สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ท่อนาโนคาร์บอน ก่อมะเร็งได้เทียบเท่าแร่ใยหิน

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
วันที่: 27 พ.ค. 2551

            เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะทำผลิตภัณฑ์ใหม่อะไรออกมาก็มักจะมีคำว่านาโนเข้าไปมีเอี่ยวด้วยเสมอ จะนาโนแท้นาโนหลอกหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ นาโนไม่ได้ปลอดภัยไปเสียหมด เพราะล่าสุดนักวิจัยแดนผู้ดีพบว่าหากคาร์บอนนาโนทิวบ์หลุดเข้าไปในปอดแล้วล่ะก็ มีสิทธิ์เป็นมะเร็งร้ายได้เหมือนสูดเอาแร่ใยหินเข้าไปเลยทีเดียว
       
            ทีมนักวิจัยนำโดย ศ.เคนเนธ โดนัลด์สัน (Prof. Kenneth Donaldson) แห่งมหาวิทยาลัยเอดินบะระ (University of Edinburgh) สหราชอาณาจักร ทดสอบผลของ "คาร์บอนนาโนทิวบ์" (carbon nanotube) หรือ "ท่อนาโนคาร์บอน" ในหนูทดลอง พบสามารถทำให้เกิดมะเร็งที่ปอดได้เหมือนกับมะเร็งที่เกิดจากแร่ใยหิน (asbestos) โดยได้รายงานผลการวิจัยลงในวารสารเนเจอร์นาโนเทคโนโลยี (Nature Nanotechnology) และหลายสำนักข่าวก็ให้ความสนใจและนำมารายงานให้ทราบกันทั้งสำนักข่าวเอเอฟพี บีบีซีนิวส์ และไซน์เดลี
       
            ในไซน์เดลีรายงานว่า ศ.โดนัลด์สัน ได้ศึกษาผลของคาร์บอนนาโนทิวบ์ต่อสิ่งมีชีวิต ซึ่งตัวอย่างที่นำมาศึกษา ได้แก่ เส้นใยของคาร์บอนนาโนทิวบ์ชนิดสั้นและยาว กับแร่ใยหินขนาดสั้นและยาวเช่นเดียวกัน โดยนำวัตถุเหล่านี้ฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูทดลอง ผลปรากฏว่าเส้นใยขนาดยาว มีผลต่อปอดของหนูที่รับมันเข้าไป
       
            "ผลการทดลองกระจ่างชัดมาก คาร์บอนนาโนทิวบ์ชนิดยาวและบาง ทำให้หนูมีอาการปอดอักเสบได้เช่นเดียวกับอาการปอดอักเสบที่เกิดจากแร่ใยหินขนาดยาวและบาง" ศ.โดนัลด์สัน เผย
       
            สำนักข่าวบีบีซีนิวส์รายงานเพิ่มเติมว่า หนูที่ได้รับคาร์บอนนาโนทิวบ์ดังกล่าวเข้าไปภายในช่วง 7 วันแรก ก็แสดงอาการปอดอักเสบให้เห็นมากที่สุด และกว่าจะหายเป็นปกติก็กินเวลา 1-2 เดือนถัดมา
       
            ทั้งนี้ เพราะการที่แร่ใยหินมีขนาดบางมาก จึงสามารถแทรกซึมผ่านเข้าไปในปอดได้ และด้วยขนาดความยาวที่เหมาะเจาะพอดีที่เข้าไปปะปนอยู่ในปอด ทำให้ปอดไม่สามารถขจัดสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ออกไปได้ จนลุกลามกลายเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอด (mesothelioma) ในที่สุด ซึ่งพิษภัยของแร่ใยหินนี้เคยสร้างหายนะใหญ่หลวงให้ประชาชนในสหรัฐฯ มาแล้วเมื่อหลายปีก่อน
       
            ส่วนคาร์บอนนาโนทิวบ์เป็นคาร์บอนที่มีอะตอมจัดเรียงตัวกันในอีกรูปแบบหนึ่ง คือเป็นแผ่นแกรไฟต์ (graphite) ที่มีโครงสร้างเป็นรูปทรงกระบอกกลวงคล้ายท่อ อาจประกอบด้วยแผ่นแกรไฟต์เพียงชั้นเดียวหรือหลายชั้นก็ได้ เส้นผ่านศูนย์กลางของท่ออาจมีขนาดเล็กมากๆ แค่ไม่กี่สิบนาโนเมตร และอาจยาวนับร้อยนับพันนาโนเมตร
       
            คาร์บอนนาโนทิวบ์ ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มากๆ เพราะเพิ่งค้นพบได้เมื่อราว 20 ปีที่ผ่านมานี้เอง และด้วยคุณสมบัติอันโดดเด่นเหนือวัสดุอื่นๆ มีน้ำหนักเบาราวกับพลาสติก แต่แข็งแกร่งดุจเหล็ก ทำให้นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจนาโนคาร์บอนเป็นอย่างมาก
       
            อีกทั้งศักยภาพที่เหนือกว่านี้เอง จึงคาดการณ์กันว่าคาร์บอนนาโนทิวบ์จะกลายเป็นสุดยอดวัสดุแห่งโลกในศตวรรษที่ 21 ที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายชนิด เช่น อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ไฟฟ้า แบตเตอรี และยา แต่อย่างไรก็ดี เรื่องความปลอดภัยของคาร์บอนนาโนทิวบ์ต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมก็ยังไม่มีข้อมูลมากนัก
       
            แม้ผลการทดลองจะระบุว่าท่อนาโนคาร์บอนเป็นอันตรายกับปอดของหนู แต่นักวิจัยก็ยังไม่แน่ใจว่าคาร์บอนนาโนทิวบ์นี้จะล่องลอยไปตามอากาศหรือสูดหายใจเข้าไปได้เหมือนใร่ใยหินหรือไม่ แต่แน่นอนว่าถ้าหากคาร์บอนนาโนทิวบ์เข้าถึงปอดเมื่อไหร่ ปอดก็จะไม่ปลอดภัยเมื่อนั้น และหากมีปริมาณมากเพียงพอก็จะก่อให้เกิดมะเร็งเยื่อที่หุ้มปอดได้อย่างไม่ต้องสงสัย
       
            นอกจากนี้ ศ.โดนัลด์สัน กล่าวกับบีบีซีนิวส์อีกว่า นักวิจัยคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะถึงจะบอกได้ว่าคาร์บอนนาโนทิวบ์รูปแบบใดบ้างที่จะทำให้เกิดมะเร็งได้
       
            อย่างไรก็ดี ยังมีแพทย์และนักวิจัยที่ร่วมกันศึกษาในเรื่องนี้อีกหลายคนออกมาแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และอยากให้มีมาตรการควบคุมความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนนาโนทิวบ์ที่เป็นหลักประกันและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ด้วย


ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2551


เจ้าหน้าที่ต้องสวมหน้ากากป้องกันไม่ให้สูดเอาแร่ใยหินเข้าไปใน่ขณะที่จัดการกับแร่ใยหินที่แม้จะถูกห่อหุ้มอย่างมิดชิดแล้วก็ตาม (ภาพจาก BBC NEWS)

ภาพบนเป็นลักษณะเส้นใยของคาร์บอนนาโนทิวบ์ ส่วนภาพล่างเป็นเส้นใยของแร่ใยหิน (ภาพจาก BBC NEWS)

แบบจำลองโครงสร้างของคาร์บอนนาโนทิวบ์ ที่อะตอมของคาร์บอนจัดเรียงกันเป็นลักษณะของแผ่นแกรไฟต์ (ภาพจาก BBC NEWS)
  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Asbestos
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - นักวิจัยฟินแลนด์ศึกษาพบ สารนาโนมีผลเสียต่อปอด
บอกข่าวเล่าความ - ผลวิจัยจุฬาฯ พบอันตรายจากสินค้านาโน
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

แร่ใยหิน

โดย:  a  [21 ส.ค. 2551 12:26]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น