สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

พบวิธีเจือจางสารพิษในสบู่ดำ

ผู้เขียน: หนังสือกรุงเทพธุรกิจ
วันที่: 11 เม.ย. 2551

            สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ศึกษาหาเทคนิคลดสารพิษในกากสบู่ดำ เผยน้ำปูนใสและความร้อนมีคุณสมบัติล้างพิษได้ ด้านมหาวิทยาลัยมหิดลทดสอบยืนยันความปลอดภัยในหนูทดลอง หนุนชุมชนใช้ประโยชน์จากสบู่ดำผลิตอาหารสัตว์จนถึงเครื่องสำอาง

            สบู่ดำถือเป็นพืชความหวังในการผลิตไบโอดีเซล เนื่องจากเป็นพืชพลังงานโดยตรง ไม่ใช่พืชอาหาร ทุกส่วนของสบู่ดำสามารถใช้ประโยชน์ได้ครบ โดยเฉพาะกากที่เหลือจากการหีบน้ำมัน ซึ่งมีค่าไนโตรเจนสูง เหมาะที่จะเป็นส่วนผสมของปุ๋ยและอาหารสัตว์ แต่กากสบู่ดำมีสารพิษชื่อเลคตินและเคอร์ซิน ซึ่งก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง คลื่นไส้ อาเจียนตลอดจนเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้การนำมาใช้ประโยชน์ดังกล่าว มีข้อกังวลถึงความปลอดภัย

            ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงให้ทุนสนับสนุนนักวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ศึกษาวิเคราะห์ค่าความเป็นพิษ และวิธีลดปริมาณสารพิษในเมล็ดและกากสบู่ดำ เพื่อความปลอดภัยในการนำไปใช้ในชุมชน

            "นอกจากจะศึกษาความเป็นไปได้ที่จะปลูกสบู่ดำเป็นพืชพลังงาน ด้วยการปรับปรุงพันธุ์ และผลผลิตต่อไร่แล้ว การศึกษาค่าความเป็นพิษของสบู่ดำก็ได้รับความสนใจ เนื่องจากสบู่ดำสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและสบู่ได้" ดร.อัญชนา พัฒนสุพงษ์ นักวิจัย (วว.) กล่าว

            จากการศึกษาพบว่า การใช้สารเคมีอย่างปูนใสร่วมกับความร้อน สามารถเจือจางสารพิษในสบู่ดำได้กว่า 80% และจากการทดสอบนำกากสบู่ดำที่ผ่านการเจือจางพิษเป็นอาหารของหนูทดลอง พบว่ามีความปลอดภัย อวัยวะภายในไม่ถูกทำลายและไม่มีพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม การศึกษาพิษสบู่ดำยังต้องดำเนินการต่อไปในสัตว์ทดลองชนิดอื่น ที่มีการรับรู้ทางผิวหนังได้ไวกว่าหนู เช่น กระต่าย เพื่อศึกษาการระคายเคืองต่อผิวหนัง

            ด้าน รศ.ดร.วีณา จิรัจฉริยากูล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งศึกษาพิษของสบู่ดำเช่นกัน โดยทดสอบการระคายเคืองต่อผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังของหนูทดลอง เมื่อทาด้วยน้ำมันสบู่ดำที่ผ่านความร้อน 80 องศาเซลเซียส เปรียบเทียบกับน้ำมันข้าวโพด พบว่ามีความปลอดภัยระดับหนึ่ง

            นักวิจัยจากรั้วมหิดลมีคำแนะนำเบื้องต้น เพื่อความปลอดภัยสำหรับการผลิตไบโอดีเซลจากสบู่ดำในระดับชุมชน ควรระมัดระวังไม่ให้น้ำมันกระเด็นเข้าตา และสวมถุงมือขณะหีบน้ำมันจากเมล็ดสบู่ หากต้องการนำสบู่ดำมาผลิตเป็นสบู่หรือเครื่องสำอาง ควรนำเมล็ดสบู่ดำไปผ่านความร้อน ด้วยวิธีการอบเพื่อลดค่าความเป็นพิษตกค้าง


ที่มาของข้อมูล : หนังสือกรุงเทพธุรกิจ ประจำวันที่ 11 เมษายน 2551 

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Nitrogen
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

อยากทราบขั้นตอนการลดสารพิษครับ

โดย:  รุ่งวิทย์  [27 พ.ค. 2551 10:54]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น