สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย

ธุรกิจตามกฎหมายกับความรับผิดชอบต่อสังคม

ผู้เขียน: รศ. สุชาตา  ชินะจิตร
หน่วยงาน: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 1 ธ.ค. 2549
            ระหว่างการเข้าไปท่องอินเตอร์เน็ตเพื่อศึกษาเรื่องมาตรการคุมเข้มสารเคมีของสหภาพยุโรปที่ชื่อว่า REACH ได้พบเอกสารชิ้นหนึ่งเป็นกรณีศึกษาชื่อเรื่องว่า The Chemical Industry, The Bush Admimistration, and European Efforts to Regulate Chemicals จัดทำโดยหน่วยศึกษาพิเศษ คณะกรรมการปฏิรูปรัฐบาล(1) เมื่อ 1 เมษายน 2547 ให้แก่ ส.ส.คนหนึ่ง เอกสารชิ้นนี้สรุปผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นการโยงใยของกลุ่มผลประโยชน์ที่สามารถพลิกผันนโยบายของสหรัฐอเมริกาได้ นโยบาย REACH ของสหภาพยุโรป (EU) ที่กำลังจะประกาศใช้ในปีหน้า มีหลักการของระบบการควบคุมสารเคมีเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาคม จึงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเคมีที่จะค้าขายกับ EU เพราะจะทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เดิมทีนโยบายสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีคลินตันประกาศไว้ชัดเจนว่า จะไม่เข้าไปก้าวก่ายกับความพยายามของประเทศอื่นในการปกป้องสิ่งแวดล้อมของประเทศนั้นๆ และเห็นชอบกับการป้องกันไว้ก่อน (precautionary action) กรณีศึกษาชิ้นนี้ได้ประมวลผลจากการติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงานของรัฐทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและด้านการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนผู้แทนภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม เพื่อคัดค้านมาตรการ REACH จนในที่สุดได้ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มผลประโยชน์อุตสาหกรรมเคมีที่สนับสนุนทางการเมืองต่อประธานาธิบดีบุช สามารถมีอิทธิพลต่อนโยบายของประเทศให้เข้าไปยับยั้งหรือทำให้มาตรการ REACH ของ EU อ่อนลงได้
 
            ขอขอบคุณเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ทำให้สามารถใช้สิทธิการรับรู้ในการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างโปร่งใสของการตั้งกระทู้ในรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา จากประเด็นนี้ทำให้คิดต่อไปว่า เรื่องจริยธรรมทางธุรกิจในระดับต่างๆ จะเป็นอย่างไร เพราะธุรกิจก็คือส่วนหนึ่งของสังคม จริยธรรมเป็นความรู้สึกรับผิดชอบชั่วดี เป็นส่วนของบุคลิกภาพที่หล่อหลอมมานานจากประสบการณ์การเรียนรู้ทางสังคม จริยธรรมของคนส่วนใหญ่เป็นเช่นไรก็กลายเป็นวัฒนธรรมสังคมไปด้วย จริยธรรมทางธุรกิจของคนไทยเป็นอย่างไร ก็คงสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมทางธุรกิจและวัฒนธรรมด้านอื่นๆ ของคนไทย หากแต่ว่าจริยธรรมของคนส่วนน้อยมักจะแพ้วัฒนธรรมของคนส่วนมาก อดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปัญยารชุน เคยปรารภไว้ว่า สังคมไทยไม่มีความกล้า ไม่มีจุดยืน ไม่มีหลักการ เป็นวัฒนธรรมที่ยังไม่มีจริยธรรม อยู่ในความขลาด ดังนั้นการพัฒนาสังคมจึงต้องพัฒนาให้คนส่วนใหญ่มีมาตรฐานของจริยธรรมสูงขึ้น การประกอบธุรกิจหลายอย่างไม่ผิดกฎหมาย เช่น การจำหน่ายสุรา การฆ่าสัตว์ แต่ต้องกระทำภายใต้ขอบเขตของจริยธรรม เป็นต้นว่าไม่มุ่งส่งเสริมการขายสุราไปที่กลุ่มเยาวชน เพื่อสร้างกลุ่มผู้บริโภคใหม่ ศ.นพ. ประเวศ วะสี ได้แสดงปาฐกถาในการสัมมนาเรื่อง การรวมพลังสื่อสร้างกระแสคุณธรรม เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2548 ความตอนหนึ่งว่า วัฒนธรรม คือ วิถีชีวิตร่วมกัน การพัฒนาโลกไม่ได้เอาการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง แต่เอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้งแบบแยกส่วน โดยมุ่งไปที่เงินนิยมเป็นสำคัญ ถ้าเอาเงินเป็นตัวตั้งเป็นการคิดแบบแยกส่วน และไปทำลายการอยู่ร่วมกัน เงินเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของการอยู่ร่วมกัน ถ้ายิ่งผูกขาด ก็ยิ่งขาดสมดุล และยิ่งขัดแย้ง ดังนั้นวิกฤตการทางสังคมก็คือวิกฤตการณ์แห่งการอยู่ร่วมกัน
 
ในการประกอบธุรกิจ ผู้บริหาร ผู้ประกอบการ นักธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคมใน 4 ระดับ คือ
 
            1. ความรับผิดชอบทางเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นความรับผิดชอบในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อสนองตอบความต้องการของผู้อุปโภคบริโภค หากเป็นการประกอบการที่มุ่งเอาเงินต่อเงินเพื่อกำไรสูงสุด เป้าหมายของการดำเนินธุรกิจจะมุ่งที่การกระตุ้นให้บริโภคอย่างไม่มีขอบเขต

            2. ความรับผิดชอบต่อกฎหมาย เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายหรือกติกาอย่างครบถ้วน แต่ก็เริ่มมีคำถามเกิดขึ้นว่าการเล่นตามกติกาเท่านั้นเพียงพอหรือไม่ กรณีหุ้นมติชนให้บทเรียนว่าการใช้เสรีภาพทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม โดยไม่มีกลไกทางสังคม เช่น จริยธรรมกำกับ อาจส่งผลเสียหายต่อสังคมได้

            3. ความรับผิดชอบทางจริยธรรม เป็นการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับความคาดหวังในสังคมอย่างมีศีลธรรมนอกเหนือจากสิ่งที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ในหลายๆ วิชาชีพได้มีการกำหนดแนวปฏิบัติขึ้นเรียกว่า จรรยาบรรณในวิชาชีพที่ยอมรับกันในวงการนั้นๆ

            4. ความรับผิดชอบจากจิตสำนึก เป็นความรับผิดชอบสูงสุดโดยสมัครใจเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม เป็นความเชื่อมั่นที่จะทำคุณความดีโดยไม่คลอนแคลนตามกระแสค่านิยมที่ไม่ชอบธรรม มีจิตปรารถนาที่ดี

           
การพูดเรื่องจริยธรรมทางธุรกิจนั้นน่าจะมีความเข้าใจได้ง่ายขึ้น เมื่อเราพูดถึงความรับผิดชอบต่อสังคมที่อาจมองผลกระทบเป็นรูปธรรมได้บ้าง เช่น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหากไม่ดำเนินการให้ได้ตามมาตรฐาน ผลกระทบกลุ่มต่างๆ เช่น ต่อเยาวชนดังกรณีการประกอบธุรกิจบางอย่างที่ส่งผลต่อความประพฤติปฏิบัติของเยาวชนและต่อผู้บริโภค ผลของการประกอบธุรกิจบางอย่างอาจส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมประเพณี และต่อค่านิยมได้อย่างไม่รู้ตัวหากไม่พิถีพิถันและเข้าใจในความละเอียดอ่อนของสังคม ดังนั้นธุรกิจบันเทิงและโฆษณาน่าจะมีผลในเชิงดังกล่าวกว้างไกลมาก การส่งเสริมการขายบริการสื่อสารในรูปแบบของโฆษณาทางโทรทัศน์เข้าถึงได้ทุกซอกมุมของสังคม ค่ายหนึ่งจะโฆษณาโดยการยุให้ใช้โทรศัพท์อย่างไร้สาระของวัยรุ่น ขณะที่อีกค่ายหนึ่งโฆษณาอย่างเตือนสติให้ใช้ด้วยความพอดี โฆษณาหรือละครที่แสดงพฤติกรรมรุนแรง เกรี้ยวกราด ส่งเสียงกรี๊ดๆ เยาวชนที่บ้านกำลังถูกหล่อหลอมเลียนแบบ เด็กอายุขวบครึ่งที่เริ่มเรียนรู้ส่งเสียงกรี๊ดๆ หลังจากดูโฆษณาครีมทาส้นเท้า และคงจะมีอีกมากมายที่เด็กๆ เลียนแบบจากโทรทัศน์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ยิ่งกว่านั้นการส่งเสริมการตลาดก็หันมาทำการสื่อสารแบบไม่ผ่านสื่อมากขึ้น หากไม่มีสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม ผู้บริโภคก็คงจะถูกรุมเร้าด้วยการชักจูงในรูปแบบที่แยบยลมากขึ้น
         
            อย่างไรก็ดี แนวโน้มใหม่ของโลกได้หันมาให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมและสนับสนุนทุนเชิงคุณธรรมบวกกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น จากการประกอบธุรกิจเพื่อเหตุผลทางเศรษฐกิจซึ่งหมายถึงกำไรและความอยู่รอดเท่านั้น ได้มีการประกอบธุรกิจร่วมกิจกรรมทางสังคมเพื่อวัตถุประสงค์ของสังคม เรื่อง ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (Corporate Social Responsibility : CSR) จึงเป็นความรับผิดชอบของธุรกิจที่จะมีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การลงทุนในธุรกิจที่มีภาพลบก็จะเพิ่มในธุรกิจที่มีภาพบวกสูงขึ้น การประกอบธุรกิจจะประสบความสำเร็จควรจะต้องมีการให้คุณค่าต่อจริยธรรม เคารพในความเป็นมนุษย์ ความเป็นชุมชน และในธรรมชาติสิ่งแวดล้อม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุนให้ ดร. พิพัฒน์ ยอดพฤติการ จากสถาบันไทยพัฒน์ ทำการศึกษาเพื่อออกแบบและพัฒนากิจกรรม CSR ในกระบวนการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย ให้แก่องค์กรที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมรับผิดชอบในสังคม โดยหวังว่าการทำธุรกิจไม่เพียงทำให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น แต่จะสนองประโยชน์สังคมด้วย การมี CSR อยู่ในกระบวนการทางธุรกิจจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข
  
(1) Special Investigations Division, Committee on Government Reform - Minority Staff, United States House of Representatives.
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น