สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย

การลดการใช้ผลิตภัณฑ์อันตรายด้วยการสร้างความตระหนักรู้

ผู้เขียน: รศ. สุชาตา  ชินะจิตร
หน่วยงาน: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 1 ธ.ค. 2551

            ทุกวันนี้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะเกษตรกรต้องเสี่ยงต่อการใช้ผลิตภัณฑ์อันตรายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านหรือสารกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในภาคเกษตรกรรม นอกจากความเสี่ยงในผู้ใช้แล้วยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวด้วย การพึ่งพาผลิตภัณฑ์อันตรายเหล่านี้ ในหลายๆ กรณีเกิดขึ้นด้วยอิทธิพลของการโฆษณาสินค้าที่ตอกย้ำให้เชื่อว่าจำเป็น จนเกิดเป็นความต้องการอย่างขาดไม่ได้
 
            การสร้างความตระหนักรู้นั้นไม่มีอะไรดีเท่ากับการประจักษ์ด้วยตนเอง จากข้อมูลที่สะท้อนสภาพปัญหาให้เห็น การวิจัยจึงมีบทบาทตรงนี้ที่ทำให้เกิดการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อแสดงให้เห็นสภาพที่เป็นจริง จากนั้นการถกเถียงอภิปรายร่วมกันก็จะนำไปสู่การเรียนรู้อย่างยั่งยืน ตัวอย่างงานที่กำลังเกิดขึ้นและดำเนินการอยู่ คือ โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่องการสร้างกระบวนการเรียนรู้ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายในอาคารบ้านเรือนในระดับชุมชน ศึกษากรณีบ้านค้อหวาง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยคุณประครอง สายจันทร์ จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) หัวหน้าโครงการมีประสบการณ์เข้าถึงชุมชน จึงทำให้กิจกรรมร่วมกับชุมชนเป็นไปได้ด้วยดี มีวิธีการดึงดูดความสนใจของชุมชนมาร่วมเวที เช่น การใช้วัดเป็นสถานที่ประชุม เพราะวัดเป็นที่รวมของชุมชนอยู่แล้ว มีการให้ความรู้เรื่องอันตรายของผลิตภัณฑ์และทางเลือก ผลสำเร็จอีกประการหนึ่งคือการใช้นักเรียนร่วมทีมงานเก็บข้อมูล และมีคณะกรรมการบริหารโรงเรียนร่วมด้วย ทำให้สามารถขับเคลื่อนกิจกรรมเข้าสู่โรงเรียนได้ และจะเป็นพลังขับเคลื่อนได้ต่อไป
 
            ข้อมูลที่สำรวจมาได้จาก 83 ครัวเรือน จากทั้งหมด 124 ครัวเรือน ระบุว่าได้มีการซื้อผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และกลุ่มสารพิษในอาคารบ้านเรือนบ่อยขนาดไหน เป็นมูลค่าเท่าไร มีการระบุยี่ห้อด้วย ประมาณได้ว่าเป็นรายจ่าย 5.9 แสนบาทต่อปีเป็นอย่างต่ำ สำหรับ 83 ครัวเรือนหรือประมาณ 8.9 แสนบาทต่อปี เมื่อคิดรวมทั้ง 124 ครัวเรือน หรือประมาณ 7.2 พันบาทต่อครัวเรือนต่อปี ในจำนวนผลิตภัณฑ์เหล่านี้นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์พื้นฐานพวกสบู่ ผงซักฟอก แชมพูแล้วพบว่าชาวบ้านต้องมีค่าใช้จ่ายกับผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเป็นน้อยกว่าสูงพอกัน เช่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม ครีมนวดผม น้ำยาขจัดคราบฝังแน่น น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยารีดผ้า เป็นต้น ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นสิ่งที่ชาวบ้านให้ความสนใจมาก เพราะมันหมายถึงค่าใช้จ่ายที่ออกไปจากกระเป๋าของตัวเอง จึงฉุกคิดขึ้นมาว่าทำไมจึงต้องจับจ่ายเพื่อสิ่งเหล่านี้ และจะลดลงได้อย่างไร
 
            แม้ว่าเป้าหมายของโครงการนี้ คือ การลดการใช้เพื่อลดอันตราย แต่ขั้นตอนที่จะไปถึงจุดนั้น จะใช้ข้อมูลเรื่องค่าใช้จ่ายมาชักจูงให้เห็นว่าน่าจะลดได้ด้วย การผลิตขึ้นใช้เองและหาสิ่งทดแทนไปพร้อมกัน เพราะความตระหนักในอันตรายอย่างเดียวไม่รุนแรงพอที่จะส่งผลถึงการลดการใช้เท่ากับการลดค่าใช้จ่าย ในขณะที่โครงการยังไม่สิ้นสุดทีมงานก็ได้รับความอิ่มเอิบใจที่ได้เรียนรู้การจัดเวทีนำเสนอข้อมูล ได้มีคนมาร่วมเกินคาดหมาย ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านอื่นที่อยู่ติดกันก็ได้ประกาศให้ชาวบ้านหมู่บ้านของตนมาถึง 12 คน รวมทั้งครอบครัวผู้ใหญ่เองด้วย โจทย์ใหญ่ที่ยังรออยู่ก็คือการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องอันตราย เพื่อลดการใช้ ทีมงานยังหวังต่อไปว่าเงิน 5.9 แสนบาท ที่จ่ายออกในแต่ละปีจะลดลง และกลายมาเป็นกองทุนในชุมชนหมุนเวียนสร้างดอกผลให้เกิดประโยชน์ต่อไป

 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:4

Last one to uitlzie this is a rotten egg!

โดย:  Pedro  [24 ส.ค. 2555 22:49]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น