จากเหตุการณ์โรงงานบุญเหลือดอกไม้เพลิงที่อยุธยาระเบิดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2547 มีผู้เสียชีวิต 13 คน สูญหายและบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง ในจำนวนนั้นมีเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี รวมอยู่ด้วย ในฐานะของคนที่สนใจเรื่องเหล่านี้ทั้งนักวิชาการ ผู้สื่อข่าว ผู้รับผิดชอบในด้านต่างๆ ต่างมีคำถามวนไปมาทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ว่า “สภาพของการจัดการเป็นอย่างไร มีช่องว่างอยู่ที่ใด ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงนี้ขึ้น”
หลังเกิดเหตุ หนังสือพิมพ์รายงานว่ามีทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองทั้งระดับรัฐมนตรี อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้เชี่ยวชาญออกไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ มีการให้ข้อมูลและสั่งการจากผู้รับผิดชอบหลายหน่วยงานและหลายระดับ เช่น
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้ข้อมูลว่าโรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานเถื่อน และอุตสาหกรรมจังหวัดต้องรับผิดชอบ
ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมสั่งย้ายอุตสาหกรรมจังหวัดเข้าประจำกรมฯ ฐานบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่เข้าไปตรวจโรงงานในพื้นที่ และสั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดทุกแห่งตรวจสอบโรงงานที่มีอยู่ในพื้นที่ หากดำเนินการไม่ถูกต้องให้ปิดทันที
ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ข้อมูลการตรวจสอบพบหลุมลึกประมาณ 3 เมตร สันนิษฐานว่าเป็นหลุมที่เก็บสารโพแทสเซียมคลอเรต และสถานที่นี้เป็นสถานที่เก็บวัตถุดินดำ สารโพแทสเซียม ประเภทวัตถุระเบิด และสั่งให้รองผู้ว่าฯ เป็นประธานสอบสวนข้อเท็จจริงถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น ให้รายงานผลภายใน 7 วัน
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานยังไม่เคยไปตรวจโรงงานแห่งนี้มาก่อน เพราะเห็นว่าตั้งอยู่นอกชุมชนและกำลังคนมีน้อย และจะเร่งตรวจสอบว่าโรงงานมีใบอนุญาตกักเก็บวัตถุไวไฟหรือไม่
ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และ สำนักงานประกันสังคมดูแลเรื่องกฎหมายและสิทธิประโยชน์
ภาพความเคลื่อนไหวของผู้รับผิดชอบในหน่วยงานและระดับต่างๆ ข้างต้น น่าจะพูดได้ว่าผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเอาจริงเอาจังจนไม่น่าจะมีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุนี้ขึ้น แต่ถ้าย้อนกลับไปดูสถิติก็จะเห็นว่าอุบัติเหตุทำนองนี้เกิดขึ้นซ้ำซากเกือบทุกปี โรงงานนี้เองก็เคยเกิดระเบิดมาก่อนแล้ว ดังนั้นภาพของความเอาจริงเอาจังข้างต้นจึงอาจจะยังมีอะไรที่ยังเป็นปัญหาอยู่
ถ้าเริ่มวิเคราะห์จากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคำว่า “ดอกไม้เพลิง” “สารเคมี” และ “วัตถุระเบิด” พบว่ามีกฎหมายอย่างน้อย 3 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียบอาวุธปืน พ.ศ. 2490 รับผิดชอบโดยกระทรวงมหาดไทย ส่วนกฎหมายอีก 2 ฉบับ ซึ่งควบคุมดูแลสารเคมีและวัตถุระเบิด คือ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 รับผิดชอบโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และอีกหลายหน่วยงาน และพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 รับผิดชอบโดยกระทรวงกลาโหม
สารเคมีที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิงมีมากกว่า 80 ชนิด และมีหลายชนิดที่สำคัญและเป็นอันตรายคือ สารที่เป็นวัตถุระเบิด เช่น โพแทสเซียมคลอเรต แอมโมเนียมไนเตรท ซึ่งอยู่ในบัญชีรายชื่อสารเคมีที่ควบคุมโดยพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ และแบเรียมคาร์บอเนต ตะกั่วออกไซด์ ซึ่งอยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายของพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย
จากข้อมูลของหน่วยงานที่รับผิดชอบตามข่าวหนังสือพิมพ์ที่ว่าโรงงานที่เกิดเหตุเป็นโรงงานเถื่อน แสดงว่าโรงงานนี้ทำผิดกฎหมาย แต่ข้อมูลที่พบว่าโรงงานแห่งนี้เป็นสถานที่เก็บสารโพแตสเซียมประเภทวัตถุระเบิด ยังระบุไม่ได้ว่าทำผิดกฎหมายหรือไม่ จนกว่าจะทราบผลการตรวจสอบใบอนุญาต จึงมีคำถามว่าหากโรงงานนี้จะทำให้ถูกต้องตามกฎหมายทั้งสามฉบับที่กล่าวข้างต้น ต้องทำอะไรบ้าง เช่น
คำถาม คือ ขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องดำเนินการข้างต้นของแต่ละหน่วยงานเป็นไปแบบแยกส่วน เนื่องจากภารกิจที่แตกต่างกัน และไม่มีหน่วยงานใดที่ต้องรับผิดชอบส่งต่อข้อมูลให้เกิดภาพการเคลื่อนไหวของวัตถุอันตรายจากจุดตั้งต้นจนถึงปลายทาง จึงน่าจะมีการหยุดคิดว่าจะมีการดำเนินการเพื่อปรับการจัดการวัตถุอันตรายแบบแยกส่วนนี้อย่างไร
สำหรับกรณีของโพแตสเซียมคลอเรต ซึ่งเคยเกิดระเบิดอย่างรุนแรงที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ ปี พ.ศ. 2542 ในขณะที่เกิดเหตุไม่มีข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับการอนุญาตปริมาณนำเข้า แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ให้ความสนับสนุนจนเกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานควบคุมวัตถุอันตราย 5 หน่วยงาน คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมวิชาการเกษตร กรมประมง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และหน่วยงาน ควบคุมยุทธภัณฑ์ คือ กรมการอุตสาหกรรมทหาร กับหน่วยงานตรวจสอบการนำเข้า คือ กรมศุลกากร โดยการประสานงานของนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้เกิดระบบประสานงานข้อมูลการนำเข้าสารเคมีอันตราย ซึ่งทำให้หน่วยงานอนุญาตสามารถตรวจสอบข้อมูลเป็นระยะๆ ได้ว่า ตามที่มีการอนุญาตไปแล้ว ได้มีการนำเข้าจริงตรงกับที่ขออนุญาตหรือไม่ อย่างไร หากมีการใช้ระบบนี้อย่างต่อเนื่องก็น่าจะเกิดภาพที่ชัดเจนของโปแตสเซียมคลอเรตที่จุดนำเข้า ซึ่งหน่วยงานควบคุมสามารถใช้เป็นฐานสำหรับติดตามดูการเก็บ การใช้ ต่อไปได้
การมีกฎหมายหลายฉบับสำหรับควบคุมวัตถุอันตรายคงจะจำเป็นและหลีกเลี่ยงได้ยาก หากแต่ว่าการจัดการในทางปฏิบัติจะต้องดูแลอย่างครบวงจร และมีการประสานกันโดยมีภาพของระบบการจัดการที่ตรงกัน
ยุทธศาสตร์การจัดการความปลอดภัยด้านสารเคมีและวัตถุอันตราย จึงน่าจะอยู่ที่การจัดระบบข้อมูลและใช้การไหลหรือการส่งต่อข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ติดตามได้ว่าวัตถุอันตรายตั้งแต่นำเข้า ผลิต ไปอยู่ที่ใด ครอบครองโดยใคร ข้อมูลเหล่านี้จะส่งต่อกันในระดับต่าง ๆ จนถึงผู้ใช้ปลายทาง แนวคิดนี้จะสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิการับรู้ การเปิดเผยข้อมูลจะทำให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนได้รับรู้ ร่วมตัดสินใจและช่วยภาครัฐในการเฝ้าระวังได้ด้วย ระบบข้อมูลดังกล่าวได้มีการตั้งต้นไว้แล้ว คือ การพัฒนาระบบการตรวจสอบความเคลื่อนไหววัตถุอันตรายตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย และการพัฒนารูปแบบการแยกประเภทและจัดเก็บของเสียอันตรายจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลการวิจัยจากโครงการที่ สกว. สนับสนุนและทำให้ได้ต้นแบบและวิธีการที่จะทำให้เกิดข้อมูลจากต้นทางไปจนถึงปลายทางได้ ข้อมูลที่พูดถึงนี้มีทั้งข้อมูลที่หน่วยราชการจำเป็นต้องใช้เพื่อการจัดการความปลอดภัยของสารที่ควรจะติดตัวสารไปด้วยจนถึงปลายทาง ยังต้องมีการพิจารณาให้ละเอียดต่อไปว่า “ ข้อมูล” อะไรเหมาะกับผู้ใช้ระดับใด เพราะบางส่วนก็ยังจำเป็นต้องรักษาเป็นความลับทางการค้าอยู่
สภาพของการเลื่อนไหลหรือส่งต่อข้อมูลจากต้นทางคือ การผลิต การนำเข้า การขนส่ง การครอบครอง และการใช้น่าจะเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ให้เกิดการจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างความปลอดภัยอย่างองค์รวม โดยต้องยอมรับว่าการสร้างความปลอดภัยเป็นบทบาทและหน้าที่ของทุกคน ทุกภาคส่วน ไม่ใช่เรื่องเฉพาะของภาครัฐเท่านั้น |