สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
สาระเคมีภัณฑ์

อาบคลอรีนเพื่อผิวขาว...ดีจริงแล้วหรือ?

ผู้เขียน: เจต พานิชภักดี
วันที่: 26 ส.ค. 2556

           สีผิวที่แตกต่างกันในแต่ละคนนั้น โดยสาเหตุส่วนใหญ่แล้ว เกิดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีเมลานิน (melanin) ที่ถูกสร้างโดยเซลล์เมลาโนไซต์  (melanocyte) บริเวณภายใต้ผิวหนัง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวมีผลเนื่องมาจาก ผลของการเปลี่ยนแปลงทางเอนไซม์ที่ทำหน้าที่กระตุ้นหรือยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานิน โดยทั่วไปเอนไซม์ที่มีผลสำคัญต่อการเกิดสีผิวนั้น มีหลายชนิดด้วยกัน อาทิเช่น เอนไซม์ไทโรซีเนส (tyrosinase), เอนไซม์กลูตาไธโอน (glutathione),  เอนไซม์ D. tautomerase, D.polymerase และเอนไซม์ D.peroxidase  ดังนั้นการใช้ผลิตภัณท์ที่มีฤทธิ์กระตุ้นหรือยับยั้งกระบวนการดังกล่าวจึงส่งผลโดยตรงต่อการสร้างเม็ดสีของผิว นอกจากนั้นการหลีกเลี่ยงแสงแดดซึ่งเป็นตัวการกระตุ้นการสร้างเอนไซม์ไทโรซีเนส ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สร้างเม็ดสีทำให้ผิวดูคล้ำ และการใช้สารเคมีที่ช่วยในการผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว (Exfoliate) ให้หลุดไป (เช่น กรด AHA และกรดผลไม้ เป็นต้น) ก็มีส่วนสำคัญต่อการทำให้ผิวนั้นดูเหมือนขาวขึ้นได้เช่นกัน แล้วคลอรีนหละ?

           คลอรีน (Chlorine) เป็นสารเคมีที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในอุตสากรรมต่างๆ อาทิเช่น ด้านการเกษตร, อุตสาหกรรมเคมี และสาธารณสุข เป็นต้น ด้วยคุณสมบัติที่เป็นตัวออกซิไดซ์ (oxidizing agent) ที่รุนแรงและมีราคาถูกจึงนิยมนำมาใช้เป็นสารเคมีสำหรับ ผลิตสารฟอกขาวหรือ สารฆ่าเชื้อโรคโดยเติมลงในน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค โดยทั่วไป คลอรีนที่ใช้ในปัจจุบัน มีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ

           1. ก๊าซ (gas) ได้แก่ ก๊าซคลอรีน

           2. ของเหลว (liquid) ได้แก่ โซเดียมไฮโปคลอไรด์ (Sodium Hypochlorite) หรือ คลอรีนน้ำ, คลอรีนเหลว (Liquid Chlorine), น้ำยาฟอกขาว (Liquid Calcium Hyporchlorite)

           3. ของแข็ง (solid) ได้แก่ แคลเซียมไฮโปคลอไรด์ (Calcium Hyporchlorite), โซเดียมไดคลอโร ไอโซไซยานูเรท (Sodium dichloroisocyanurate, DCCNa), ไตรคลอโร ไอโซไซยานูริคเอซิด (Trichloroisocyanuric acid)

           รูปแบบของคลอรีนที่นิยมนำมาใช้ในภาคครัวเรือนหรือตามความเชื่อที่นำมาใช้กับการอาบน้ำนั้น จัดเป็นคลอรีนที่อยู่ในรูปแบบของเหลวหรือของแข็ง และเมื่อนำคลอรีนดังกล่าวมาละลายน้ำ คลอรีนจะแตกตัวได้เป็นสาร ไฮโปคลอไรด์ไอออน (Hypochlorite ion; OCl-) ที่สามารถจับกับตะกอนแขวนลอยที่มีอยู่ในน้ำได้ และยังได้สารไฮโปคลอรัส เอซิด (Hypochlorous acid; HOCl ) ที่มีปริมาณที่น้อยกว่า แต่มีประสิทธิภาพการเป็นตัวออกซิไดซ์ที่รุนแรงกว่า ไฮโปคลอไรด์ ไออน

           การอาบน้ำด้วยน้ำที่ผ่านการเติมคลอรีนตามความเชื่อที่อ้างว่าทำให้ผิวขาวขึ้นได้นั้น  หลายคนที่ลองพบว่าไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงของสีผิวและเกิดอาการผิวแห้งตามมาในภายหลัง ในขณะที่บางส่วนอ้างว่าเมื่อใช้เป็นประจำทุกวันติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน พบว่าสีผิวมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเกิดการหลุดลอกของเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว (หรือขี้ไคล) ในปริมาณมาก และมีผิวแห้งตามมาด้วยเช่นกัน ซึ่งโดยธรรมชาติของการมีผิวที่ขาวนั้นขึ้นอยู่กับกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลามินบริเวณภายใต้ผิวหนังเป็นหลัก ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น และเมื่อพิจารณาโดยธรรมชาติของคลอรีนแล้ว คลอรีนมีสมบัติเป็นตัวออกซิไดซ์ที่รุนแรง มีฤทธิ์กัดกร่อน และจับกับโปรตีนบนผิวหนังได้ดี ดังนั้น เมื่อร่างกายสัมผัสกับคลอรีน (ในปริมาณความเข้มข้นต่ำๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว) คลอรีนจะปกคลุมผิวและดึงความชุ่มชื้นออกจากผิวได้ดี และเมื่อผิวหนังสัมผัสกับคลอรีนบ่อยครั้งติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน ก็จะส่งผลให้ผิวแห้งและมีผิวที่แก่ก่อนวัยอันควรได้

 

หมายเหตุ * ppm = part per million (ส่วนในล้านส่วน)

           ทั้งนี้ สำหรับบางคนที่ใช้แล้วเห็นผลว่าทำให้ผิวขาวขึ้นนั้น อาจเป็นไปได้ว่าคลอรีนในน้ำบางส่วนจับกับเซลล์ที่ตายแล้วและโปรตีนบนผิวหนัง ทำให้เกิดการหลุดลอกของเซลล์ผิวที่ตาย ซึ่งโดยทั่วไปในน้ำประปาจะผ่านการเติมสารคลอรีน ให้มีปริมาณสารคลอรีนคงเหลือในความเข้มข้นที่ปลอดภัยต่อการอุปโภคและบริโภค คือ ระหว่าง 0.2-0.5 มิลลิกรัม/ลิตร (ตามมาตรฐานสากล) แต่เมื่อมีการเติมคลอรีนลงในน้ำสำหรับอาบเพิ่มเติม ความเข้มข้นของคลอรีนก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการสัมผัสหรือสูดดมคลอรีนที่มีความเข้มข้นที่สูงนั้น สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ตามตารางดังต่อไปนี้

           นอกจากนั้นแล้ว มีบทความวิชาการรายงานไว้ว่า การเกิดปฏิกริยาระหว่างสารคลอรีนในน้ำกับสารอินทรีย์ที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ สามารถก่อให้เกิดสารกลุ่มไตรฮาโลมีเทน (Trihalomethane; THM) และสารกลุ่มไตรคลอโรเอทิลีน (Trichloroethylene; TCE) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ 

           ดังนั้น การเติมคลอรีนลงในน้ำสำหรับอาบเพื่อให้มีผิวที่ขาวนั้น เป็นการใช้สารเคมีที่ผิดวัตถุประสงค์ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อผิวและร่างกาย ซึ่งความเป็นอันตรายดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณความเข้มข้นของคลอรีนในน้ำ นอกจากนั้น สารคลอรีนที่ซื้อมาเพื่อใช้ผสมกับน้ำอาบนั้น ส่วนใหญ่มีความเข้มข้นสูง หากผู้ใช้ไม่ระมัดระวังในการจัดเก็บและใช้ก็สามารถก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงขึ้นได้

 เอกสารอ้างอิง :

1.
http://www.womanandkid.com/index.php/womanhealth/8-healthknowledge/120-melanin-biosynthesis-pathway

2. http://www.worldchemical.co.th/articles_show.php?art_id=12

3. www.PurifyMyWater.com/article2.pdf

4. Winder, C. (2001). The Toxicology of Chlorine. Environmental Research Section A, 85, 105-114

 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

ทําไมคอรีนถึงทามไห้ผิวเเห้งได้เเละ

โดย:  ลาลาลิช  [19 ส.ค. 2557 18:23]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

ทําไมผิวต้องเเห้งด้วยละค่ะ

โดย:  บิวตี้  [26 ส.ค. 2557 19:08]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 3:3

ทำไมคลอรีน ทำให้ผิวแห้ง ทำไมถึงไม่อ่านให้มันละเอียดกันละครับ
"คลอรีนในน้ำบางส่วนจับกับเซลล์ที่ตายแล้วและโปรตีนบนผิวหนัง ทำให้เกิดการหลุดลอกของเซลล์ผิวที่ตาย"
แน่นอนว่าเมื่อเซลล์ผิวหนังชั้นหนังกำพร้าหลุดออก มันก็เลยมีส่วนหนังแท้มาแทน ส่วนนี้ถ้าจำไม่ผิดมันจะไม่มีอะไรปกป้อง เลยทำให้ผิวส่วนที่แห้งนั้นก็คือผิวหนังแท้

โดย:  งง  [5 ม.ค. 2558 10:41]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 4:4


ชื้อคอลีนมา ผสมน้ำอาบ ใส่กระปุ๊กใว้น้ำเข้าเลยทำให้คอลีนพองฟูขึ้น มันจะเสียไหมค่ะ ใช้ต่อได้หรือเปล่าว แต่กลิ่นยังเหมือนเดิมค่ะ ขอบคุณค่ะ

โดย:  กัล  [24 พ.ค. 2561 07:29]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 5:5

จะเป็นอันตรายต่อผิวหนังไหมครับ

โดย:  มอส  [5 ก.ย. 2562 22:54]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 6:6

อาบน้ำประปาแล้วคันๆ และผิวแห้ง

โดย:  สุจิตรา ทองท่า  [9 พ.ย. 2564 09:13]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น