สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
สาระเคมีภัณฑ์

สารเคมีในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ผู้เขียน: ดร. จันทร์ทิพย์ ซื่อสัตย์
หน่วยงาน: ภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันที่: 16 มิ.ย. 2553

            อุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้สารเคมี (และพลังงาน) มากและหลากหลายชนิดอุตสาหกรรมหนึ่ง ผลกระทบจากสารเคมีจึงมีต่อผู้ปฏิบัติงานที่ใช้สารเคมีโดยตรงและผู้บริโภคสินค้าสิ่งทอ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเรื่องของการใช้พลังงานและการปลดปล่อยสารเคมีจากกระบวนการผลิตออกสู่สิ่งแวดล้อม ดังนั้นการได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีที่ใช้จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการสารเคมีเหล่านั้นให้เหมาะสมและปลอดภัย

            การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอประเภทหนึ่งๆ มีขั้นตอนการผลิตหลายขั้นตอน โดยกระบวนการหลักๆ ที่สำคัญ มีดังนี้

            กระบวนการต้นน้ำและกลางน้ำของการผลิตสิ่งทอเป็นกระบวนการที่มีการใช้สารเคมีจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้นตอนการเตรียม ย้อม พิมพ์ และตกแต่งสำเร็จสิ่งทอ ประเภทของสารเคมีและลักษณะการใช้งานแบ่งตามขั้นตอนการผลิตได้ดังนี้

ขั้นตอนการผลิตเส้นใย

            เส้นใยสิ่งทอแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ได้ 2 ประเภท คือ เส้นใยธรรมชาติและเส้นใยประดิษฐ์ เส้นใยธรรมชาติที่สำคัญในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้แก่ ฝ้าย ขนสัตว์ และไหม เส้นใยเหล่านี้ได้จากการเพาะปลูกและจากสัตว์ สารเคมีที่ใช้จึงเป็นสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ มีการใช้สารฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมีในการเพาะปลูกฝ้ายปริมาณค่อนข้างมากและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันจึงหันมาผลิตฝ้ายอินทรีย์ (Organic cotton) ที่ไม่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูกเลยมากขึ้น เพื่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนขนสัตว์ก็มีการใช้สารฆ่าแมลงที่รบกวนเช่นกัน สำหรับกระบวนการผลิตเส้นใยประดิษฐ์ซึ่งแบ่งเป็นประเภทย่อยได้ 2 ประเภท คือ เส้นใยปรับรูปใหม่ (Regenerated fibers) และเส้นใยสังเคราะห์ การใช้สารเคมีจะขึ้นอยู่กับประเภทของเส้นใยที่ผลิต  เส้นใยปรับรูปใหม่ส่วนใหญ่เป็นเส้นใยจากเซลลูโลสที่ถูกนำมาละลายในตัวทำละลายที่เหมาะสมแล้วผ่านกระบวนการปั่นออกมาเป็นเส้นใย ตัวทำละลายที่ใช้ส่วนใหญ่ค่อนข้างอันตราย อย่างไรก็ตาม ในการผลิตเชิงอุตสาหกรรมสามารถใช้กระบวนการที่เป็นระบบปิดและใช้เทคโนโลยีการนำตัวทำละลายกลับมาใช้ใหม่ (Solvent recovery) เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้ กระบวนการผลิตเส้นใยสังเคราะห์เป็นการขึ้นรูปพอลิเมอร์ออกมาเป็นเส้นใยโดยเทคนิคการปั่นเส้นใยแบบหลอมเป็นหลัก มีการใช้สารเคมีทั้งที่เป็นสารตั้งต้นและสารช่วยในกระบวนการ ตั้งแต่ขั้นการผลิตพอลิเมอร์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตซึ่งสารบางตัวมีความเป็นพิษและไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีตัวเร่งปฏิกิริยา (catalyst) ประเภท antimony oxide ที่ใช้ในการผลิตพอลิเอสเตอร์ poly(ethylene terephthalate) จัดเป็นสารที่ควรหลีกเลี่ยงเนื่องจากมีผลก่อมะเร็ง

ขั้นตอนการผลิตเส้นด้าย

            สารเคมีที่ใช้ในขั้นตอนนี้ คือ สารหล่อลื่น (Lubricants) ที่ช่วยลดแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นกับเส้นใยระหว่างการปั่นด้าย สารหล่อลื่นที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นน้ำมัน mineral oil สารหล่อลื่นกลุ่ม polyaromatic hydrocarbons (PAHs) มีผลเป็นสารก่อมะเร็งและเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม จึงควรหลีกเลี่ยงและปัจจุบันถูกห้ามใช้สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่จะนำเข้าสหภาพยุโรป นอกจากน้ำมันหล่อลื่นแล้วยังมีสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการนี้อีกคือสารลดแรงตึงผิว (Surfactants) ที่ใช้ในการเตรียมอิมัลชั่นกับน้ำมัน สารลดแรงตึงผิวประเภท Alcohol ethoxylates (AEOs) และ Alkyl phenol ethoxylates (APEOs) เป็นสารกลุ่มที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในปริมาณที่เกินกว่า 0.1% ตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรป Directive 2003/53/EG  สาร APEOs มีผลต่อระบบฮอร์โมนและเป็นสารที่มีสมบัติตกค้างยาวนาน (persistent) เนื่องจากสลายตัวช้า สามารถสะสมได้ในสิ่งมีชีวิต (Bio-accumulative) โดยส่วนใหญ่มักสะสมในเนื้อเยื่อไขมันและเป็นพิษ นอกจากนี้ยังเป็นพิษต่อสัตว์น้ำหากเจือปนในน้ำทิ้งจากกระบวนการที่ระบายออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ [1]

ขั้นตอนการผลิตผ้าผืน

            กระบวนการผลิตผ้าผืน ได้แก่ กระบวนการทอและกระบวนการถัก สารเคมีที่ใช้เป็นสารที่ทำหน้าที่หล่อลื่น ลดแรงเสียดทานระหว่างกระบวนการทอ และถัก สำหรับกระบวนการทอจำเป็นต้องมีการเคลือบเส้นด้ายยืนด้วยสาร Sizing (Sizing agent) สาร sizing ที่สำคัญนี้มีทั้งสารจากธรรมชาติและสารสังเคราะห์ ได้แก่ แป้ง (Starch) poly(vinyl alcohol) (PVA) และ carboxymethyl cellulose เป็นต้น การเลือกใช้สารเหล่านี้ควรคำนึงถึงความยาก ความง่ายในการกำจัดออกจากผ้าด้วย การใช้แป้งเป็นสาร sizing เมื่อต้องการกำจัดออกมักจะต้องใช้สารเคมีช่วย ในขณะที่การใช้ PVA ซึ่งมีคุณสมบัติละลายน้ำได้ สามารถกำจัดออกได้ง่ายกว่า และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ขั้นตอนการเตรียมผ้า

            กระบวนการเตรียมผ้าก่อนเข้าสู่กระบวนการย้อม ประกอบด้วยกระบวนการที่สำคัญ คือ

            - การลอกแป้ง (Desizing)

            - การทำความสะอาด (Scouring)

            - การฟอกขาว (Bleaching)

            - การชุบมัน (Mercerization) สำหรับเส้นใยฝ้าย

            ประเภทของสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการลอกแป้งขึ้นอยู่กับชนิดของสาร sizing ที่ใช้ในขั้นตอนการลงแป้ง (Sizing) เช่น หากใช้แป้ง (starch) เคลือบเส้นด้าย แป้งมีสมบัติไม่ละลายน้ำเมื่อจะกำจัดออกจึงต้องใช้สารออกซิไดซิง (Oxidizing agent) หรือเอมไซม์อะไมเลสย่อยแป้งออก ถ้าเป็น PVA ก็สามารถกำจัดออกได้ง่ายโดยการต้มในน้ำร้อนเนื่องจาก PVA ละลายน้ำได้

            การทำความสะอาดโดยทั่วไปใช้สารลดแรงตึงผิว (น้ำสบู่) และด่างในการกำจัดสิ่งสกปรกออกจากผ้า สารลดแรงตึงผิวที่ใช้เป็นประเภทประจุลบและไม่มีประจุ ส่วนด่างที่ใช้คือโซเดียมคาร์บอเนต นอกจากนี้ยังมีการใช้สารลดแรงตึงผิวเป็นสารช่วยเปียกด้วย การทำความสะอาดผ้าสามารถทำได้โดยใช้เอนไซม์เช่นกันเพื่อลดการใช้สารเคมี

            กระบวนการฟอกขาวเป็นกระบวนการที่ทำให้วัสดุสิ่งทอมีความขาวเพิ่มขึ้นโดยการใช้สารเคมีช่วย การฟอกขาวถือว่ามีความสำคัญต่อประสิทธิภาพในการย้อมสีวัสดุสิ่งทอโดยเฉพาะการย้อมในเฉดสีอ่อนและการผลิตผ้าขาว สารฟอกขาวที่ใช้มีด้วยกันหลายประเภท สารฟอกขาวประเภทออกซิเดทีฟที่สำคัญ ได้แก่ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide) โซเดียมไฮโปคลอไรต์ (Sodium hypochlorite) โซเดียมคลอไรต์ (Sodium chlorite) ส่วนสารฟอกขาวประเภทรีดักทีฟที่สำคัญ ได้แก่ Sodium hydrosulphite สารฟอกขาวประเภทที่มีคลอรีนโดยเฉพาะ Sodium hypochorite มักก่อให้เกิดสารประกอบ AOX (absorbable organic halogens) ที่ปลดปล่อยออกมาสูง ส่วน Sodium chlorite แม้ว่าจะปลดปล่อยสาร AOX ปริมาณต่ำกว่าแต่ในการฟอกขาวเกิดสาร chlorine dioxide ที่เป็นพิษ ดังนั้นการฟอกขาวจึงนิยมใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ซึ่งไม่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ ส่วน sodium hydrosulphite เป็นสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองและเป็นพิษ [1]

            ในการชุบมันเพื่อเพิ่มความมันเงาและความสามารถในการดูดซับสีย้อมให้กับเส้นใยฝ้าย  มีการใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์หรือโซดาไฟที่มีความเข้มข้นสูง (20 - 30%) โซดาไฟนี้จะเข้าไปทำให้ฝ้ายเกิดการบวมตัวขึ้น แม้ว่าโซดาไฟจะเป็นสารที่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรงแต่ด้วยความเข้มข้นที่สูง ทำให้น้ำทิ้งหลังกระบวนการมีความเป็นด่างสูง ดังนั้นปัจจุบันจึงมีการพัฒนากระบวนการให้สามารถนำโซดาไฟกลับมาใช้ใหม่ได้หรือนำโซดาไฟที่เหลือไปใช้ในกระบวนการอื่นแทนเพื่อลดปัญหาในการบำบัดน้ำเสีย

ขั้นตอนการย้อม และพิมพ์

            สารเคมีหลักที่ใช้ในการย้อม คือ สีย้อม (Dyes) และสารช่วยย้อม (Auxiliaries) เส้นใยสิ่งทอแต่ละชนิดมีสมบัติการย้อมติดสีแตกต่างกัน และในการย้อมสีแต่ละประเภทจำเป็นต้องใช้สารช่วยที่แตกต่างกันด้วย สีย้อมในอุตสาหกรรมสิ่งทอมีด้วยกันหลายประเภท หลักๆ ได้แก่ สีไดเร็กต์ สีรีแอคทีฟ สีแว็ต สีซัลเฟอร์ สีเอโซอิค สีดีสเพิร์ส สีเบสิค และสีแอซิด สีย้อมที่มีโครงสร้างพื้นฐานเป็นเอโซเป็นกลุ่มที่ใช้มากที่สุดในอุตสาหกรรมการย้อมสีสิ่งทอแต่พบว่าเป็นกลุ่มสีที่มีแนวโน้มที่จะก่อการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อมนุษย์ สีย้อมประเภทเอโซบางชนิดที่แตกตัวให้อะโรมาติกเอมีนต้องห้าม สหภาพยุโรปกำหนดห้ามใช้สีย้อมที่ให้สารต้องห้าม (ที่แสดงใน Directive 76/769/EWG) ในปริมาณที่มากกว่า 30 ppm สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่สัมผัสกับร่างกายโดยตรง สีย้อมประเภทที่ประกอบด้วยสารฮาโลเจนในโครงสร้าง ก่อให้เกิดการปลดปล่อยสาร AOX ส่วนสีที่มีโลหะหนักเป็นองค์ประกอบในโครงสร้าง โลหะหนักเหล่านี้อาจเจือปนออกมากับน้ำทิ้งได้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับการผนึกของสีบนเส้นใย [2]

            นอกจากสีย้อมแล้ว ในกระบวนการย้อมยังประกอบด้วยสารช่วยย้อม ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของสีย้อมที่ใช้แล้วแต่กลไกการย้อมที่แตกต่างกัน สีย้อมหลายประเภทจำเป็นต้องใช้เกลือช่วยในการย้อมเพื่อให้สีดูดซับเข้าไปในเส้นใยได้ดีขึ้น เช่น สีไดเร็กต์ สีรีแอคทีฟสำหรับย้อมเส้นใยเซลลูโลส เป็นต้น เกลือที่ใช้ทั่วไปในการย้อมคือเกลือโซเดียมคลอไรด์ และโซเดียมซัลเฟต แม้เกลือจะมีระดับความเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตต่ำแต่หากใช้ในปริมาณมากความเข้มข้นของเกลืออาจสูงจนก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมได้ นอกจากการเติมเกลือแล้ว การย้อมสีรีแอคทีฟยังจำเป็นต้องใช้ด่างเป็นสารช่วยในการผนึกสีด้วย ด่างที่ใช้ ได้แก่ โซเดียมคาร์บอเนต และโซเดียมไฮดรอกไซด์ สำหรับสีย้อมเซลลูโลสกลุ่มที่ไม่ละลายน้ำ ได้แก่ สีแว็ต และสีซัลเฟอร์ เมื่อจะทำการย้อมบนเส้นใยจำเป็นต้องเปลี่ยนโมเลกุลสีให้อยู่ในรูปที่ละลายน้ำได้โดยรีดิวซ์โมเลกุลสีด้วยสารรีดิวซิงเพื่อให้สีสามารถแทรกซึมเข้าไปย้อมติดเส้นใยได้ การย้อมเซลลูโลสด้วยสีซัลเฟอร์ใช้โซเดียมซัลไฟด์เป็นสารรีดิวซิง หลังการย้อมซัลไฟด์จะเจือปนในน้ำทิ้งซึ่งเป็นพิษต่อสัตว์น้ำและทำให้ค่า COD ของน้ำสูงขึ้น สารรีดิวซิงอีกตัวหนึ่งที่ใช้ในกระบวนการย้อม คือ โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ แต่ไม่รุนแรงเท่าซัลไฟด์

            สีแอสิดเป็นสีที่ใช้ย้อมเส้นใยโปรตีน เช่น ไหม สีชนิดนี้จะแตกตัวเป็นประจุลบและเกาะกับประจุบวกบนเส้นใยด้วยพันธะไอออนิก ส่วนสีเบสิกเป็นสีที่ใช้ย้อมเส้นใยอะคริลิค สีเบสิกมีประจุบวกและยึดเกาะกับประจุลบบนเส้นใยด้วยพันธะไอออนิกเช่นกัน มีการใช้สารช่วยย้อมประเภทกรด เช่น กรดอะซิติก เพื่อช่วยปรับ pH ของน้ำย้อม และสาร leveling ลงไปช่วยให้การย้อมสม่ำเสมอ

            สีดีสเพิร์สเป็นสีย้อมสำหรับเส้นใยสังเคราะห์เป็นสีย้อมที่ละลายน้ำได้ต่ำ ดังนั้นจึงต้องเตรียมให้อยู่ในรูปสารที่กระจายอยู่ในน้ำ (Dispersion) เพื่อให้ย้อมติดเส้นใยได้อย่างสม่ำเสมอโดยใช้สารช่วยกระจายหรือ dispersing agent สำหรับการย้อมเส้นใยพอลิเอสเตอร์ด้วยสีดีสเพิร์สที่อุณหภูมิน้ำเดือด มีการใช้สาร Carrier ช่วยให้สีดูดซับเข้าสู่เส้นใยได้ดีขึ้น สาร Carrier ส่วนใหญ่เป็นสารที่ย่อยสลายในธรรมชาติได้ยากและเป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์น้ำ นอกจากนี้ยังมีกลิ่นเหม็นและมีผลต่อความคงทนของสีบนเส้นใย การย้อมแบบนี้จึงถูกแทนที่ด้วยการย้อมโดยใช้อุณหภูมิสูงภายใต้ความดันแทนซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้สาร Carrier

            การให้สีผลิตภัณฑ์สิ่งทอโดยเทคนิคการพิมพ์นั้นสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การพิมพ์สีย้อม และการพิมพ์พิกเมนต์ การพิมพ์สีย้อมมีเทคนิคกระบวนการที่ขึ้นกับชนิดของสีย้อมนั้นๆ ซึ่งสารช่วยที่เติมลงไปหลักๆ ก็จะคล้ายคลึงกับสารช่วยในการย้อม แต่จะมีสารเพิ่มเติมที่สำคัญคือสารข้น หรือ Thickener ซึ่งเป็นสารข้นหนืดที่ใช้ในการเตรียมแป้งพิมพ์ ส่วนการพิมพ์สีพิกเมนต์บนผ้า สีจะถูกยึดติดกับผ้าด้วยสาร Binder การพิมพ์สีพิกเมนต์ด้วยเทคนิค Plastisol เป็นการพิมพ์ลายที่มักทำบนเสื้อยืด การพิมพ์ลายแบบนี้ใช้ผงสีพิกเมนต์ผสมกับสาร PVC และ plasticizer แล้วพิมพ์ติดไปบนผิวผ้าโดย PVC ทำหน้าที่ยึดสีให้เกาะติดกับผ้า สาร Plasticizer ที่ใช้ทั่วไปเป็นสารกลุ่ม Phthalate ซึ่งพบว่ามีอันตรายต่อระบบสืบพันธุ์ของมนุษย์ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย สารกลุ่มนี้จึงเป็นสารต้องห้ามตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรป (Directive 2005/84/EC 1) สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและของเล่นเด็ก [3]

ขั้นตอนการตกแต่งสำเร็จ

            การตกแต่งสำเร็จเป็นกระบวนการปรับสมบัติของวัสดุสิ่งทอโดยใช้สารเคมีหรือกระบวนการเชิงกลเพื่อให้วัสดุมีสมบัติที่พึงประสงค์ตามลักษณะการใช้งาน เช่น การตกแต่งเพื่อทำให้นุ่ม การกันยับ การกันน้ำ การหน่วงไฟ การต้านรังสียูวี และการต้านจุลินทรีย์ เป็นต้น การตกแต่งสำเร็จเชิงเคมีเป็นกระบวนการปรับสมบัติของผ้า (ส่วนใหญ่เป็นผ้าที่ย้อมแล้ว) โดยอาศัยสารเคมีและความร้อนเข้ามาช่วย สารตกแต่งสำเร็จที่ใช้มีหน้าที่ต่างๆ กันไป เช่น เข้าไปช่วยเพิ่มสมบัติตามธรรมชาติบางอย่างของผ้าให้สูงขึ้น สร้างสมบัติใหม่ให้กับผ้า เพิ่มอายุการใช้งานของผ้า หรือทำให้ผ้าคงขนาด เป็นต้น ประเภทของสารเคมีที่ใช้ในการตกแต่งสำเร็จจึงมีด้วยกันหลายประเภทตามลักษณะสมบัติที่ต้องการหลังการตกแต่ง ตัวอย่างการตกแต่งสำเร็จและสารเคมีที่ใช้มีดังนี้

            การตกแต่งสำเร็จผ้าเพื่อให้ดูแลรักษาง่ายสำหรับเส้นใยฝ้ายที่พบบ่อยคือการตกแต่งเพื่อกันยับ สารตกแต่งเพื่อกันยับ (Anti-crease agent) ส่วนใหญ่เป็นสารสังเคราะห์ที่ได้จากยูเรีย เมลามีน และฟอร์มัลดีไฮด์ สารกันยับจะเข้าไปทำหน้าที่เชื่อมขวางระหว่างสายโซ่เซลลูโลสทำให้ผ้าต้านทานต่อการยับได้ดีขึ้น สารตกแต่งเพื่อกันยับบางกลุ่มจะปลดปล่อยฟอร์มัลดีไฮด์ออกมาระหว่างอายุการใช้งานของผ้า ฟอร์มัลดีไฮด์นี้เป็นสารที่อันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้นจึงมีการจำกัดปริมาณของฟอร์มัลดีไฮด์ในผลิตภัณฑ์สิ่งทอ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าเด็ก ซึ่งควรปราศจากฟอร์มัลดีไฮด์  ดังนั้นจึงควรเลือกใช้สารเชื่อมขวางประเภทปราศจากฟอร์มัลดีไฮด์หรือประเภทปริมาณฟอร์มัลดีไฮด์ต่ำ (ปริมาณฟอร์มัลดีไฮด์ในสูตรน้อยกว่า 0.1 %) แต่สารเชื่อมขวางประเภทปราศจากฟอร์มัลดีไฮด์หรือปริมาณฟอร์มัลดีไฮด์ต่ำก็มักมีราคาแพงกว่าและต้องใช้ปริมาณสารในการตกแต่งสำเร็จมากกว่า

            การตกแต่งสำเร็จเพื่อปรับนุ่มวัสดุสิ่งทอ สารปรับนุ่มเป็นสารลดแรงตึงผิวที่ใช้เคลือบผิวเส้นใยและทำให้เส้นใยมีสมบัติด้านผิวสัมผัสซึ่งได้แก่ความนุ่มและทิ้งตัวดีขึ้น สารปรับนุ่มมีด้วยกันหลายประเภท ได้แก่ ประเภทประจุบวก (Cationic softener) ประจุลบ (Anionic softener) ประเภทมีทั้งประจุบวกและลบ (Amphoteric softener) และประเภทไม่มีประจุ (Nonionic softener) แต่กลุ่มที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นสารประเภทประจุบวกซึ่งให้ผลการปรับนุ่มที่ดีที่สุดและมีความคงทนต่อการซักดี [4]

            การตกแต่งเพื่อหน่วงไฟมีจุดประสงค์เพื่อลดความสามารถในการติดไฟและความรุนแรงในการเผาไหม้ของผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรปไม่อนุญาตให้ใช้สารหน่วงไฟ (Flame retardant) ประเภท Tris (2,3-dibromopropyl)-Phosphate(TRIS, CAS No. 126-72-7), Tris (aziridinyl)-Phosphinoxide (TEPA, CAS No. 5455-55-1) และ Polybrominated biphenyls (PBB, CAS No. 59536-65-1) เนื่องจากเป็นสารอันตราย [3]

            จากแต่ละกระบวนการที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าในการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอนั้นจำเป็นต้องใช้สารเคมีด้วยกันหลายประเภท อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีการพัฒนาการผลิตสารเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นพิษต่ำเพื่อใช้ทดแทนสารเคมีกลุ่มที่เป็นอันตราย สารเคมีทดแทนเหล่านี้ถือเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ผลิตที่ต้องการปรับกระบวนการผลิตสิ่งทอให้สอดรับกับกฏระเบียบด้านความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง :

1. Walters, A, Santillo, D. and Johnson, P. 2005. An overview of textiles processing and related environmental concerns. www.greenpeace.to/publications/textiles_2005.pdf

2. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ. 2552. แนวทางการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่ตลาดสหภาพยุโรป. กรุงเทพฯ.

3. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2550. คัมภีร์พิชิตฉลากสิ่งแวดล้อม EU Flower สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอ. กรุงเทพฯ.

4. Schindler, W. D. and Hauser, P. J. 2004. Chemical finishing of Textiles.  Cambridge:Woodhead Publishing.

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Hydrogen peroxide
Sodium hydroxide
Sodium hypochlorite
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:2

เส้นใยหรือที่เรียกว่าฝุ่นเส้นใยก็เป็นเคมีแล้วไม่ใช่รึ ที่เข้าปอดไปน่ะเรียกว่าโรคบีซิโนซิสใช่ป่ะ

โดย:  สัณฑกฤต  [29 ก.ย. 2553 16:37]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:3

แอบมาอ่านของอาจารย์ด้วยค่ะอิอิ        ท้างสวยท้างเก้งเลยนะคะ        ว่าแต่อยากได้ข้อมูลมากกว่านี้ต้องทามไงค่ะ

โดย:  ศุภลักษณ์  [3 ต.ค. 2553 19:24]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 3:4

ได้ความรู้เพิ่มขึ้นค่ะเข้าใจมากขึ้น        ที่จริงหนูคิดว่าสิ่งทอง่ายมากแต่ที่จริงยากมากค่ะ        ยิ่งเรียนยิ่งยากค่ะ        ถ้าต้องการข้อมูลเพิ่มเติมละเอียดกว่านี้ต้องทำไงค่ะ

โดย:  นักศึกษาสิ่งทอราชภัฏบุรีรัมย์  [18 ม.ค. 2554 17:26]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 4:5

รายชื่อ  สารเคมี  และ  กลุ่มสารเคมี     ในบทความนี้        

Antimony oxide    ;    Antimony (III) oxide    ;    Antimony trioxide                    พอลิเอสเตอร์     ;    Polyester    ;    Poly(ethylene terephthalate)    ;    PET                    Mineral Oil                    กลุ่ม  Polyaromatic hydrocarbons  ( PAHs )                   กลุ่ม  Alcohol ethoxylates  ( AEOs )     และ กลุ่ม Alkyl phenol ethoxylates  ( APEOs )                     Starch    ;    แป้ง  ( ซึ่งบังเอิญ ชื่อเดียวกับ เจ้าของความคิดเห็นที่ 1 )                        Poly(vinyl alcohol)    ;    PVA                    Carboxymethylcellulose                   Sodium carbonate                    Hydrogen peroxide                    Sodium hypochlorite                    Sodium chlorite                    Chlorine dioxide                    Sodium hydrosulfite                    Sodium hydroxide

โดย:  นักเคมี  [21 ม.ค. 2554 18:07]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 5:6

อยากทราบเคมีในการต้มเส้นด้ายที่เป็นกลุ่ม Polyester เพื่อลดขนเส้นด้าย และการเพิ่มความเหนียวของเส้นด้าย Cotton ตอนนี้มีปัญหาเรื่องการต้มPolyester มาก ทำออกมาแล้วทอไม่ได้เสียหายเยอะจะแก้ปัญหาอย่างไรดี

โดย:  ภรภัทร  [1 มี.ค. 2554 16:55]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 6:7

อยากทราบข้อมูลมากกว่านี้จะหาได้จากที่ไหน และวิธีการใช้สารเคมี ชนิดของสารเคมีที่ใช้กับผ้าชนิดต่างๆ

โดย:  ผู้ต้องการศึกษา  [1 ก.ค. 2554 14:43]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 7:8

ดีค่ะ

โดย:  จินารี  [27 ก.ค. 2554 18:43]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 8:9

ดีมากเลย


โดย:  โบว์  [13 พ.ย. 2554 10:38]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 9:10

ขอบคุณมากๆเลย

โดย:  เปรี้ยว^^  [18 ก.พ. 2555 11:14]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 10:11

ต้องการซื้อหนังสืออุตหกรรมสิ่งทอจะซื้อได้ที่ไหนค่ะ

โดย:  รง  [21 มี.ค. 2555 15:13]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 11:12

อาจารย์ครับ อยากทราบว่าสารที่ใช้เคลือบเส้นใย POY มีชื่อทางการค้าและทางเคมี มันคือสารอะไรมั่งครับ

โดย:  พจน์  [11 พ.ค. 2555 10:59]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 12:13

พอดีทางเราประมูลน้ำยาเคมีเคลือบเส้นด้ายมาจากโรงงาน อยากรู้ว่าขายได้ไหมค่ะ^^

โดย:  Sunny  [24 ส.ค. 2555 03:41]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 13:14

ก่อให้เกิดสารประกอบ AOX (absorbable organic halogens) ภาษาไทยเรียกว่าสารอะไรค่ะ

โดย:  wanzy  [24 ส.ค. 2555 10:50]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 14:15

ถ้าอยากได้เครื่องฟอก/กรองไอระเหยสารเคมี ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นเหม็นหรือไอระเหยลองไปดูได้ที่ www.estsupply.co.th ค่ะ

โดย:  punvadee  [26 ก.ย. 2555 11:15]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 15:16

You've magnaed a first class post

โดย:  Misael  [27 ก.ย. 2555 22:49]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 16:19

ดีค่ะ อยากทราบเกี่ยวกับสาร คลอรีน ในอุตสาหกรรมสิ่งทอเพิ่มเติมค่ะ

โดย:  Garnsiree  [28 ต.ค. 2555 18:53]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 17:20

ความรู้แน่นดี


โดย:  thekingdom  [22 พ.ย. 2555 21:02]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 18:21

อยากทราบว่าสารเคมีที่มีในสียอ้มผ้ามีอะไรบ้างด่วนมาก

โดย:  ชญกรร  [20 ธ.ค. 2555 09:06]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 19:22

สอบถามว่า ผลิตภัณด้วยสาร Sizing (Sizing Wax for textile)  พอจะหาซื้อได้ที่ใหนค่ะ

โดย:  เอ็มส์แลนด์ กรุ๊ป  [4 ม.ค. 2556 13:21]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 20:23

ทำผ้าบาติก ต้องใช้เวลานานในการเคลือบ โซเดียม ซิลิเกต อยากทราบว่ามีสารเคมีตัวใดบ้างที่ผสมกับสีบาติกเมื่อระบายสิเสร็จแล้วสามารถนำไปล้างผ้าได้เลย ไม่ต้องเคลือบซิลิเกตอีก

โดย:  นครศรี  [14 ม.ค. 2556 10:17]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 21:24

ถ้าทราบช่วยโทรบอกด้วยจักขอบคุณอย่างยิ่ง 0844410624

โดย:  นครศรี  [14 ม.ค. 2556 10:19]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 22:25

อยากกลับไปเรียนใหม่จัง

โดย:  nao  [3 พ.ค. 2556 10:56]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 23:26

อยากทราบเลข Cas no. ของ sizing wax และ acrylic sizing agent ค่ะ
รบกวนด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

โดย:  กมลชนก  [16 ธ.ค. 2557 16:54]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 24:27

อยากทราบว่าผ้าที่เป็นม้วนมันมีอันตรายจากสารเคมีในผ้าโดยทางใดบ้างครับนอกเหนือจากเรื่องบิสสิโนสิสครับ ขอบคุณครับ

โดย:  สมโภช  [24 มิ.ย. 2559 13:54]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 25:29

แป้งสตาร์ชคือแป้งแบบไหนครับ

โดย:  จรัญ  [29 พ.ย. 2559 18:53]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 26:30

หลังจากเราฟอกผ้าขาวแล้วมาensine ได้ไหม่คับ

โดย:  ขอถามหนนอยคับ  [5 ก.ค. 2560 21:04]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 27:31

การตกแต่งเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน มีอะไรบ้างคะ


โดย:  สอบถามหน่อยค่ะ  [22 ต.ค. 2560 10:56]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 28:32

ถ้าคนลงในบ่อบำบัดน้ำเสียครึ่งชั่วโมงจะมีทำให้สารพิษเข่าสู่ร่างกายได้หรือไม่

โดย:  ทัศน์  [18 ม.ค. 2561 20:25]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 29:33

ข้อมูลมากกว่านี้จะหาได้จากที่ไหนครับ

โดย:  flowers  [28 ก.พ. 2562 11:49]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 30:34

อยากทราบสารละลายผ้าคัตตอน  

โดย:  สุ  [2 มิ.ย. 2565 07:52]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น