สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย

ประเทศได้อะไรเมื่อมีข้อมูลอย่างเป็นระบบ

ผู้เขียน: รศ. สุชาตา  ชินะจิตร
หน่วยงาน: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 1 ธ.ค. 2546

            ข้อมูลที่เป็นตัวเลข มักถูกมองว่าเป็นเพียงตัวเลขสถิติ ซึ่งในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ แทบจะทุกหน่วยงานต้องพยายามดิ้นรนหาวิธีเก็บและใช้ข้อมูลตามภารกิจ ในที่สุดแต่ละองค์กรก็จะมีฐานข้อมูลใช้เพื่อกิจการของตนเอง ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยบ่งบอกสถานภาพของการดำเนินงาน และเมื่อเป็นข้อมูลที่ต่อเนื่องหลายปี ก็จะแสดงให้เห็นแนวโน้มต่างๆ ได้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่จะใช้ข้อมูลนั้น ใช้เพื่อบอกอะไร ก็ต้องออกแบบโครงสร้างและการจัดเก็บข้อมูลให้สามารถเพิ่มเติม และดึงออกมาจัดทำเป็นรายงานต่างๆ ได้ตามต้องการ ข้อมูลจึงมีความสำคัญและเป็นของหวงห้ามของผู้เป็นเจ้าของ ความรู้สึกนี้จึงกลายเป็นธรรมชาติของคนที่เป็นเจ้าของ โดยเฉพาะผู้สร้างมันขึ้น ไม่เว้นแม้แต่คนในภาครัฐฯ ด้วยกัน ซึ่งโดยหน้าที่ต้องพัฒนาระบบข้อมูลที่ใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะ ดังนั้นในระดับประเทศจึงเป็นความยากลำบากที่จะทำให้ข้อมูลของหลายๆ หน่วยงานมาเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบได้
            
            การพัฒนาระบบโดยเฉพาะระบบข้อมูลของประเทศ มีข้อจำกัดทางความคิดของทั้งผู้ปฏิบัติและผู้ใช้ข้อมูลระดับนโยบาย ด้วยความคุ้นเคยกับระบบราชการที่ตีกรอบอยู่ที่วัตถุประสงค์ขององค์กร ทำให้ขาดการมองเป้าที่เป็นภาพใหญ่ของปัญหาของประเทศ จึงไม่เอื้อให้เกิดการมองอย่างเชื่อมโยง หรือมองเผื่อองค์กรอื่น ระบบข้อมูลที่เชื่อมโยงกันจึงเกิดขึ้นได้ยาก อย่างดีก็มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นครั้งคราวเพื่อขอสถิติเป็นเรื่องๆ นอกจากนั้นการจัดทำระบบข้อมูลขององค์กร ก็จะเป็นการตั้งโจทย์โดยหน่วยงานของตนเอง เพื่อว่าจ้างที่ปรึกษามาวางระบบ ขอบเขตของการว่าจ้างก็ยังติดอยู่ที่ภารกิจเฉพาะ ไม่มีกลไกอะไรที่จะทำให้เกิดการมองอย่างเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น และมักตั้งต้นที่การตั้งงบประมาณเพื่อจัดซื้อคอมพิวเตอร์และโปรแกรม ทั้งๆ ที่ยังไม่ชัดเจนว่าต้องการอะไรเพื่ออะไร หรือไม่ก็มองหาเครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยี เช่น search engine เพื่อดึงข้อมูลจากแหล่งอื่นมารวมกัน โดยไม่ทำความเข้าใจกับเนื้อหาและลักษณะของข้อมูลที่มีอยู่ ว่าต้องปรับแก้หรือไม่อย่างไร เพื่อใช้ประโยชน์ได้ตรงตามเป้าประสงค์
            
            ขอยกตัวอย่างประโยชน์ของการมองข้อมูลอย่างเป็นระบบใน 2 กรณี คือ ระบบข้อมูลการนำเข้าสารเคมีอันตราย และระบบข้อมูลยาเสพติด ที่ สกว. มีประสบการณ์ตรงในการจัดการวิจัยและพัฒนาระบบข้อมูลทั้งสอง
            
            เมื่อมีเหตุการณ์โปแตสเซียมคลอเรตที่โรงบ่มลำใยระเบิด รศ.ดร. วราพรรณ ด่านอุตรา สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการประสานระบบข้อมูลการนำเข้าสารเคมีอันตราย ได้นำรายงานการนำเข้าของหน่วยงานต่างๆ มาเทียบเคียงกัน เพราะเกิดคำถามว่า จะทราบได้อย่างไรว่ามีสารชนิดนี้เข้ามาในประเทศมากน้อยเพียงใด ก็พบว่า ตัวเลขการนำเข้าของกรมการอุตสาหกรรมทหารผู้ควบคุมตามกฏหมาย กับตัวเลขการนำเข้าจริงที่กรมศุลกากรไม่ตรงกัน ซึ่งมีสาเหตุจากหลายประการ ตัวอย่างนี้ชี้ให้เห็นว่า การรายงานเฉพาะของหน่วยงาน ย่อมตอบคำถามเฉพาะของหน่วยงานนั้นเท่านั้น ถ้ากรมการอุตสาหกรรมทหารไม่นำรายงานของกรมศุลกากรมาร่วมพิจารณา ก็จะไม่เห็นปัญหาว่าจำนวนที่ได้อนุญาตไป เหตุไฉนจึงไม่ตรงกับตัวเลขการนำเข้าจริง ยิ่งในปี พ.ศ. 2544 มีปริมาณนำเข้าเพิ่มจากปี พ.ศ. 2543 ถึง 3 เท่า คำถามก็คือว่า เกษตรกรปลูกลำใยกันมากมาย จนต้องใช้โปแตสเซียมคลอเรตเพิ่มขึ้นเช่นนั้นหรือ หรือเข้ามาชดเชยส่วนที่สูญเสียจากการระเบิดเมื่อปีที่แล้ว หรือว่ามีการรั่วไหลไปใช้ทางอื่น เพราะสารตัวนี้ใช้เป็นวัตถุระเบิดได้ ผลจากงานวิจัยและพัฒนาที่นักวิชาการร่วมกับหน่วยปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ทำให้กรมศุลกากรสามารถติดตามการนำเข้าสารอันตรายตามที่หน่วยควบคุมต้องการได้ เช่น กรมวิชาการเกษตรสามารถติดตามการนำเข้ายาฆ่าแมลงที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษได้ นอกจากนั้น กรมปศุสัตว์ยังได้ใช้ติดตามดูปริมาณการนำเข้าของสารซาลบูทามอล ซึ่งนำไปใช้เร่งเนื้อหมูแดงแต่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ด้วยความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและผู้ปฏิบัติในหน่วยงานเหล่านี้ ทำให้ข้อมูลสารเคมีอันตรายเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ และสามารถฉายภาพรวมของประเทศได้
            
            มีหน่วยราชการหลายหน่วยรับผิดชอบ และเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสารเสพติดด้านอุปทาน บางหน่วยงานรับผิดชอบข้อมูลด้านอุปสงค์ และบางหน่วยงานรับผิดชอบข้อมูลด้านผลกระทบของยาเสพติด วัตถุประสงค์ของการใช้ข้อมูลมักประกอบด้วย

            - ข้อมูลเพื่อรายงานผลการดำเนินงาน

            - ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ

            - ข้อมูลเพื่อกำหนดนโยบายและแผน

            - ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์สถานภาพ

            - ข้อมูลเพื่อติดตามประเมินผล

            - และข้อมูลเพื่อเป็นคลังข้อมูล ข้อสนเทศของหน่วยงาน
 
            วัตถุประสงค์ข้างต้น จึงเป็นระบบข้อมูลที่ใช้ประโยชน์เฉพาะหน่วยงานที่เป็นเจ้าของข้อมูลเท่านั้น และเป็นข้อมูลที่แสดงสถานการณ์เกี่ยวข้องกับสารเสพติดจำกัดเฉพาะหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่สามารถเชื่อมโยงกับข้อมูลของหน่วยงานอื่น ที่มีระบบทะเบียนเกี่ยวกับสารเสพติดเช่นเดียวกัน ทั้งๆ ที่ข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นมีศักยภาพในการแสดงสถานภาพองค์รวมของปัญหายาเสพติดของประเทศได้เป็นอย่างดี
 
            จากรายงานเบื้องต้นของคุณอาภา ศิริวงศ์ ณ อยุธยา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบข้อมูลสารเสพติด ร่วมกับกรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ กรมการแพทย์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) โครงการนำร่องนี้รายงานว่า หน่วยงานมีความจำเป็นต้องมีข้อมูลเหล่านั้นไว้เพื่อใช้ประโยชน์เฉพาะสำหรับการปฏิบัติงานขององค์กรนั้นๆ เป็นหลัก ดังนั้นความพยายามสร้างระบบเครือข่ายข้อมูลเพื่อแสดงสถานการณ์ด้านอุปทาน อุปสงค์ และผลกระทบ คณะวิจัยจำเป็นต้องเลือกข้อมูลจำเพาะที่สามารถเป็นตัวร่วม ในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างระบบข้อมูลขององค์กรต่างๆ ให้ร่วมกันใช้ แล้วนำไปทดลองปฏิบัติกับข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน การปรับระบบทะเบียน โดยใช้ความหมายและรหัสเลขที่กำหนดเป็นตัวเดียวกัน เมื่อทดลองประมวลข้อมูลของปี พ.ศ. 2544 ของจังหวัดระยอง ฉะเชิงเทรา และตราด ผลปรากฏว่าสถานภาพของข้อมูลที่ใช้นิยามร่วมกันนั้น สามารถแสดงให้เห็นสถานการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดของจังหวัดทดลองทั้ง 3 จังหวัด อย่างเปรียบเทียบกัน และมองเห็นความสัมพันธ์ของข้อมูลต่างๆ ได้
 
            ประสบการณ์นี้ให้บทเรียนต่อการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานว่า กระบวนการวิจัยโดยนักวิชาการเป็นกลไกที่ดีในการทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน เห็นภาพและประโยชน์ของการใช้ข้อมูลร่วมกัน ขณะเดียวกันก็เป็นการพัฒนาบุคลากรไปด้วย นักวิชาการจะมีประสบการณ์ตรงกับสภาพปัญหา ไม่ได้ทำวิจัยจากโจทย์ที่ลอยมากลางอากาศ ผู้ปฏิบัติก็ได้พัฒนาทั้งทักษะการวิเคราะห์ และเปิดมุมมองที่กว้างขึ้น การพัฒนาระบบต้องคิดควบคู่ไปกับบทบาทหน้าที่ของแต่ละองค์กร โดยยังคงวัตถุประสงค์ขององค์กร แต่มุ่งภาพใหญ่ของประเทศร่วมกัน ทำความเข้าใจกับเนื้อหาและสภาพของข้อมูล ก่อนที่จะคิดถึงการจัดซื้อคอมพิวเตอร์หรือซอฟท์แวร์ หรือจ้างที่ปรึกษา มิฉะนั้นประเทศจะสูญเสียมากกว่าได้ประโยชน์ และหากระบบข้อมูลเกิดขึ้นได้ดังประโยชน์ที่เห็นจาก 2 ตัวอย่างข้างต้นนี้แล้ว สภาพปัญหาของประเทศจะเห็นเป็นภาพรวม และถูกแก้ได้ตรงจุด นี่คือคุณค่าของการวิจัยเชิงระบบ ที่สามารถเป็นแกนกลางให้ทุกฝ่ายได้เข้ามาคิดและทำร่วมกัน เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพให้กับการปฏิบัติงานของภาครัฐฯ

 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น