สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย

แนวคิดในการเสริมสร้างความปลอดภัยแรงงาน

ผู้เขียน: รศ. สุชาตา ชินะจิตร
หน่วยงาน: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 6 ส.ค. 2546
แนวคิดของการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม

            การจัดการสิ่งแวดล้อมในยุคก่อนศตวรรษ 1980 มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การทำตามกฏระเบียบ ที่มียุทธศาสตร์อยู่ที่การจัดการปลายเหตุ (end - of - pipe) ดังนั้นเครื่องมือที่ใช้จึงเป็นเครื่องมือของภาครัฐ ที่มีการตั้งค่ามาตรฐานมลพิษที่สามารถปล่อยออกมาสู่น้ำและอากาศ ความรับผิดชอบของอุตสาหกรรม จึงมักอยู่ที่การติดตั้งอุปกรณ์ลดมลพิษที่ปลายท่อ การดำเนินการดังนี้ผู้มีบทบาทสำคัญคือ ผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี ที่จะหาวิธีการลดมลพิษจากการผลิต ผลสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ก็ขึ้นกับการปฏิบัติตามกฏหมาย ซึ่งมักมีค่าลงทุนสูง จึงมีคำถามว่าการควบคุมดูแลประสบผลสำเร็จเพียงใด ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1990 แนวคิดของการจัดการได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการป้องกันการเกิดมลพิษมากกว่าการบำบัด อันเป็นนโยบายเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ การผลิตสะอาด (Clean Product) จึงเป็นแนวทางหนึ่งของการจัดการโดยการลดมลพิษที่แหล่งกำเนิด ซึ่งหมายถึงการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต เพื่อให้มีการใช้วัตถุดิบ พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทำให้เกิดของเสียน้อยที่สุด ให้มีการใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ บทบาทของผู้จัดการจะมีความสำคัญที่จะดูแลทั้งกระบวนการ เพื่อความสมดุลทุกด้าน สำหรับช่วงสหัสวรรษนี้ กระบวนทัศน์ของการจัดการสิ่งแวดล้อม ได้ขยายสู่แนวคิดของการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ต้องคำนึงถึงความจำเป็นสำหรับลูกหลานในอนาคตด้วย กระบวนทัศน์นี้เน้นสาระสำคัญของการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาคการศึกษา ประชาชน และองค์กรเอกชน ซึ่งอยู่ในฐานะผู้บริโภคและผู้ถูกระทบ การมองอย่างองค์รวม ไม่เพียงแต่มองเฉพาะผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ยังต้องมองถึงผลกระทบต่อสุขภาพและต่อสังคมด้วย คำถามของสังคมต่อภาคการผลิตและบริการว่า ทำอย่างไรจึงจะทราบผลกระทบที่แท้จริงจาการดำเนินธุรกิจ ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมได้ เพื่อที่ภาครัฐจะสามารถจัดการและดำเนินนโยบายได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งภาคประชาชนเองก็มีส่วนรับรู้ และตัดสินใจในประเด็นปัญหาที่ถูกกระทบ
 
เครื่องมือเพื่อนำไปสู่ความเป็นธรรมาภิบาล

            บ่อยครั้งที่เราได้ยินว่า ประเด็นสิ่งแวดล้อมมักไปโยงกับการค้าระหว่างประเทศในลักษณะของการถูกกีดกัน สิ่งแวดล้อมกับการกีดกันทางการค้า จึงเป็นภาวะคุกคามต่อประเทศที่เราควรคำนึงถึง และหาทางตั้งรับเตรียมความพร้อม เพื่อให้มีท่าทีที่อาจรุกได้ อย่างไรก็ดีการดำเนินการต่างๆ เหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะใช้เพื่อการแข่งขันทากการค้าเท่านั้น มาตรการหลายมาตรการที่ถูกำหนดขึ้น ด้วยหลักการที่แท้จริงก็คือ เพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของผู้บริโภค ดังนั้น การจัดการเพื่อความปลอดภัยทั้งต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของคนในประเทศนั้นๆ ก็น่าจะอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน คือทำอย่างไร ประชาชนทั่วไปจึงจะมีสิทธิรับรู้ เรียนรู้ และดูแลตนเองได้ในระดับหนึ่ง ข้อมูลอะไรที่เขาควรจะรับทราบและเข้าถึง มาตรการที่พอจะเป็นตัวอย่างของเครื่องมือ ที่จะนำไปสู่การรับรู้สาธารณะ เพื่อการตรวจสอบและคุ้มครองผู้บริโภค จะนำมาเสนอพอเป็นสังเขป ดังนี้
 
            ในระยะ 10 ปีที่ผานมา ได้มีการรวมกลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อร่วมกันร่างแบบแผนการรายงานด้านสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งเกิดโครงการ Responsible Care โดย Canadian Chemical Producers Association ให้บริษัทสมาชิกรายงานผลการดำเนินการ Reducing Emission Report ต่อมาได้เกิดแนวคิดของการทำรายงานที่เปิดเผยต่อสาธารณะ โดย UNEP ร่วมกับ Coalition for Environmentally Responsible Economics ริเริ่มการจัดทำรายงาน Global Reporting Initiatives (GRI) เพื่อเป็นแนวทางการรายงานผลการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจเอกชน ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับทุกประเภทอุตสาหกรรม และเป็นที่ยอบรับในระดับสากล GRI จึงเป็นเครื่องมือในการนำเสนอความสำเร็จขององค์กร ทั้งด้านการเงิน ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสังคม ไปยังภายนอก เป็นบรรษัทธรรมาภิบาล ทำให้ธุรกิจนั้นๆ มีภาพลักษณ์ที่ดี และจัดว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

            การติดฉลากเป็นอีกแนวคิดหนึ่งของการสื่อความหมายในวงกว้าง จากแผนปฏิบัติการ 21 ได้กำหนดเรื่องการจัดทำระบบสากลการจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีและการติดฉลาก Global Harmonized System, GHS เป็นการสื่อข้อมูลกลุ่มสารเคมีและข้อมูลความปลอดภัยด้วยสัญลักษณ์ และคำเตือนสั้นๆ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน อีกมาตรการหนึ่งที่เป็นผลสืบเนื่องจากแผนปฏิบัติการ 21 เช่นเดียวกัน คือ Pollutants Release and Transfer Registration, PRTR เพื่อให้มีการติดตามการปลดปล่อยสารอันตรายได้ ตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่น ได้ออกเป็นกฏหมายเมื่อปี พ.ศ. 2542 กำหนดให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 45 ประเภท ที่มีลูกจ้างเกิน 20 คน และใช้สารเคมีมากกว่า 1 ตันต่อปี ต้องขึ้นทะเบียนและรายงานการปลดปล่อยสารที่อยู่ในรายการ 354 ชนิด ฐานข้อมูลนี้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ทำให้ทราบว่าในปี พ.ศ. 2544 มีการปลดปล่อยสารเคมีดังกล่าวเป็นปริมาณสูงถึง 310,000 ตัน และสารที่ปลดปล่อยในระดับสูงก็คือ ไซลีน โทลีน และเมธีลีนคลอไรด์ มาตรฐานแรงงาน SA8000 (Social Accountability) ซึ่งอิงหลักเกณฑ์ของ ILO ก็มุ่งหมายให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคมและแรงงานเป็นหลัก เช่น กำหนดการห้ามใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ชั่วโมงการทำงาน และค่าจ้าง เป็นต้น

            สหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของสารเคมีและอาหารมาก จึงมีมาตรการหลายมาตรการที่ออกมาเป็นนโยบาย รวมทั้งแนวทางของการสร้างความแข็มแข็งให้ผู้บริโภคด้วย แนวคิดที่นำวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์มาเป็นเครื่องมือในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยพิจารณาตลอดช่วงอายุของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่วัตถุดิบ การผลิต การจำหน่าย การขนส่ง จนถึงการกำจัดเศษเหลือททิ้ง (Integrated Product Policy, IPP) เรื่องของฉลากเขียวก็เป็นกลไกหนึ่งของการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคในการเลือกใช้สินค้า

            ดังจะเห็นจากตัวอย่างข้างต้นแล้วว่า เครื่องมือที่ยกมานั้นล้วนผูกโยงกับผลที่จะบังเกิดแก่สุขภาพ ภายใต้หลักการเดียวกันคือการให้ข้อมูลแก่ประชาชน ความเคลื่อนไหวต่างๆ เหล่านี้ ล้วนต้องการความรู้ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นตัวบ่งชี้และวัดเทียบได้ การสร้างความรู้และข้อมูลพื้นฐานในบริบทของไทย เพื่อเปิดเผยต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างเหมาะสม จึงเป็นกุญแจสำคัญสำหรับเสริมสร้างความปลอดภัยของสังคมไทย
สถานการณ์และโอกาสการเปิดเผยข้อมูลเพื่ออาชีวอนามัย
            ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับปัญหาอาชีวอนามัย และความปลอดภัยในการทำงาน โดยบรรจุเป็นครั้งแรกในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2510 - 2514) งานอาชีวอนามัยเริ่มมีความชัดเจนขึ้น เมื่อบทบาทของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน หรือ จป. ได้ถูกกำหนดในประกาศกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2528 ให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปต้องมี จป. กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการและส่งเสริมให้มีความปลอดภัยในการทำงาน มีหน่วยงานระดับกอง ทำหน้าที่ตรวจสอบสถานประกอบการด้านความปลอดภัย และมีสถาบันความปลอดภัยในการทำงานเป็นหน่วยสนับสนุน อย่างไรก็ดี หากต้องการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านความปลอดภัย ที่เกี่ยวข้องกับโรคจากการทำงานแล้ว ข้อมูลในอดีตยังขาดอยู่มาก เนื่องมาจากระบบการบันทึกข้อมูลและการวินิจฉัยโรค ยังไม่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เท่าที่มีระบบข้อมูลเชิงปริมาณคือที่สำนักงานกองทุนเงินทดแทน และสำนักประกันสังคมสังกัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ส่วนข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในการทำงาน จะได้จากสถาบันความปลอดภัยในการทำงาน และกองอาชีวอนามัย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหลังจากการปรับโครงสร้างระบบราชการ งานด้านอาชีวอนามัยได้ไปรวมอยู่ในกรมควบคุมโรค ซึ่งต้องดูแลโรคทั้งชนิดที่ติดต่อและไม่ติดต่อ

            ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 สาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านอาชีวอนามัยโดยตรงคือหมวด 8 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเพื่อทำหน้าที่เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานฯ เกี่ยวกับนโยบาย แผนงาน หรือมาตรการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของลูกจ้าง อีกหมวดหนึ่งคือหมวด 2 การใช้แรงงานทั่วไป มาตรา 23 ที่กำหนดเวลาทำงานปกติวันหนึ่งต้องไม่เกิน 8 ชั่วโมง และเมื่อรวมแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง เว้นแต่งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างที่กำหนดในกฏกระทรวง จะมีเวลาทำงานปกติวันหนึ่งต้องไม่เกิน 7 ชั่วโมง แต่เมื่อรวมเวลาทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งไม่เกิน 42 ชั่วโมง ข้อกำหนดนี้จึงมีความเชื่อมโยงกับประกาศต่างๆ ของกระทรวงมหาดไทย เรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย ที่กำหนดเกณฑ์มาตรฐานสารเคมีฟุ้งกระจายในบรรยากาศของการทำงาน ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานที่วางบนพื้นฐานของการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง จึงมีข้อควรแก่การวิเคราะห์ว่า การกำหนดเวลาทำงานปกติของงานทุกประเภทเช่นนี้ มีผลต่อการนำค่ามารตรฐานความเข้มข้นของสารเคมีในอากาศในที่ทำงาน ที่กำหนดไว้บนพื้นฐานของการทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง ควรมีค่าเท่าใด และจะมีวิธีการประเมินการสัมผัสสารเคมีอย่างไร รวมทั้งกรณีที่มีการทำงานล่วงเวลาด้วย (สราวุธ สุธรรมาสา การจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในประเทศไทย สำงานกองทุนสนับสนุนกรวิจัย พ.ศ. 2542)

            โอกาสที่ลูกจ้างแรงงาน จะได้รับข้อมูลที่จำเป็นต่อความปลอดภัยและสุขภาพ จากกฏหมายและมาตรการต่างๆ พอจะมีอยู่บ้างแล้ว ได้แก่ สาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัยใน พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 ได้กำหนดให้มีการจัดทำเอกสารที่จำเป็นประจำโรงงาน กำหนดข้อมูลที่ผู้ประกอบการต้องแจ้งให้ทราบ เช่น โรงงานที่มีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ต้องจัดทำรายงานการตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบป้องกัน โรงงานที่มีการผลิต การเก็บ หรือการใช้วัตถุอันตรายตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย ต้องจัดทำข้อมูลความปลอดภัย (Material Safety Data Sheet, MSDS) เกี่ยวกับลักษณะอันตราย นอกจากนั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ก็ได้กำหนดว่า สารเคมี 1580 ชนิดเป็นสารอันตราย และอีก 180 ชนิดเป็นอันตรายหากมีปริมาณตั้งแต่ที่กำหนดไว้ใช้งาน จะต้องมีการปิดฉลาก ระบุอันตรายและคำเตือนต่างๆ และให้จัดทำรายงานความปลอดภัยรวมทั้งกำหนดให้มีการตรวจวัดระดับสารเคมีอันตรายในอากาศ ตลอดจนตรวจสุขภาพลูกจ้างด้วย ขณะเดียวกันกฏหมายของกรมการขนส่งทางบก ก็มีการควบคุมเรื่องการติดป้ายและเอกสารความปลอดภัยระหว่างการขนส่งด้วย ที่กล่าวมาแล้วนี้ ค่อนข้างเป็นระบบที่คุ้มครองแรงงานที่อยู่ในระบบ ยังมีแรงงานที่อยู่นอกระบบอีกจำนวนมาก ที่การคุ้มครองและการรับรู้ข้อมูลยังไปไม่ถึง

            ข้อกำหนดในกฏหมายจึงเปิดโอกาสอยู่แล้วที่จะสื่อสาร สร้างความตระหนักเรื่องการทำงานอย่างปลอดภัยกับลูกจ้าง เพียงแต่ว่า เราได้ใช้โอกาสนี้แล้วหรือยัง มากน้อยเพียงใด การให้ข้อมูลหรือการจัดทำ MSDS เป็นไปเพราะกฏหมายบังคับ หรือเป็นไปด้วยความตั้งใจที่จะป้องกันปัญหา หากใช้หลักของความโปร่งใส การเข้าถึงข้อมูล สิทธิการรับรู้ และการมีส่วนร่วม ยังมีภารกิจอีกมากมาย ที่ทุกภาคส่วนจะต้องทำ โดยคำนึงถึงฐานะของคนในลักษณะของมนุษย์ในสังคมจริงๆ ไม่ใช่วัฒนธรรมวิชาชีพ หรือวัฒนธรรมของชนชั้นของตนเองเป็นตัวกำหนดในการให้คำแนะนะ มิฉะนั้น คำแนะนำเหล่านั้นจะมีลักษณะของการเรียกร้องให้ปฏิบัติการตามกฏระเบียบหรือคู่มือของตน โดยละเลยเรื่องความเชื่อและการรับรู้ของคนงาน ซึ่งแตกต่างจากการรับรู้ของผู้เชี่ยวชาญ (สุพจน์ เด่นดวง วัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2541)

            บทบาทของภาคส่วนต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัย ในการสร้างเสริมความปลอดภัย จำเป็นอยางยิ่งที่จะต้องมีความร่วมมือในการดำเนินการ เพื่อความเข้าใจไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ภาครัฐ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ภาควิชาการ และภาคประชาชน จะต้องทำงานร่วมกันและใกล้ชิดกันมากขึ้น เพียงแต่เน้นในบทบาทที่ต่างกัน ดังนี้
 
ภาครัฐ
ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม
ภาควิชาการ
ภาคประชาชน
-  นโยบาย มาตรการกำกับควมคุมจูงใจ
 
 
 
-  มาตรการที่ทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จำเป็นในการดูแลความปลอดภัย
 
 
-  ใช้ข้อมูลเพื่อการกำหนดมาตรการ
 

-  ทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมมากขึ้น

-  การจัดการความเสี่ยง
-  นโยบายแบบองค์รวมคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมสุขภาพอนามัยและสังคม
 
 
-  รายงานผลสำเร็จที่เปิดเผยสู่สาธารณะชน
 
 
 
-  ใช้ประโยชน์จากดัชนีสิ่งแวดล้อม benchmarking, PRTR

-  Responsible Care
 

-  ให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อลูกจ้าง
-  ติดตามความเคลื่อนไหวเชื่อมโยงประเด็นของมาตรการสากลหรือนโยบายประเทศต่างๆ ที่สำคัญ

-  สร้างเครื่องมือทำงานตามคามต้องการของภาครัฐ อุตสาหกรรมและสำหรับลูกจ้างแรงงานและผู้บริโภค

-
 

 
-  สร้างความรู้ความเข้าใจร่วมด้วยการถกเถียง

-  ให้การศึกษา สร้างความเข้มแข็งให้ลูกจ้างแรงงานและผู้บริโภค
-  ใช้สิทธิในการรับรู้และเขาถึงข้อมูล
 
 
 
-
 
 
 
 
-  ใช้ประโยชน์จากข้อมูลทำความเข้าใจและมีส่วนร่วม


-

 
-
 
            ดังที่ได้กล่าวข้างต้นว่าการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย จะได้ผลดีที่สุดเมื่อทุกภาคส่วนมีความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจระดับต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยหลักฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ บทบาทของภาควิชาการก็คือการวิจัยเพื่อสร้างความรู้ ข้อมูล เพื่อสร้างเกณฑ์หรือมาตรการของภาครัฐ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ภาคเอกชนเข็มแข็งขึ้นด้วย มาตรการทั้งหลายที่กล่าวข้างต้น โดยหลักการพื้นฐานก็คือเครื่องมือในการสร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาล แต่ยังอยู่ในวงจำกัด ควรที่จะได้มีการเผยแพร่ทำความเข้าใจและใช้ประโยชน์เพื่อประชาชนคนไทยได้มามาตรฐานความปลอดภัยที่ดีขึ้น
    
เอกสารประกอบการประชุมวิชาการ ชมรมอาชีวเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคจาการประกอบอาชีและสิ่งแวดล้อม Human and Environment  6 - 8 สิงหาคม 2546
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น