สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย

สิ่งทอภายใต้เงื้อมมือมาตรกร EU - REACH

ผู้เขียน: รศ. สุชาตา  ชินะจิตร
หน่วยงาน: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 20 ก.ค. 2550

            เหตุการณ์การปิดกิจการสิ่งทอของบริษัท ไทยศิลป อาคเนย อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จํากัด อาจมาจากหลายสาเหตุประกอบกันตามข่าว แต่ไม่ว่าจะเป็นเพราะเงินบาทแข็งค่า จนโรงงานประสบปัญหาในการส่งออก หรือการที่โรงงานไม่ได้มาตรฐานด้านอาชีวอนามัยจนถูกลูกค้าระงับการสั่งซื้อ เหตุการณ์นี้ก็ทําให้อุตสาหกรรมสิ่งทอต้องตระหนักว่า
          
            อุตสาหกรรมของตนกําลังถูกคุกคามด้วยข้อกําหนดมาตรฐานของประเทศคู่ค้า ซึ่งไม่ใช่มีเพียงแต่มาตรฐานสินค้า หรือมาตรฐานด้านอาชีวอนามัยเท่านั้น แต่ยังมีกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ๆ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และถูกนํามาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือด้านการค้าระหว่างประเทศด้วย จนอาจกล่าวได้ว่ายุคนี้มาตรฐาน คือ อาวุธทางการค้า
    
            มาตรการหนึ่งที่สหภาพยุโรป (อียู) เพิ่งประกาศใช้เป็นกฎหมายไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2550 คือ ระเบียบ REACH ซึ่งเป็นระเบียบควบคุมการผลิตและการใช้สารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเข้มงวด ตลอดสายโซ่การผลิต พัฒนามาจากร่างระเบียบว่าด้วยสารเคมี (Registration Evaluation and Authorization of Chemicals : REACH) ที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544
  
            แม้ว่าวัตถุประสงค์ของ REACH คือ เพื่อคุ้มครองสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมจากการได้รับสารเคมีและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีของอียู แต่ REACH ก็ส่งผลต่อสินค้าไทย ที่ส่งไปยังสหภาพยุโรป และสร้างภาระให้แก่ผู้ส่งออกของไทย ตั้งแต่ผู้ผลิตสินค้าขั้นสุดท้าย - ขั้นกลางวัตถุดิบ - ผู้นําเข้าวัตถุดิบ (ไม่ว่ารายเล็กระดับ OTOP ของชาวบ้าน หรือรายใหญ่ ถ้าสินค้าใช้สารเคมีในการผลิต และมีการส่งออกไปอียู ก็ต้องอยู่ภายใต้ REACH) ทําให้ต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอมีความเกี่ยวข้องกับสารเคมีค่อนข้างมาก ตลอดสายโซ่การผลิต ตั้งแต่โรงงานผลิตเส้นใย โรงงานปั่นด้าย โรงงานฟอกย้อม โรงงานพิมพ์ผ้า กิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง และอาจหมายรวมถึงอุตสาหกรรมกลุ่มอื่นด้วย ยิ่งเป็นกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ผลกระทบต่อฐานล่างจะรุนแรงและขยายวงมากไปกว่าผู้ส่งออกเท่านั้น
 
ภาระในการที่ผู้ผลิตจะต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีตามกฎหมาย REACH อาจทําให้เกิดผลกระทบหลายด้าน ได้แก่
         
            1) สารเคมีอันตรายแพงขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตสารเคมีผลักภาระค่าใช้จ่ายในการหาข้อมูลความปลอดภัยให้แก่ผู้ซื้อ

            2) สารเคมีบางรายการจะหาซื้อไม่ได้ เพราะไม่มีผู้ผลิต เนื่องจากไม่คุ้มค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปกับการจดทะเบียนหรือดําเนินการตามเงื่อนไขในระเบียบ

            3) มีการผูกขาดการผลิตสารเคมีโดยผู้ผลิตบางราย เพราะผู้ผลิตรายย่อยเลิกผลิตสารนั้น เพราะไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ หรือเจ้าของข้อมูลซึ่งเป็นผู้จดทะเบียนรายแรกไม่ร่วมมือในการขอใช้ข้อมูลร่วม

            4) ผู้ใช้สารเคมีผลิตสินค้าจะต้องเสียเวลา และค่าใช้จ่ายในการปรับสูตรผลิตภัณฑ์ เพราะวัตถุดิบแพงขึ้น หรือหาซื้อไม่ได้ต้องหาสารทดแทน

            5) ผู้ผลิตสินค้าต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงคุณภาพสินค้าและพัฒนาการตลาด ผลกระทบทั้งหมดเหล่านี้ เกิดจากการคาดการณ์ของผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง
  
            ผู้ส่งออกไทยโดยเฉพาะผู้ส่งออกสิ่งทอ ตระหนักและมีความพร้อมที่จะรับมือกับกฎหมาย REACH เพียงใด และจะยังสามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันได้ดีหรือไม่ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุนให้มีกลุ่มงานที่ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดตามความเคลื่อนไหวทําความเข้าใจและเผยแพร่ความรู้เรื่อยมาตั้งแต่เริ่มมีการร่างระเบียบ (www.chemtrack.org/ReachWatch) และผลการศึกษาผลกระทบของ REACH ต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอไทย โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ที่ได้เป็นกรณีศึกษายังไม่ตระหนักในมาตรการใหม่นี้ อาจเป็นความเข้าใจว่าไม่เกี่ยวข้อง หรือคิดว่าทําตามลูกค้าสั่งแล้วไม่มีปัญหา ไม่ได้มองว่าเป็นโอกาสในการปรับตัวเรียนรู้ตลาดยุโรปที่มีมูลค่าการสั่งซื้อสูง รวมทั้งเป็นโอกาสในการพัฒนา SME ให้อยู่ในสายโซ่อุปทานของตน
 
            อุตสาหกรรมสายโซ่การผลิตผลิตภัณฑ์ผ้าผืนที่จะถูกกระทบสูง คือ โรงงานฟอกย้อมและพิมพ์ผ้า เพราะเป็นขั้นตอนที่ใช้สารเคมีจํานวนมาก และมีโอกาสตกค้างบนผืนผ้าด้วยสารเคมีเหล่านี้ หลายชนิดอยู่ในเงื่อนไขที่อาจถูกจํากัดการใช้งาน เช่น Nonyl phenol ethoxylate (NPEO) สาร Brominated flame retardant เป็นต้น

            ในประเทศไทยอุตสาหกรรมสิ่งทอประเภทกิจกรรมทอผ้ามีประมาณ 660 แห่งในปี พ.ศ. 2547 ร้อยละ 80 เป็นโรงงานขนาดกลางและเล็ก มีสัดส่วนการจ้างงานร้อยละ 5.27 ของการจ้างงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งหมด ส่วนกิจการถักผ้านั้นมีประมาณ 658 แห่ง ในปี พ.ศ. 2547 และมีการจ้างงานร้อยละ 5.58 ของการจ้างงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งหมด (ที่มา : กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สําหรับอุตสาหกรรมย้อมผ้าทอมีประมาณ 450 แห่ง โดยเป็นโรงงานขนาดใหญ่เพียง 10 แห่งเท่านั้น มีการจ้างงานร้อยละ 4.3 ของการจ้างงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งหมด ส่วนอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสําเร็จรูปมีโรงงานมากกว่า 2,600 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็กและขนาดย่อม ในการปรับตัวเพื่อรองรับระเบียบ REACH ผู้ประกอบการไทยจําเป็นต้องเข้าใจในหลักการของระเบียบนั้น และภาระหน้าที่ที่ตนเองต้องเกี่ยวข้อง แล้วจึงเริ่มสร้างความร่วมมือกับสายโซ่การผลิตของตนเองว่าแต่ละฝ่ายจําเป็นต้องรับผิดชอบหรือมีภาระเพิ่มเติมจากเดิมอย่างไร

            ผู้ประกอบการต้องรวบรวมบัญชีรายชื่อสารเคมีในการผลิตทั้งหมด และพิจารณาประเด็นสารเคมีอันตรายที่อาจมีในผลิตภัณฑ์ ความเป็นไปได้ในการตกค้างและโอกาสจะถูกปลดปล่อยออกจากผลิตภัณฑ์ ต้องเรียกร้องเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี (SDS) จากผู้ขายสารเคมีนั้นๆ อย่างจริงจัง ติดตามข้อกําหนดและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของลูกค้า ฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ เช่น EU - Ecolabel (EU Flower) เป็นต้น

            ทางด้านภาครัฐนั้น ก็มีบทบาทในการประสานความร่วมมือระหว่างผู้ใช้สารเคมี และผู้ผลิตสารเคมีในระดับประเทศ และสร้างเครือข่ายระดับภูมิภาคให้เกิดอํานาจการต่อรองต่อระเบียบ REACH หรือมาตรการอื่นๆ พิจารณาระบบการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนสารเคมี การทดสอบ และการเจรจา พัฒนาหน่วยงานทดสอบตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับหรือเทียบเคียงได้ กลยุทธ์สําคัญ คือ รวมตัวกันต่อสู้มากกว่าแข่งขันกันเอง เพื่อมิให้เราต้องยอมจํานนอยู่ภายใต้เงื้อมมือของ REACH และการใช้ REACH เป็นโอกาสยกระดับมาตรฐานภายในประเทศด้วย

 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น