สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย

สรุปผลการดำเนินงานเสนอ อย.

ผู้เขียน: รศ. สุชาตา  ชินะจิตร
หน่วยงาน: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 28 พ.ย. 2544

            สืบเนื่องจากการประชุมคณะอนุกรรมการประสานงานฯ ครั้งที่ 1/2544 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2544 สกว. ได้นำแนวคิดในการแก้ปัญหาที่ข้อมูลการนำเข้าสารเคมีของหน่วยงานไม่ต้องตรงกัน โดยสนับสนุนการจัดทำโครงการพัฒนาระบบประสานงานติดตามการนำเข้าสารเคมีอันตราย ซึ่งมี รศ.ดร. วราพรรณ ด่านอุตรา จากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมศุลกากร และหน่วยงานที่เป็นผู้อนุญาตอีก 5 หน่วยงาน คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมวิชาการเกษตร กรมการอุตสาหกรรมทหาร กรมประมง และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ทำงานวิจัยและหาข้อสรุปร่วมกัน

ผลการดำเนินงาน

            1. ได้สร้างฐานข้อมูลสารเคมีอันตรายเพื่อการอ้างอิงเป็นเครื่องมือในการทำงานโดย บรรจุข้อมูลที่จะจำเป็นเพื่อการสื่อถึงกัน ได้แก่รหัสอ้างอิง CAS No. UN guide UN number พรบ.วัตถุอันตราย พร้อมบัญชีรายชื่อ ชนิดอันตราย หน่วยงานที่ดูแล พิกัดอัตราศุลกากร รวมทั้ง MSDS ภาษาไทย ฐานข้อมูลนี้เปิดเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ตให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ (www.chemtrack.org)

            2. ปรับขั้นตอนและข้อปฏิบัติของหน่วยงานให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวก โดยจัดพิมพ์คู่มือเปรียบเทียบระหว่างพิกัดเดิม และพิกัดที่แยกตามชนิดของสารเคมีที่ต้องการติดตาม

            3. หาข้อสรุประหว่างหน่วยงานในการใช้เอกสาร และระบบบันทึกที่มีเนื้อหาสาระทั้งคุณสมบัติและปริมาณที่ชัดเจนเป็นระบบเดียวกัน

            4. ทำโครงการนำร่องเพื่อตรวจสอบระบบและขั้นตอน

            5. กรมศุลกากรได้ประกาศรหัสสถิติสินค้าเคมี และวัตถุอันตรายเพิ่มเติมกว่า 1,000 รายการ รวมทั้งกำหนดรูปแบบการกรอกเลขใบอนุญาต และ / หรือ เอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขนสินค้าขาเข้าเป็นตัวเลข 15 หลัก ประกอบด้วยรหัสของกระทรวง กรม กอง ประเภทเอกสาร ปีที่อนุญาต และเลขที่ใบอนุญาต เป็นต้น
 
ผลลัพธ์หลังจากปรับเปลี่ยนวิธีการแล้ว

            1. สามารถติดตามสารอันตรายเป็นรายชนิดได้

            2. ทราบชนิดและปริมาณการนำเข้าสารอันตรายเป็นรายชนิด

            3. ข้อมูลการรายงานของกรมศุลกากรต้องตรงกับรายงานของหน่วยงานที่เป็นผู้อนุญาต
 
ประเด็นเพิ่มเติม

            สรุปและข้อเสนอแนะโครงการฐานข้อมูลสารเคมีอันตรายเพื่อการอ้างอิง
 
สรุป

            1. ข้อมูลที่ใช้สำหรับการดำเนินการในเชิงกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมวัตถุอันตรายของกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงกลาโหมมีเนื้อหาที่ซับซ้อนและซ้ำซ้อนกัน และยังมีส่วนที่แตกต่างกันโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการแบ่งชนิดวัตถุอันตราย เงื่อนไข การขึ้นทะเบียน และข้อยกเว้นต่างๆ ซึ่งอาจนำไปสู่ความผิดพลาดในทางปฏิบัติทั้งจากผู้รับผิดชอบและผู้ประกอบการ นอกจากนี้ แต่ละกระทรวงมีขั้นตอนและเอกสารการปฏิบัติแตกต่างกัน ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการเกิดปัญหาและเสียเวลาในการปฏิบัติตามกฎหมาย

            2. รายการวัตถุอันตรายโดยเฉพาะรายการตามประกาศกระทรวงมหาดไทยมีจำนวนมาก และขาดรหัสอ้างอิงสากลที่จะใช้สื่อในการตรวจสอบข้อมูล นอกจากนี้ยังไม่มีแหล่งอ้างอิงที่วิเคราะห์ให้ทราบที่มา และความจำเป็นในการมีจำนวนวัตถุอันตรายตามบัญชีที่ปรากฏอยู่

            3. วัตถุอันตรายในบัญชีที่เป็นสารกลุ่มมีประโยชน์ในการควบคุมให้กว้างขึ้น แต่ทำให้ขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการเก็บสถิติการนำเข้า ตลอดจนการติดตามการขนส่ง การเก็บ และการนำไปใช้

            4. วัตถุอันตรายจำนวนหนึ่งปรากฏซ้ำซ้อนกันในประกาศของ 3 กระทรวง และสารเดียวกันปรากฏชื่อแตกต่างกัน ทำให้เกิดความสับสนได้ง่าย
 
ข้อเสนอแนะ

            1. ให้มีการดำเนินการเพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนบัญชีวัตถุอันตราย บัญชียุทธภัณฑ์ สารเคมี สารเคมีอันตราย ว่าควรปรับจำนวนหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ด้วยเกณฑ์อะไร

            2. ให้มีการจัดทำข้อสรุปเพื่อแยกความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ ให้ชัดเจน และไม่ซ้ำซ้อนกัน ในกรณีที่ชื่อวัตถุอันตรายซ้ำซ้อนกัน

            3. ให้มีการจัดทำคู่มือหรือคำแนะนำการปฏิบัติเกี่ยวกับการประกอบการวัตถุอันตรายให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้ประกอบการและเกิดประสิทธิภาพในการควบคุมวัตถุอันตรายของประเทศ

            4. ให้มีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการปฏิบัติเกี่ยวกับวัตถุอันตราย และพิจารณาแก้ไขในส่วนที่เหมาะสม โดยในระยะสั้นอาจพิจารณาแก้ไขประกาศของหน่วยงานต่างๆ ให้มีเนื้อหาที่ชัดเจน เข้าใจง่ายขึ้น ขณะเดียวกันเอื้อให้มีผลเชิงปฏิบัติด้วย

            5. ให้มีการจัดตั้งผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับศูนย์ข้อมูลวัตถุอันตรายที่มีศักยภาพในการรวบรวมข้อมูลเดิมที่จัดทำไว้แล้วโดยหน่วยงานต่างๆ ไว้ในแหล่งและรูปแบบที่สืบค้นได้ครบถ้วนและสะดวกมากขึ้น ขณะเดียวกันให้มีการปรับข้อมูลให้ทันสมัย เชื่อถือได้ และเป็นประโยชน์กับการใช้งานจริง

            6. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งได้ร่วมกันให้ความสนับสนุนการใช้ ฐานข้อมูลวัตถุอันตรายเพื่อการอ้างอิง ดำเนินงาน โครงการการสร้างระบบประสานงานข้อมูลนำเข้าสารเคมีอันตราย สรุปและขยายรูปแบบการร่วมมือกันให้เป็นประโยชน์กับการปฏิบัติงานประจำด้านอื่นๆ ต่อไป

            7. ให้มีการดำเนินงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตรายตาม แผนแม่บทพัฒนาความปลอดภัยด้านเคมีวัตถุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 - 2548)
 
เอกสารประกอบ

            1. ตัวอย่างหน้าจอของฐานข้อมูลสารเคมีเพื่อการอ้างอิง

            2. คำแนะนำความปลอดภัย acrylonitrile จากฐาน

            3. MSDS ภาษาไทยจากฐานข้อมูลจากฐานในรูปของสิ่งพิมพ์

 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:4

สรุปผลการดำเนินงานเสนอ อย.      เป็นการทำงานที่ดีมากในเรื่องของสารเคมี

โดย:  เด็กซ่าพาป่วน  [29 พ.ย. 2554 00:02]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น