตรวจสอบกับข้อมูลของจังหวัดและการนิคมอุตสาหกรรมอีกครั้งหนึ่ง

            อนึ่ง ในรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงาน “แผนปฏิบัติงานลดและขจัดมลพิษฯ” ที่เผยแพร่ทางระบบอินเตอร์เน็ตโดยกรมควบคุมมลพิษ (สืบค้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2553) พบว่า จังหวัดระยอง มีแหล่งอุตสาหกรรมอยู่เป็นจำนวนมากเกือบ 1,700 แห่ง มีนิคมอุตสาหกรรม 8 แห่ง และเขตประกอบการอุตสาหกรรม 5 เขต โดยเป็นโรงงานในพื้นที่นิคมและเขตประกอบการ 445 แห่ง และโรงงานนอกเขตนิคมฯ 1,259 แห่ง

            สำหรับข้อมูลภาพรวมที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับ จำนวนและชนิดของสารเคมีที่มีการ นำเข้า ผลิต เก็บ ใช้ ขนส่ง และทิ้ง ในพื้นที่มาบตาพุด ไม่มีเผยแพร่ข้อมูลในแหล่งข้อมูลของหน่วยงานใด แหล่งที่สามารถให้ข้อมูลภาพรวมบางส่วนได้คือเว็บไซด์ www.chemtrack.org ซึ่งดำเนินงานโดยศูนย์วิจัยการจัดการสารเคมีและของเสียอันตราย ของสกว. การค้นหาข้อมูลในระบบการจัดการข้อมูลของเว็บไซด์ดังกล่าวพบว่าระหว่างปี พ.ศ. 2548 -  2552 มีสถิติการนำเข้าเคมีภัณฑ์ในกลุ่มพิกัด 28 (สารเคมีอินทรีย์ ) เป็นรายการพิกัดรหัสสถิติปีละกว่า 700 รหัส เป็นน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 3 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้เป็นสารกลุ่ม CMR มากกว่า 70 รหัส ซึ่งรวมถึงสารอินทรีย์ระเหยง่ายหลายตัว เช่น 1,2-dichloethane, benzene  และ 1,3-butadiene  ด้วยปริมาณนำเข้าของ VOCs ทั้ง 3 ตัวระหว่างปี พ.ศ. 2548 - 2552 เฉลี่ยปีละ 283,000, 40,000 และ 23,000 ตันตามลำดับ แต่ระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถบอกได้ว่าสารที่นำเข้าไปอยู่ที่จังหวัดระยองเป็นปริมาณเท่าใด ดังนั้น รายงานของกรมควบคุมมลพิษเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2553 ที่กล่าวว่าค่าความเข้มข้นเฉลี่ยรายปีของ สาร VOCs ทั้ง 3 ชนิดเกินค่ามาตรฐานนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากสารนำเข้า อีกส่วนหนึ่งอาจจะมาจากสารที่ผลิตขึ้นในประเทศ  อย่างไรก็ดีข้อที่ควรคำนึงก็คือ มลพิษที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นสัดส่วนโดยตรงกับปริมาณ  แต่มีความสัมพันธ์กับคุณสมบัติอันตรายของสารแต่ละชนิด การขนส่ง การเก็บ กระบวนการผลิต รวมถึง การทิ้ง ซึ่งแตกต่างกันตามอุตสาหกรรมแต่ละประเภท  ผู้ประกอบการที่ใช้สารเคมีมากอาจจะไม่ใช่ผู้ที่ก่อมลพิษสูงหากผู้ประกอบการรายนั้นมีระบบการควบคุมมลพิษที่ดี ระบบการติดตามสารเคมีตลอดวงจรชีวิตจึงเป็นหัวใจของ กระบวนการลดและขจัดมลพิษจากการใช้ประโยชน์สารเคมีเหล่านั้น  เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีระบบที่เป็นที่รู้จักและใช้อยู่คือ “ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ ( Pollutant Release Transfer Registers : PRTR )” ซึ่งหมายถึงระบบฐานข้อมูล เกี่ยวกับปริมาณการปล่อยมลพิษ (ของเสียวัตถุอันตรายและมลสารอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม) จากแหล่งกำเนิดสู่สิ่งแวดล้อมทั้งอากาศ ดิน และ น้ำ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายของเสียออกจากแหล่งกำเนิดเพื่อบำบัดหรือกำจัด โดยขณะนี้ระบบดังกล่าวมีกรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานประสานงาน

วิเคราะห์โครงการและความก้าวหน้าการดำเนินงานแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ พ.ศ. 2550 - 2554

            การศึกษาแผนงานการจัดทำโครงการย่อย 67 โครงการตามมาตรการ 5 มาตรการที่กำหนดในแผนการลดและขจัดมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยอง และข้อมูลที่พอสืบค้นได้ พบมีเพียงมาตรการแรกที่เป็นมาตรการการจัดการเกี่ยวกับปัจจัยต้นที่ก่อผลกระทบคือ “มาตรการลดปริมาณการปล่อยทิ้งมลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ ขยะและกากเสียอุตสาหกรรมจากโรงงานอุตสาหกรรม (10 โครงการ)” ที่เหลืออีก 4 มาตรการเป็นมาตรการโดยอ้อมเพื่อป้องกัน ลดหรือขจัดผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว ยิ่งกว่านั้นใน 10 โครงการของมาตรการแรก มีอยู่เพียงโครงการเดียวที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยที่เป็นต้นเหตุของการก่อมลพิษในเชิงพื้นที่ คือ “โครงการบริหารจัดการการใช้สารเคมีอันตรายในพื้นที่จังหวัดระยอง” ในส่วนความก้าวหน้าของการดำเนินงานนั้น มีสรุปความก้าวหน้าการดำเนินงานปรากฏในเว็บไซด์ของกรมควบคุมมลพิษ  โดยผลการดำเนินงานสรุป 5 กลุ่มงาน ถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2550 ซึ่งเป็นระยะต้นของแผนปฏิบัติงาน แต่ส่วนที่น่าจะได้มีการดำเนินงานไปแล้วคือแผนงานของการนิคมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ ซึ่งตั้งงบประมาณไว้มากกว่า 4,000 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2550 และ 2551 กลับไม่ปรากฏการเผยแพร่ผลงานที่ชัดเจน

ข้อสรุปและเสนอแนะ

            สาระที่นำเสนอไว้ข้างต้น อาจกล่าวได้ว่าปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุดได้รับความสนใจแก้ไขอย่างจริงจังมาตั้งแต่เดือนมีนาคม  2550 เมื่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นชอบ แผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ ในพื้นที่จังหวัดระยอง พ.ศ. 2550 - 2554  และอนุมัติงบประมาณการดำเนินงานพร้อมทั้งกลไกการบริหารจัดการ แต่การดำเนินงานตามแผนฯ ไม่มีโครงการการพัฒนาให้เกิดระบบการเก็บข้อมูลที่เป็นต้นเหตุที่ก่อปัญหา ที่เอื้อแก่การแก้ปัญหาระยะยาว คือ ข้อมูลสารเคมีที่มีการนำเข้า ผลิต เก็บ ใช้ ขนส่ง และทิ้ง ในพื้นที่ และไม่มีผู้รับผิดชอบรวมถึงกระบวนการติดตามประเมินผล นอกจากนี้ยังขาดรูปแบบของการเผยแพร่ผลการดำเนินงานที่สามารถสื่อสารการดำเนินงานจริงให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน 

            ข้อเสนอแนะการดำเนินงานในระยะต่อไปเพื่อเอื้อต่อการแก้ปัญหาระยะยาวคือการพัฒนาระบบประสานงานการติดตามและเชื่อมโยงข้อมูลสารเคมีตลอดวงจรชีวิตซึ่งนอกจากจะทำให้สามารถวางแผนการที่เหมาะสมสำหรับการลดและขจัดมลพิษแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์กับเฝ้าระวัง และการป้องกันอุบัติภัยด้วย ควรให้ความสำคัญกับกิจกรรมต่างๆ ได้แก่

            1. รวบรวมขัอมูลจากทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อวิเคราะห์เชื่อมโยงให้ได้ข้อมูลเชิงพื้นที่ของชนิดและปริมาณสารเคมีที่ผลิต นำเข้า เก็บ ใช้ ส่งออก ทิ้ง ตลอดวงจร

            2. ทบทวนความชัดเจนและความเหมาะสมของข้อปฏิบัติที่ผู้ประกอบการต้องจัดทำและส่งรายงานการนำเข้า ผลิต เก็บ ใช้ ขนส่ง และทิ้ง สารเคมี เพื่อลดภาระซ้ำซ้อน

            3. รวบรวมเครื่องมือการเก็บรวบรวมข้อมูลสารเคมีในข้อ 2 ที่หน่วยงานต่างๆ มีใช้อยู่เดิมเพื่อพัฒนาระบบการเชื่อมโยงให้เกิดภาพรวมของการกระจายสารเคมีในแต่ละพื้นที่ได้แบบครบวงจร

            4. ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานระบบ PRTR

            5. ทบทวนและปรับแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ รูปแบบและผู้รับผิดชอบการประเมินติดตามผล การประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงาน โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน

            6. ทบทวนความซ้ำซ้อนของข้อกำหนดในกฎหมายที่บังคับใช้ในการควบคุมสารเคมีและการก่อมลพิษเพื่อการปรับปรุงในช่วงเวลาที่เหมาะสม

----------------------------------------

1 แผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ ในพื้นที่จังหวัดระยอง พ.ศ. 2550 – 2554, กรมควบคุมมลพิษ, จากเว็บไซต์ 
http://www.pcd.go.th/Info_serv/pol_maptapoot_plan.html#s1 สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2553

2 ผลวิจัยยันไอระเหย อุตสาหกรรมสัมพันธ์ 25 ชุมชนป่วย, กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์, 25 ม.ค. 2550, จากเว็บไซต์ 
http://www.npc-se.co.th/news_safety/npc_news_details.asp?news_id=701 สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2553

3 ได้แก่ ฝุ่นละออง, พลวง, สารหนู, ทองแดง, ตะกั่ว, ปรอท, คลอรีน, ไฮโดรเจนคลอไรด์, ไฮโดรเจนซัลไฟด์, คาร์บอนมอนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์, ออกไซด์ของไนโตรเจน, ไซลีน, ครีซอล และ กรดกำมะถัน

4 ได้แก่  Benzene, Vinyl Chloride, 1,2-dichloroethane, Trichloroethylene, Dichloromethane, 1,2dichloropropane, 
Tetrachloroethylene, Chloroform, 1,3-butadiene,  etc.
 
5  
http://aqnis.pcd.go.th, กรมควบคุมมลพิษ, สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 53

6 ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (พ.ศ. 2552)
 
7 ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (พ. ศ. 2552)

8 วราพรรณ ด่านอุตรา และคณะ, รายงานวิจัยโครงการแนวคิดและการประสานการสร้างความปลอดภัยด้านสารเคมีและวัตถุอันตราย สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2543

 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

Going to put this atilrce to good use now.

โดย:  AuLia  [28 ก.ย. 2555 09:35]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น