สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย

อุปสรรคของอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันภายใต้ระเบียบ REACH ของสหภาพยุโรป

ผู้เขียน: รศ.สุชาตา ชินะจิตร
หน่วยงาน: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 18 ธ.ค. 2549
 อุปสรรคของอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันภายใต้ระเบียบ REACH ของสหภาพยุโรป

อุปสรรคของอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันภายใต้ระเบียบ REACH ของสหภาพยุโรป

                ผู้ประกอบการไม่สามารถส่งผลิตภัณฑ์กระดาษไล่ยุงไปกับสายการบินของประเทศเยอรมนีได้   เนื่องจากไม่สามารถแสดงเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ว่าถ้าตกน้ำจะมีฤทธิ์ตกค้างต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่อย่างไร

               

                ผู้ประกอบการไม่สามารถขายบรรจุภัณฑ์ให้กับบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของประเทศญี่ปุ่นได้  เนื่องจากไม่สามารถแสดงเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของบรรจุภัณฑ์กระดาษได้

 

                ผู้ผลิตน็อตส่งให้อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ต้องมาถามหาข้อมูลความปลอดภัยจากห้องสมุด  เพื่อกรอกแบบฟอร์มในการส่งสินค้า

 

                ส้มไทยไปแคนาดาถูกห้ามเข้าแคนาดา  เพราะตรวจสอบพบสารตกค้างชื่อ  Profenophos เกินมาตรฐานถึง 2 ครั้ง

               

                นี่คือเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับการส่งออกของไทย  คงยังมีอีกมากมายที่ยังไม่เป็นที่รู้กันบางกรณีอาจจัดการปัญหาไปได้  บางกรณีก็จัดการไม่ได้  เช่น  กรณีแรกที่ทำให้ขายของไม่ได้ทั้งๆที่มีการตกลงซื้อกันแล้ว   หลายรายเข้าใจว่าทำตามลูกค้าสั่งแล้วไม่น่ามีปัญหา  เขาให้ทดสอบอะไรก็ส่งไปทดสอบ  จ่ายค่าบริการทดสอบซึ่งมักเป็นบริการที่อยู่นอกประเทศ   บางครั้งถึงขั้นกำหนดว่าต้องทดสอบจากที่นั่นที่นี่เท่านั้น  นี่คือที่มาของการเขียนบทความนี้ซึ่งมาจากผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่องของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 

                ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าของไทย  มีแนวโน้มในการใช้มาตรการสิ่งแวดล้อมทางการค้ามากขึ้น เช่น ระเบียบการจัดการระบบรับคืนซากและจัดการเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า (WEEE) หรือระเบียบการใช้สารทดแทนโลหะหนักที่เป็นอันตรายของสหภาพยุโรป เหตุผลของการกำหนดใช้มาตรการดังกล่าวมีหลายสาเหตุ บางกรณีเป็นการกำหนดโดยนโยบายของประเทศผู้นำเข้าสินค้าเอง   ซึ่งเป็นผลมาจากการเรียกร้องของผู้บริโภค   ความตื่นตัวของสังคมในการรักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรืออาจเป็นไปเพื่อการปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ   และบางกรณีเป็นการกำหนดมาตรการตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศนั้นๆ เป็นภาคีสมาชิก มาตรการฝ่ายเดียวที่ประเทศต่างๆกำหนดขึ้น  จึงมีผลกระทบต่อประเทศผู้ส่งออกที่จะต้องปฏิบัติตาม  มิฉะนั้นสินค้าของตนจะไม่ได้รับการยอมรับ  เพราะเป็นอำนาจของผู้ซื้อในยุคนี้และข้างหน้าที่ฝ่ายผู้ซื้อเป็นผู้กำหนดมาตรฐาน  สินค้าไทยถ้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ผู้ซื้อกำหนด  ฐานะการส่งออกของไทยก็จะด้อยลงไปเรื่อยๆ   ไม่เพียงแต่ตัวสินค้าสำเร็จเท่านั้น  ยังต้องพิจารณาตลอดห่วงโซ่ด้วยว่า  เราอยู่ ณ จุดไหนของห่วงโซ่ของการผลิตก็ย่อมถูกกระทบไปด้วย

 

                ระเบียบการจัดการสารเคมีใหม่ REACH (Registration, Evaluation and Authorization of Chemicals)  ที่สหภาพยุโรปประกาศใช้ในต้นปี 2550 เป็นระเบียบที่ปรับปรุงจากระเบียบการขออนุญาตผลิตหรือใช้สารเคมีที่มีอยู่ในกฎหมายต่างๆ มากกว่า 40 ฉบับ   เพื่อให้สามารถจัดการสารเคมีในสหภาพยุโรปอย่างมีความเป็นเอกภาพ  ทั้งสารเคมีที่มีอยู่เดิมและสารเคมีใหม่  ระเบียบนี้จึงควบคุมสารเคมีและสินค้าที่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบหรือผลิตด้วยสารเคมี   ผู้ประกอบการทั้งหมดในโซ่การผลิตเป็นผู้รับผิดชอบภาระและค่าใช้จ่ายในการทดสอบสารเคมีและการประเมินความเสี่ยงทั้งหมด  นอกจากนั้นยังมีการกำหนดให้ถ่ายทอดข้อมูลสารเคมีและการประเมินความเสี่ยงระหว่างกันภายในสายโซ่การผลิต   โดยใช้เอกสารความปลอดภัย (Safety Data Sheet : SDS) เป็นสื่อ  รวมทั้งกำหนดให้มีการใช้ข้อมูลร่วมกันระหว่างผู้ขออนุญาตใช้สารเคมีรายการเดียวกัน  เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการทดสอบและลดการใช้สัตว์ทดลองด้วย   นอกจากนี้ยังมุ่งหมายให้ระเบียบใหม่ช่วยรักษาศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าของสหภาพยุโรปได้ด้วย  ข้อกำหนดต่างๆ ของระเบียบจึงมีส่วนเอื้อให้ผู้ประกอบการของสหภาพยุโรปได้เปรียบคู่แข่งทางการค้า

 

                สำหรับประเทศไทยระเบียบ REACH ของสหภาพยุโรปก็สามารถส่งผลกระทบต่อการส่งออกของสินค้าไทยที่ประสงค์จะส่งไปยังสหภาพยุโรป โดยที่ผู้ส่งออกต้องแสดงปริมาณรวมทั้งข้อมูลความปลอดภัยในการใช้สารเคมีในผลิตภัณฑ์ของตน นับเป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ส่งออกไทย ผลิตสินค้าขั้นสุดท้าย ขั้นกลาง วัตถุดิบ ผู้นำเข้าวัตถุดิบ ตลอดสายโซ่การผลิต   ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น  และเมื่อผู้ประกอบการผลักภาระนี้ไปยังผู้บริโภค (ทั้งในประเทศและต่างประเทศ) ราคาสินค้าก็จะสูงขึ้นส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป

 

สินค้าส่งออกไปสหภาพยุโรปปี 2548 มูลค่ารวม 499,425.20 ล้านบาท

กลุ่มอุตสาหกรรม

มูลค่า (ล้านบาท)

ร้อยละของมูลค่าส่งออก

- ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

229,509.30

45.96

- ยานพาหนะและอุปกรณ์

51,830.40

10.37

- สิ่งทอ

50,022.60

10.01

- เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน

13,829.80

2.76

- รองเท้าและชิ้นส่วน

12,112.50

2.42

- ผลิตภัณฑ์พลาสติก

9,980.30

1.99

- กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ

4,009.60

0.80

- ของเล่น

2,281.20

0.45

- อื่นๆ

125,849.50

25.24

ที่มา : กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

 

ผลการวิจัยสนับสนุนโดย สกว. จากรายงานของกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม  เป็นการศึกษาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในแนวกว้าง  ส่วนในแนวลึกสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และศูนย์วิจัยแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   ได้ใช้กรณีศึกษากับบางผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง รองเท้า และเซรามิก  ได้สำรวจการใช้สารเคมีในโรงงานตัวอย่าง  เพื่อประเมินสถานภาพของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าไทย  และผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่อยู่ในสายโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมเป้าหมาย  จากการดำเนินงานพบว่าผู้ประกอบการไม่แสดงความตื่นตัวทำให้ได้ข้อมูลมาไม่ครบถ้วน   อย่างไรก็ดี  ข้อค้นพบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสารเคมีที่รวบรวมได้พบว่า โรงงานมักไม่มีระบบสรรหาและจัดเก็บข้อมูลเอกสารด้านความปลอดภัยของโรงงาน  ยิ่งกว่านั้นเอกสารความปลอดภัย (MSDS) จากผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเคมีภัณฑ์ หรือสารเคมีที่ให้กับโรงงานมักไม่สมบูรณ์   เนื่องจากเอกสารบางส่วนไม่ใช่ MSDS แต่เป็นเอกสารรับรองหรือยืนยันองค์ประกอบ (Certification document) ของเคมีภัณฑ์หรือสารเคมีนั้นๆ ว่าไม่มีสารต้องห้าม หรือเป็นเอกสารที่ระบุข้อมูลคุณสมบัติเฉพาะหรือเป็นเอกสารแนะนำการใช้งาน   ข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงพอต่อการจัดทำข้อมูลประกอบการรายงาน SDS ในกระบวนการ REACH ยิ่งกว่านั้นอุตสาหกรรมหลักที่ได้รับผลกระทบนั้นยังมีสัดส่วนของ SMEs จำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีประมาณ 1,460 ราย หรือร้อยละ 86  อุตสาหกรรมยานยนต์มีประมาณ 1,806 รายหรือร้อยละ 95 ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์มีทั้งผู้ประกอบการยานยนต์  ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ กับส่วนที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์  ซึ่งเป็น SMEs ไทยนับ 1,000 ราย อุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งมีการผลิตครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำมีประมาณ 57,504 รายหรือร้อยละ 99 เป็นต้น  ผลกระทบดังกล่าวจะส่งผลต่อเนื่องถึงการจ้างงานและมูลค่าเพิ่ม   หากบริษัทผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูปไม่สามารถหาซื้อวัตถุดิบชิ้นส่วนในประเทศได้ก็ต้องหันไปนำเข้าจากต่างประเทศ  ผู้ประกอบการไทยที่ไม่สามารถปรับตัวได้ก็อาจต้องเลิกกิจการไป  ซึ่งส่งผลต่อสายโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้วย

 

ตารางสรุปข้อมูลสารเคมีของอุตสาหกรรมสิ่งทอจากการสำรวจโรงงานตัวอย่าง

ประเภท

จำนวนชนิดสารเคมี/เคมีภัณฑ์

รวม

ระบุองค์ประกอบครบถ้วน*

เคมีภัณฑ์

(Preparation)

สารเคมี

(Substance)

สารลงแป้ง

สารลอกแป้งและขจัดสิ่งสกปรก

สีย้อม/สีพิมพ์

สารตกแต่งสำเร็จ

15

85

286

92

0

17

3

3

15

102

289

95

1

0

5

0

รวม

478

23

501

6

หมายเหตุ : * ระบุองค์ประกอบครบถ้วน หมายถึง สามารถบ่งชี้ชนิดของสารเคมีที่มีอยู่ในเคมีภัณฑ์นั้นได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 (โดยน้ำหนัก)

 

ผลจากการสำรวจข้อมูลสารเคมีจากโรงงานตัวอย่างผลิตถุงมือยาง

ประเภท

จำนวน

CAS No.

ANNEX I

CMR

สารลงแป้ง

สารลอกแป้งและขจัดสิ่งสกปรก

สีย้อม / สีพิมพ์

สารตกแต่งสำเร็จ

 

3

25

142

86

1

25

137

85

0

8

45

10

0

1

24

2

รวม

256

249

63

27


CAS No.       หมายถึง สารเคมีที่สามารถค้น CAS number ได้

ANNEX I      หมายถึง สารเคมีทีจัดอยู่ในรายการสารเคมีอันตรายตาม ANNEX I ของข้อกำหนด Directive 67/548/EEC

CMR             หมายถึง สารเคมีที่จัดอยู่ในกลุ่ม สารก่อมะเร็ง สารก่อการกลายพันธุ์ และสารอันตรายต่อการสืบพันธุ์ (Carcinogen, Mutagen and Reprotoxic; CMR) ตาม ANNEX XVI ของร่างระเบียบ REACH 

                เฉพาะกรณีศึกษาซึ่งได้มาจากโรงงานจำนวนไม่มากนัก  ก็ทำให้เห็นสภาพของการเกี่ยวข้องกับสารเคมีมากมายหลายชนิด   การศึกษาศักยภาพห้องปฏิบัติการไทยเพื่อรองรับผลกระทบของระเบียบ REACH ก็บ่งบอกถึงสภาพไม่แตกต่างกัน คือ ยังไม่มีห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบใดของไทยที่มีความสามารถพอที่จะวิเคราะห์ข้อมูลความปลอดภัยตามที่ REACH กำหนด   หากจะวิเคราะห์ได้ก็ยังมีปัญหาการเป็นที่ยอมรับอีก ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์เซรามิกประเภทเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัวของไทย มีตลาดหลักอยู่ที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา (48% และ 32% ตามลำดับ) ล้วนเป็นประเทศที่กำกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์นำเข้าอย่าเข้มงวด ผลการวิเคราะห์ต้องเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือได้ กล่าวคือ ต้องได้มาตรฐาน GLP (Good Laboratory Practice)  หรือมาตรฐาน ISO/IEC 17025 นอกจากนั้นสหภาพยุโรปยังได้มีประกาศเพิ่มเติมระบุข้อกำหนดด้านปริมาณโลหะหนัก ตะกั่วและแคดเมียมในผลิตภัณฑ์ที่ยอมให้ปนเปื้อนออกมาสู่อาหาร   รวมทั้งข้อกำหนดของวิธีวิเคราะห์ ทดสอบด้วย  ซึ่งหากผลการทดสอบไม่เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าว  จะห้ามนำสินค้านี้เข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรปตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2550 อีกด้วย

 

                ความจำเป็นเร่งด่วนหลายๆด้านที่เราต้องใส่ใจทั้งระดับนโยบายของภาครัฐ  และความตื่นตัวเตรียมพร้อมของภาคอุตสาหกรรมไทย  การสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าจะเป็นกุญแจสำคัญ   โดยการทำให้เกิดการรับรองระบบงานของประเทศไทย  ซึ่งประกอบด้วยการตรวจสอบและรับรอง (Conformity Assessment) มีมาตรฐานเป็นตัวอ้างอิง จำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานและผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแลประสานงานทั้ง 4 ด้าน  คือ การค้า การมาตรฐาน มาตรวิทยา และระบบการรับรอง  ทั้งในระดับชาติ ภูมิภาคและระดับสากล  รวมไปถึงการทำข้อตกลงยอมรับร่วม (Mutual Recognition Agreements : MRA) เพื่อการยอมรับผลการตรวจสอบและรับรองในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายๆเรื่องในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล  แต่ก่อนจะถึงเรื่องนี้ความสามารถในการวิเคราะห์ทดสอบของห้องปฏิบัติการก็ต้องพัฒนาขึ้น  เพื่อตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงของสารเคมีในการจัดทำ SDS และการวิเคราะห์สารในผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม  ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมก็ต้องรวมตัวเครือข่ายผู้ใช้สารเคมี  เพื่อเพิ่มน้ำหนักของข้อต่อรองกับผู้ผลิตสารเคมีให้จดทะเบียนสารเคมีให้ครอบคลุมการใช้ในลักษณะและวิธีการต่างๆ ของผู้ประกอบการไทย  ถ้าองค์กรและสมาคมทางการค้าและอุตสาหกรรมสามารถประสานเครือข่ายความร่วมมือของกลุ่มผู้ใช้สารเดียวกันได้  ก็จะลดความเสี่ยงในเรื่องการรั่วไหลของความลับทางการค้า  ในส่วนของรายผู้ประกอบการหรือโรงงาน  ก็ควรพัฒนาการจัดการสารเคมีของตนให้เป็นระบบ  เพื่อเป็นพื้นฐานในการดำเนินการแก้ไขการนำกติกาสากลมาบังคับใช้ในทางการค้าระหว่างประเทศ

 

                เมื่อคิดย้อนกลับ ทำไมเราไม่นำสิ่งที่เรา กำลังถูกกระทำอยู่ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ให้กับตัวเอง ไม่ใช่จำยอมต่อสถานการณ์อยู่ร่ำไป   เครื่องมือทางกฎหมายก็พอจะมีอยู่แล้ว  นั่นคือจัดระบบการจัดการสารเคมีเสียใหม่ด้วยหลัก precautionary คือ ระวังไว้ก่อนเช่นเดียวกับ REACH ระบบการจัดการที่ว่าก็คือการทำให้รู้ว่าในประเทศเรามีสารเคมีชนิดใดนำเข้าผลิตใช้ครอบครองอยู่เท่าไร  โดยให้มีการแจ้งก่อนและกำหนดให้ผู้ขายสารเคมี / ผู้นำเข้าต้องให้ข้อมูลความปลอดภัย (SDS) ของสารเหล่านั้น  เราก็จะมีข้อมูลการประเมินความเสี่ยงและการประเมินความเสี่ยงในการใช้ (Intended use) ข้อมูลเหล่านี้มีช่องทางของ พรบ.วัตถุอันตรายเอื้ออยู่แล้ว  เราก็จะมีข้อมูลประกอบการขึ้นทะเบียนที่จะพิจารณาต่อไปว่า  ควรจัดกลุ่มอันตรายเป็นประเภทใดใน พรบ.วัตถุอันตราย   ถ้าทำเช่นนี้ได้ก็ได้ประโยชน์ 2 ทาง คือ เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมภายในของเราเอง  ขณะเดียวกันก็ยังพร้อมที่จะรับข้อกำหนดของ REACH ด้วย  เรื่องทำนองนี้จะตีกรอบตามภาระงานของหน่วยงานหรือกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งไม่ได้   เพราะต้องมองภาพใหญ่อย่างคาบเกี่ยวกัน เช่น เรื่องนี้ไม่เกี่ยวเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งรับผิดชอบ พรบ.วัตถุอันตรายแต่เรื่องเดียวกันนี้ไปโยงกับการค้าระหว่างประเทศ   ซึ่งเป็นภารกิจของกระทรวงพาณิชย์เป็นต้น

 

หมายเหตุ : ติดตามความเคลื่อนไหวของระเบียบ REACH และผลกระทบได้ที่ http//:www.chemtrack.org/REACH WATCH

 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

ความคิดเห็นที่ 1:

http://en.wikipedia.org/wiki/CAS_registry_number        CAS Registry Number        
http://www.cas.org/expertise/cascontent/registry/regsys.html        
http://en.wikipedia.org/wiki/EC_number_(chemistry)        EC Number  ( Chemistry )        
http://msds.chem.ox.ac.uk/eu_to_cas_converter.html        Cross-Referencing List of EU Numbers and CAS Numbers

โดย:  นักเคมี  [1 ส.ค. 2552 08:09]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

http://www.chemtrack.org/ReachWatch/        หรือ         http://siweb.dss.go.th/reach/

http://www.chemtrack.org/ReachCoach/        หรือ         http://siweb.dss.go.th/reachcoach/

โดย:  นักเคมี  [1 ส.ค. 2552 08:30]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น