สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย

1 ปี จากเหตุการณ์โปรแตสเซียมคลอเรตระเบิด

ผู้เขียน: รศ. สุชาตา  ชินะจิตร
หน่วยงาน: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 1 ธ.ค. 2543

            จากเหตุการณ์การระเบิดของสารโคบอลต์-60 โปแตสเซี่ยมคลอเรตระเบิด รถบรรทุกน้ำมันระเบิด ไฟไหม้คลังสารเคมีที่ท่าเรือคลองเตย จะพบว่าการดำเนินการแก้ไขเพื่อบรรเทาความเสียหายมักไม่ทันกับสถานการณ์ เนื่องจากไม่ทราบว่าอุบัติเหตุเกิดจากสารใด มีข้อปฏิบัติกรณีหกรั่วไหล หรือเกิดไฟไหม้อย่างไร จะปฐมพยาบาลผู้ประสบภัยอย่างไร เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าระบบการติดตามสารเคมีและวัตถุอันตรายในประเทศไทยยังเป็นปัญหาและต้องการความรู้มาแก้ปัญหาดังกล่าว

            ผลการศึกษาเรื่องแนวคิดการประสานการสร้างความปลอดภัยด้านสารเคมีและวัตถุอันตรายของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ให้ รศ.ดร. วราพรรณ ด่านอุตรา และคณะจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2543 ได้ชี้ให้เห็นว่าแม้ว่าสภาพแวดล้อมในเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการจะมีทั้งแผนแม่บทพัฒนาความปลอดภัยด้านเคมีวัตถุแห่งชาติ (พ.ศ. 2540-2544) เป็นแผนหลัก มีพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (พ.ศ. 2535) มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยใช้กลไกของคณะกรรมการชุดต่างๆ วางนโยบายและทำการประสานงาน แต่กลไกในการนำนโยบายและแผนลงสู่ปฏิบัติยังมีจุดอ่อน ผลก็คือการติดตามสารเคมีอันตรายภายในประเทศยังไม่อาจฉายภาพรวมของประเทศได้ ข้อมูลการนำเข้าสารเคมีของหน่วยงานไม่ต้องตรงกัน ทั้งนี้ก็เพราะแต่ละหน่วยงานปฏิบัติภาระหน้าที่ภายในขอบเขตของตน การเก็บข้อมูลต่างๆ ก็เป็นไปโดยอิสระเพื่อวัตถุประสงค์ของหน่วยงานนั้นๆ สกว. จึงสนับสนุนงานวิจัยเป็นตัวกลางในการเชื่อมประสานด้วยการนำวิชาการเข้าไปเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงการปฏิบัติงานในโครงการด้านสารเคมีและวัตถุอันตราย ซึ่งจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันค้นหาสาเหตุและวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน จึงจะนำไปสู่การแก้ปัญหาในภาพรวมได้ แนวคิดดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ให้เกิดการศึกษาวิจัยร่วมกัน เพื่อให้เกิดระบบที่เชื่อมโยงถึงกันได้ หน่วยงานสำคัญที่เข้ามาร่วมในโครงการนี้เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาตการนำเข้าและการใช้ ได้แก่ กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมวิชาการเกษตร กรมประมง และกรมการอุตสาหกรรมทหาร โดยมีทีมงานจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแกนประสานการวิจัย ในการศึกษานี้จะจำกัดเฉพาะสารเคมีนำเข้าทางเรือก่อน และเป็นสารที่ถูกกำหนดตาม พรบ.วัตถุอันตราย เพื่อให้เป็นจุดตั้งต้น

            สาเหตุของปัญหาที่ข้อมูลสารเคมีของแต่ละหน่วยงานไม่ต้องตรงกันเพราะมีระบบการเก็บข้อมูลแตกต่างกัน มีการเรียกชื่อไม่อยู่ในระบบเดียวกัน ทำให้ผิดพลาดได้ง่าย มีแบบฟอร์มต่างๆ ที่ใช้และข้อปฏิบัติต่างกัน ไม่มีการบังคับใช้รหัสอ้างอิง มีการระบุรายละเอียดต่างกัน ทำให้การติดตามมีปัญหา เช่น ข้อมูลการขนถ่ายวัตถุอันตรายอาจจะไม่ตรงกับคำร้อง มีการขนถ่ายวัตถุอันตรายในสถานที่ซึ่งไม่ตรงกับคำขอเป็นต้น ทั้งหมดนี้จึงนำไปสู่การสื่อความหมายและข้อมูลไม่ต้องตรงกัน อย่างไรก็ดี ได้มีความพยายามของทุกหน่วยงานที่จะจัดระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพดีขึ้น แต่การเชื่อมโยงถึงกันต้องการเครื่องมือให้สามารถปฏิบัติได้ ดังนั้นก่อนจะไปถึงการเชื่อมระบบให้เกิดการไหลของข้อมูลถึงกัน จำเป็นต้องสร้างฐานข้อมูลสารเคมีเพื่อการอ้างอิงขึ้นมาเป็นเครื่องมือ ข้อมูลสารอันตรายนี้เริ่มที่สารอันตรายตามรายชื่อวัตถุอันตรายตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม โดยรวบรวมรหัสอ้างอิงที่จำเป็น ได้แก่ CAS No. ซึ่งเป็นรหัสประจำตัวของสาร UN No. ซึ่งเป็นรหัสของสารหรือกลุ่มสารเพื่อแนะนำวิธีปฏิบัติในการขนส่งและแก้ปัญหาฉุกเฉิน พิกัดอัตราศุลกากรเพื่อให้จำแนกตามวัตถุประสงค์ของการนำเข้า และหน่วยงานใดเป็นผู้ดูแลรายงานสารชนิดใด ข้อมูลเหล่านี้จะโยงไปถึงข้อมูลด้านความปลอดภัย ที่เรียกว่า Material Safety Data Sheet (MSDS) ภาษาไทยเพื่อให้คำแนะนำที่จำเป็นสำหรับสารเคมีแต่ละชนิด

            เมื่อได้เครื่องมือแล้ว การทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยซึ่งมาจากหน่วยงานดังกล่าวข้างต้น จะมาช่วยกันวิเคราะห์วิธีการทำงานของแต่ละหน่วยงาน เพื่อหาทางสร้างระบบเชื่อมโยงที่ทั้งสนองวัตถุประสงค์ของแต่ละหน่วยงาน อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ และในขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงถึงกันจนสามารถติดตามการนำสารออกจากท่าเรือ ซึ่งปลายทางสิ้นสุดที่บริษัทผู้สั่งซื้อ แม้ว่าในการศึกษานี้จะจำกัดเฉพาะสารเคมีที่นำเข้าก่อน แต่ก็ได้คำนึงถึงการขยายผลการปฏิบัติให้ครอบคลุมกว้างขึ้น ถึงการขนส่ง การผลิต และการครอบครองได้ในระยะต่อไป ผลที่เกิดขึ้นคือการแสดงภาพรวมการนำเข้าสารเคมีของประเทศ ว่ามีชนิดและปริมาณเป็นอย่างไร หน่วยงานที่เป็นผู้ให้อนุญาตจะมีข้อมูลการขออนุญาตกับการนำเข้าตรงกัน มีข้อมูลผู้สั่งซื้อและผู้นำเข้าทำให้ติดตามได้ การขออนุญาตนำเข้าที่กรมศุลกากรจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเพราะสามารถแจงรายการสารเคมีในแต่ละพิกัดให้ชัดเจนขึ้นได้ ส่งผลให้เก็บภาษีได้ตรงตามพิกัดและจุดประสงค์ของการนำเข้า อีกทั้งยังมีระบบการตรวจสอบที่น่าจะนำไปใช้ที่ด่านศุลกากรทั่วประเทศได้ด้วย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อประสานงานวิจัยนี้ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย อีกไม่นานเกินรอสภาพปัญหาของข้อมูลการนำเข้าสารเคมีที่ไม่ต้องตรงกันคงจะหมดไป

 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:5

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1415195609

โดย:  ม้าลาย  [5 พ.ย. 2557 22:50]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น