สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

อย. เข้มผู้ประกอบการเบเกอรีติดฉลากขนมภายใน 6 เดือน

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
วันที่: 27 ก.พ. 2551

            อย. ติวเข้มร้านเบเกอรีติดฉลาก หลังตรวจพบใส่วัตถุกันเสียเกินมาตรฐาน นำขนมหมดอายุมาแบ่งขายให้เด็ก มีเส้นผมเพราะผลิตไม่ได้มาตรฐาน เร่งให้ความรู้สร้างความเข้าใจผู้ประกอบการ ขีดเส้นให้ปรับปรุงภายใน 6 เดือน หากไม่ดำเนินการระวางโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท
       
            นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นประธานเปิดงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพของการกำกับดูแฉลากอาหารประเภทผลิตภัณฑ์เบเกอรี โดยมีผู้ประกอบการเบเกอรีในเขต กทม.และปริมณฑลเข้าร่วมกว่า 200 คน ทั้งนี้ ยังได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ในกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงผู้แทนจากกรุงเทพมหานครเข้าร่วมรับทราบนโยบายและข้อกำหนดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการกำกับดูแลในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
       
            นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารเบเกอรี ทั้งขนมปัง และผลิตภัณฑ์ขนมอบ มีแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจมากขึ้น อันเนื่องมาจากความนิยมของผู้บริโภค แต่กลับพบว่าทั่วประเทศมีผู้ประกอบการมาขึ้นทะเบียนขออนุญาตก่อตั้งสถานที่ผลิตอย่างถูกต้องกับอย.เพียง 300 - 400 แห่งเท่านั้น ซึ่งจากการสุ่มตรวจขนมเบเกอรีที่ไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนกับอย.พบว่า มีผู้ประกอบการบางรายใช้วัตถุเจือปนอาหารเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด โดยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 84 (พ.ศ.2527) และฉบับที่ 119 (พ.ศ.2532) อนุญาตให้ใช้ได้ โดยกรดโปรปิโอนิก โซเดียมโปรปิโอเนต หรือแคลเซียมโปรปิโอเนต ซึ่งใช้ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราทำให้ขนมปังมีอายุการเก็บรักษาเหมาะสมขึ้นอยู่กับชนิดขนมปัง ใช้ได้ไม่เกิน 0.2% ขณะที่ปริมาณที่เหมาะสมสำหรับขนม คือ 0.15%
       
            นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาที่พบบ่อยเกี่ยวกับธุรกิจเบเกอรี ได้แก่ การแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมายเนื่องจากเบเกอรีจัดเป็นอาหารประเภทที่ 3 ตามพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 จะต้องมีการแสดงฉลากอาหารที่ได้มาตรฐาน โดยหลักๆ จะต้องประกอบด้วย เลขสารบบอาหารหรือเลข อย., วันที่ผลิตและวันหมดอายุ, ส่วนประกอบของอาหาร และที่อยู่สถานที่ผลิต นอกจากนี้ ยังพบการปนเปื้อนของสิ่งแปลกปลอม เช่น เส้นผม จากการที่มีสถานที่ผลิตไม่ได้มาตรฐานและการนำขนมอบที่หมดอายุมาเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์แล้วแบ่งขายให้กับเด็ก โดยอ้างว่าขายเพื่อให้เป็นอาหารสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในเด็กต่างจังหวัด ทั้งนี้ อาจเนื่องจากผู้ประกอบการขาดความรู้ความเข้าใจ ในข้อกำหนดของกฎหมายหรือเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือขาดการสนับสนุนด้านวิชาการและเงินทุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
       
            "ธุรกิจเบเกอรีขยายจากที่เป็นเพียงธุรกิจในครัวเรือนมีการวางขายหน้าร้านมาเป็นการส่งขายไปยังสถานที่ต่างๆ มากขึ้น ซึ่งเมื่อขยายเป็นธุรกิจไม่ได้จำหน่ายกับลูกค้าโดยตรงก็ต้องมีฉลาก แสดงส่วนผสม ว่ามีสารต้องห้ามเจือปนหรือไม่ ดังนั้น เมื่อตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนก็ไม่สามารถสืบต้นต่อที่มาได้ว่าซื้อมาจากที่ไหน" นพ.นิพนธ์กล่าว
       
            นพ.นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการหลายรายยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจ จึงได้จัดอบรมเพิ่มเติมความรู้ โดยยังไม่บังคับใช้กฎหมายเพราะไม่ได้มองผู้ประกอบการเป็นจำเลยหรือผู้ร้ายแต่ต้องการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมาขออนุญาตทำฉลากให้ถูกต้อง มีการพัฒนาปรับปรุงร่วมกัน ภายในเวลา 6 เดือน เชื่อว่าธุรกิจเหล่านี้จะมีการปรับปรุงที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่แสดงฉลากอาหารจะต้องระวังโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท
       
            "ขอแนะนำให้ผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์เบเกอรีจากร้านที่ผลิตใหม่ทุกวัน โดยสังเกตจากวันเดือนและปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุการบริโภครวมทั้งลักษณะและภาชนะบรรจุของผลิตภัณฑ์ ก่อนซื้อมารับประทานเพื่อความปลอดภัย และการมีสุขภาพที่ดี" นพ.นิพนธ์ กล่าว


ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ประจำวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551

 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น