สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
นาโนเทคโนโลยี และความปลอดภัย

การสัมผัสอนุภาคนาโนทางผิวหนัง

ผู้เขียน: ดร. สุพิณ แสงสุข
หน่วยงาน: สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่: 26 ส.ค. 2553

อนุภาคนาโนของโลหะ

            เนื่องจากอนุภาคซิลเวอร์นาโนมีการใช้งานในสิ่งทอ และผ้าปิดแผล ทำให้อนุภาคซิลเวอร์นาโนมีโอกาสสัมผัสทางผิวหนังได้โดยตรง ดังนั้นจำเป็นต้องศึกษาถึงการสัมผัสกับอนุภาคซิลเวอร์นาโนถึงความสามารถซึมผ่านผิวหนัง และความเป็นพิษ (Tian et al. 2007, Vlachou et al. 2007, Trop et al. 2006, Chang et al. 2006, Lansdown 2007 in Luoma 2008)

            การทดสอบความเป็นพิษของอนุภาคซิลเวอร์นาโนผ่านทางผิวหนัง เป็นการทดสอบโดยใช้ผ้าปิดแผลที่มีอนุภาคซิลเวอร์นาโนอยู่กับคนไข้แผลไฟไหม้ ผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่าผ้าปิดแผลที่มีซิลเวอร์นาโนอยู่ให้ผลในการรักษาแผลไฟไหม้ได้ดีกว่ายาปฏิชีวนะ พวก amoxicillin และ metronidazole อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงที่พบจาการใช้ผ้าปิดแผลที่มีซิลเวอร์นาโน คือการเกิดสีเทาที่ผิวหนัง หรือที่เรียกว่า อาร์ไจเรีย (argyria) (Trop et al. 2006) ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อย เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีซิลเวอร์นาโนเป็นองค์ประกอบ ซึ่งสีผิวที่เปลี่ยนไปเป็นผลมาจากการสะสมของ ซิลเวอร์ในผิวหนัง (Chang et al. 2006) เป็นที่ทราบกันดีว่าบริเวณที่ถูกแสงแดด (เช่น มือและหน้า) มักทำให้เกิดสีได้ง่าย ในสภาวะเช่นนี้เป็นลักษณะของสารประกอบที่ไวแสง หรือความเป็นไปได้อีกทางหนึ่ง คือการได้รับแสงยูวีของซิลเวอร์ไอออนที่อยู่ในผิวหนัง ทำให้เกิดกระบวนการโฟโต้รีดักชันไปเป็นโลหะเงิน ทำให้สีของผิวหนังเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คล้ายกับปฏิกิริยาซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการล้างรูป (Chang et al. 2006 and Luoma 2008)

อนุภาคนาโนของโลหะออกไซด์

            ผลกระทบของการได้รับโลหะออกไซด์ต่อผิวหนัง  เนื่องจากการเติมอนุภาคนาโนของไทเทเนียมไดออกไซด์ (TiO2) และซิงก์ออกไซด์ (ZnO) ในครีมกันแดดและเครื่องสำอางค์ซึ่งใช้โดยตรงกับผิว ดังนั้นการซึมผ่านไปในผิวหนัง และความเป็นพิษต่อผิวจึงเป็นเรื่องที่มีการศึกษาอย่างมาก (Mavon et al. 2007, Schulz et al. 2002 and Kiss et al. 2008) ซึ่งผิวโดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังกำพร้าเป็นด่านแรกในการป้องกันการซึมผ่านของอนุภาค ผลการศึกษาการซึมผ่านของอนุภาคนาโนของไทเทเนียมไดออกไซด์ พบว่าอนุภาคนาโนของไทเทเนียมไดออกไซด์ไม่ซึมผ่านไปยังชั้นผิวแท้ แสดงว่าหนังกำพร้าทำหน้าที่ในการปกป้องการซึมผ่านของอนุภาคนาโนของไทเทเนียมไดออกไซด์ได้ อย่างไรก็ตามงานวิจัยต่อไปควรศึกษาถึงความเสี่ยงของการใช้อนุภาคนาโนของไทเทเนียมไดออกไซด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครีมกันแดดต่อสภาพผิวที่ไหม้ ผิวที่บาดเจ็บหรือผิวที่เป็นโรค

เอกสารอ้างอิง :

Chang, A.L.S., Khosravi, V. and Egbert, B. 2006, “A case of argyria development after colloidal silver digestion”, J Cut Pathol, vol. 33, no. 12, pp. 809-811.

Kiss, B., Brio, T., Czifra, G., Toth, B.I., Kertesz, Z., Szikszai, Z, Kiss, A.Z., Juhasz, I., Zouboulis, C.C. and Hunyadai, J. 2008, “Investigation of micronized titanium dioxide penetration in human skin xenografts and its effects on cellular functions of human skin-derived cells”, Exp Dermatol, vol. 17, no. 8, pp. 659-667.

Luoma, S. N. 2008, Silver Nanotechnologies and The Enviroment : Old Problems or New Challenges, The Pew Charitable Trusts and the Woodrow Wilson International Center for Scholars.

Mavon, A., Miquel, C., Lejeune, O., Payre, B. and Moretto, P. 2007, “In vitro percutaneous absorption and in vivo stratum corneum distribution of an organic and a mineral sunscreen”, Skin Pharmacol Physiol, vol. 20, no.1, pp. 10-20.

Schulz, J. Hohenberg, H., Pflucker, F., Gartner, E., Will, T., Pfeiffer, S., Wepf, R., Wendel, V., Gers-Berlag, H. and Wittern, K.P. 2002, “Distribution of sunscreen on skin”, Adv Drug Del Rev, vol.54, no.1, pp. S157-S163.

Tian, J., Wong, K.K., Ho, C.M., Lok, C.M., Yu, W.Y., Che, C.M., Chiu, J.F. and Tam, P.K. 2007, “Topical Delivery of Silver Nanoparticles Promotes Wound Healing”, Chem Med Chem, vol.2, no.1, pp. 129-136.

Trop, M., Novak, M., Rodl, S., Hellborn, B., Kroell, W., Goessler, W., 2006, “Silver coated dressing Acticoat caused raised liver enzymes and argyria-like symptoms in burn patient”, J. Trauma, vol.60, no.3, pp.648-652.

Vlachou, E., Chipp, E., Shale, E., Wilson, Y.T., Papini, R. and  Moiemen, N.S. 2007, “The safety of nanocrystalline silver dressings on burns : A study of systemic silver absorption”, Burns, vol. 33, no. 8, pp. 979-985.

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
นาโนเทคโนโลยี และความปลอดภัย - การสูดหายใจอนุภาคนาโนเข้าสู่ร่างกาย
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:7

อยากทราบปฎิกิริยาการเกิดสีของซิลเวอร์นาโนครับ ว่ามีปฏิกิริยาเป็นอย่างไร ทำไมถึงทำไห้เกิดผิวสีได้ครับ


โดย:  Atom  [7 ก.ค. 2556 13:45]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น