สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
สาระเคมีภัณฑ์

เสี่ยงเพื่อสวยอาจซวยได้

ผู้เขียน: รศ. สุชาตา ชินะจิตร
วันที่: 14 มิ.ย. 2554

            บทเรียนราคาแพงที่เกิดเพราะความอยากสวย มิใช่มีแค่ค่าใช้จ่ายที่ต้องควักกระเป๋าไปเท่านั้น แต่ยังหมายถึงสุขภาพต่อส่วนของร่างกายที่ถูกกระทบไปด้วย ประเด็นปัญหานี้สะท้อนได้จากความถี่ของข่าวการจับกุมผลิตภัณฑ์เสริมความงามหรือที่อ้างว่าเสริมสุขภาพหลายต่อหลายครั้ง รวมทั้งจากคำถามที่เข้ามาใน โครงการฐานความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี (www.chemtrack.org) แสดงถึงความเสี่ยงของผู้บริโภค เช่น ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อนี้ปลอดภัยหรือไม่กำลังสั่งซื้อทางเว็บไซต์ ผลิตภัณฑ์นี้มีสารต้องห้ามหรือไม่ ได้ใช้ผลิตภัณฑ์นี้แล้วมีอาการต่างๆ จะอันตรายหรือไม่ บทความนี้จึงขอนำปัจจัยเสี่ยงในผลิตภัณฑ์เสริมความงามหรือเสริมสุขภาพมาเพื่อพิจารณาให้ผู้บริโภคตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะเสี่ยงหรือไม่

            ครีมหน้าขาว ยอดฮิตติดอันดับเรื่องข่าวการจับกุม และคำถามมายัง www.chemtrack.org สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ประกาศห้ามใช้กลูตาไธโอน (Glutathione) ในการทำให้ผิวขาวโดยหวังว่าสารนี้จะไปลดการทำงานของเอนไซม์ในการสร้างเม็ดสีเมลานิน ทางการแพทย์ใช้กลูตาไธโอน ในการรักษามะเร็งตับและตับอักเสบ หรือในกรณีฉุกเฉิน เช่น หัวใจขาดเลือด แต่การใช้อย่างไม่ถูกวิธีก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ความดันต่ำ ตับถูกทำลาย อาจถึงตายได้ การฉีดกลูตาไธโอนครั้งแรกจะดูเหมือนได้ผลทันตาเห็น และยังต้องใช้ต่อไปอีก 3 - 5 สัปดาห์

            ผลิตภัณฑ์ผสมสารขจัดสีผิวหรือทำให้ผิวขาว ทำงานได้โดยการยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีโดยไม่ทำให้ผิวตาย เคยมีการใช้ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) และกรดเรติโนอิก (Retinoic acid) ในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ แต่มีผลข้างเคียง กล่าวคือ ไฮโดรควิโนน ถูกอากาศออกซิไดซ์ กลายเป็นสีน้ำตาล ในที่สุดหน้าแทนที่จะขาวกลับดำคล้ำ ส่วนกรดเรติโนอิก ก็ทำให้ระคายเคืองผิวหนังแสบแดง ซึ่งถูกห้ามใช้แล้วในเครื่องสำอางแต่อาจอยู่ในรูปของยารักษาฝ้า

            โบทอกซ์ (Botox) ซึ่งดูเหมือนจะใช้ได้อย่างปลอดภัย แต่ก็ยังไม่วายเสี่ยงต่ออันตรายหากใช้ผิดๆ หรือใช้โดยผู้ไม่เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ การฉีดเข้าร่างกายผิดที่ ผิดส่วน เพื่อลดริ้วรอยเหี่ยวย่น แทนที่จะสวย หน้าอาจจะบิดเบี้ยว หนังตาปิด แม้จะใช้ได้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ยังต้องมีค่าใช้จ่ายสูงแล้วแต่บริเวณที่ใช้ ราคาตั้งต้นเริ่มที่ 6,000 บาท และยังต้องตามจ่ายทุกครั้งที่มีการติดตามประมาณทุก 6 เดือน โบท็อกซ์ คือ สารพิษ โบทูลินัม ท็อกซิน (Botulinum toxin) ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียตามธรรมชาติ มีผลต่อระบบประสาทโดยไปยับยั้งการหลั่งอะเซทิลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งเกี่ยวกับการรับส่งสัญญาณของเส้นประสาททำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตชั่วคราว

            ขนตาปลอม สร้างความระคายเคือง กาวที่ใช้และความไม่สะอาดของขนตาปลอมเป็นอันตรายต่อตาได้ นอกจากอยากให้ตาดูคมเข้มด้วยขนตาปลอมแล้ว ยังมี คอนเทคเลนส์ตาโต ที่วัยรุ่นนิยมใช้อีก ปกติการใช้คอนเทคเลนส์เพื่อสายตาก็ต้องระวังเรื่องความสะอาดของเลนส์และการดูแลการใส่ถอดเลนส์อยู่แล้ว แต่เลนส์ตาโต หรือตาสีต่างๆ นี้ มีขายกันเกร่อ ซึ้อใช้ได้ทั่วไป ตัวสินค้ามีมาตรฐานเพียงใดไม่มีใครบอกได้ การใช้อย่างไม่ระมัดระวัง และไม่จำเป็นทำให้เสี่ยงต่อตาบอดได้

            การต่อเล็บ ทาเล็บ ต้องมีการใช้กาว และน้ำยาล้าง ซึ่งอาจสร้างความระคายเคืองต่อผิวหนังได้

            ลวดดัดฟัน กลายมาเป็นแฟชั่นที่นิยมกัน จึงมีผลิตภัณฑ์ออกมาขายเพื่อแฟชั่นสวยงามมากกว่าการจัดฟันตามเป้าหมายเดิม มีคำเตือนอันตรายจากลวดดัดฟันที่มีขายกันทั่วไปว่า มักเป็นลวดราคาถูก และไม่ได้ใช้โดยทันตแพทย์ ปลายลวดแหลมจะทิ่มแทงกระพุ้งแก้มเกิดการติดเชื้อ ทั้งสีของลูกปัดและโลหะหนัก (ตะกั่ว พลวง โครเมียม อาร์เซนิก) อาจถูกน้ำลายละลายออกมาเข้าไปสะสมในร่างกาย โลหะหนักมีผลเกิดพิษระยะยาว

            ผลิตภัณฑ์อีกกลุ่มหนึ่งที่อันตราย คือ ผลิตภัณฑ์ที่ขายแบบเป็นอาหารเสริมเพื่อช่วยลดน้ำหนัก ผู้ร้ายในผลิตภัณฑ์ที่เป็นข่าวขึ้นมา คือ ไซบูทรามีน (sibutramine) ซึ่งเป็นยาควบคุมพิเศษในกลุ่มลดความอยากอาหาร ไซบูทรามีน มีฤทธิ์ในการเร่งการเผาผลาญของร่างกาย เกิดผลข้างเคียงคือ ปากคอแห้ง หัวใจสั่น ผู้บริโภคได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์นี้ทางเว็บไซต์และได้เสียชีวิตจากการรับประทานเข้าไป

            เมื่อมีความรู้ตรงนี้แล้ว ก่อนจะอยากสวยแล้วไปซื้อผลิตภัณฑ์มาใช้ ตั้งคำถามกับตัวเองว่า พร้อมที่จะจ่าย และพร้อมที่จะเสี่ยงต่ออันตรายกับตัวเองหรือไม่ ผู้บริโภคมักจะโน้มเอียงไปเชื่อเพื่อนที่ใช้แล้วได้ผล แต่ไม่เคยได้ยินส่วนที่ผิดพลาด ความอยากสวยทำให้เชื่อคำโฆษณา ซึ่งให้ข้อมูลข้างเดียว โดยเฉพาะการโฆษณาขายทางเว็บไซต์ ซึ่งทำได้ง่ายมาก การได้รับข้อมูล หรือคำโฆษณาบ่อยๆ ทำให้เกิดความเชื่อขึ้นมา มากกว่านั้นคือ การสร้างค่านิยมใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดตลาดสินค้าประเภทเสริมความงามเหล่านี้ได้ เช่น ขาวแล้วสวย หลักคิดง่ายๆ หากจะใช้เพื่อพิจารณา คือ

            1. ผลิตภัณฑ์ที่ฉีดเข้าไปในร่างกายย่อมอันตราย มากกว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้บนผิว

            2. ตรวจสอบฉลากของผลิตภัณฑ์ เพราะเครื่องสำอางต้องขึ้นทะเบียน อย.และบอกส่วนประกอบสำคัญ

            3. ตรวจสอบว่าไม่มีสารต้องห้าม ซึ่งตรวจได้จากประกาศ อย. ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (การใช้สารป้องกันแสงแดด วัตถุกันเสีย สี วัตถุห้ามใช้ ฯลฯ)

            4. ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียน อย. แล้ว

            5. ติดตามข่าวคราวการจับกุมผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย

ข่าวประชาสัมพันธ์ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา :

http://elib.fda.moph.go.th/fulltext2/word/41924/41924.pdf

http://www.moph.go.th/show_hotnew.php­idHot_new=30587

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Arsenic
Botulinal toxins
Chromium
Glycolic acid
Hydroquinone
Lead
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:9

Way to go on this essay, hlpeed a ton.

โดย:  Pablo  [27 ก.ย. 2555 23:28]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น