สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

จุฬาฯ วิจัยแบคทีเรียบนใบไม้ ย่อยสลายสารพิษในบรรยากาศ

ผู้เขียน: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่: 15 เม.ย. 2551

            ปัจจุบันสารเคมีอันตรายที่สะสมตกค้างอยู่ในบรรยากาศ เป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ “ฟีแนนทรีน” เป็นสารประกอบในกลุ่มของสารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ซึ่งจัดเป็นมลพิษทางอากาศมีที่มาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในรถยนต์และจากโรงงานอุตสาหกรรม จากการศึกษาพบว่าใบไม้นอกจากจะเป็นแหล่งสะสมของสารมลพิษในบรรยากาศแล้ว ยังเป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรียหลากหลายชนิดที่อาจมีประสิทธิภาพในการย่อยสลายมลพิษได้

            อ.เอกวัล ลือพร้อมชัย ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง “การย่อยสลายฟีแนนทรีนบนใบไม้โดยแบคทีเรียที่อาศัยบริเวณผิวใบ” โดยเก็บตัวอย่างใบไม้ 6 ชนิด ซึ่งเป็นไม้ประดับบริเวณริมถนน ๒ สายในกรุงเทพมหานคร มาวิเคราะห์ปริมาณแบคทีเรียบนใบไม้ที่สามารถย่อยสลายฟีแนนทรีน ผลปรากฏว่าใบไม้โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นเข็มและโมกมีแบคทีเรียชนิดนี้ค่อนข้างมาก จากนั้นจึงนำมาทำการศึกษาในห้องปฏิบัติการโดยนำต้นเข็มซึ่งมีความเข้มข้นของแบคทีเรียที่ย่อยสลายฟีแนนทรีนมากที่สุดมาพ่นฟีแนนทรีน ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าบนใบไม้ที่มีแบคทีเรียอาศัยอยู่นั้น ทำให้จำนวนฟีแนนทรีนมีปริมาณลดลง และพบว่าแบคทีเรียที่ย่อยสลายฟีแนนทรีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นว่าแบคทีเรียบนใบไม้สามารถใช้ฟีแนนทรีนในการเจริญเติบโต

            อ.เอกวัล กล่าวว่า ผลงานวิจัยนี้สามารถนำไปต่อยอดเพื่อการศึกษาในเชิงลึกถึงกลไกที่เกี่ยวข้องในการย่อยสลายสารพิษเหล่านี้ และศึกษาว่าแบคทีเรียบนใบไม้สามารถย่อยสลายสารพิษชนิดใดได้บ้างนอกเหนือจากฟีแนนทรีน รวมทั้งเสนอแนะให้มีการปลูกต้นไม้ที่มีแบคทีเรียย่อยสลายสารพิษในแหล่งที่มีการสะสมของมลพิษ เช่น บริเวณใต้ทางด่วนหรือถนนใต้รถไฟฟ้าซึ่งเป็นพื้นที่ที่ขาดการถ่ายเทอากาศ

            ท้ายที่สุด อ.เอกวัลได้ให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับการลดมลภาวะทางอากาศว่า วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการร่วมมือกันปลูกต้นไม้ซึ่งนอกจากจะสร้างความร่มรื่นและดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว แบคทีเรียบนใบไม้ยังสามารถย่อยสลายสารพิษในบรรยากาศได้อีกด้วย


ที่มาของข้อมูล : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย www.chula.ac.th

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Carbon dioxide
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น