สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

สศช. ดันอุตสาหกรรมเหล็กที่ชายฝั่งทะเลตะวันตก

ผู้เขียน: สำนักข่าวไทย
วันที่: 4 มิ.ย. 2551

            คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดแผนสร้างนิคมอุตสาหกรรมเหล็กที่ อ.ปะทิว ชุมพร และ อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ด้านนักวิชาการกังวลจะเกิดมลพิษ เตรียมศึกษาผลกระทบทางสุขภาพจากกรณีโรงเหล็กบางสะพาน

            นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการ สศช. กล่าวในงานสัมมนา เรื่อง “แผนลงทุนชายฝั่งทะเลตะวันตก : อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ” จัดโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า สศช.ได้ร่วมกับ ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย จัดทำแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่ภาคใต้อย่างยั่งยืน เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาในระยะยาวอีก 20 ปี มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งต้องศึกษาด้านสังคม เศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้กระทบต่อชุมชนเหมือนกับพื้นที่นิคมมาบตาพุด ที่ผ่านมาพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมในฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมในเขตระยอง และชลบุรีที่สวนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยที่พื้นที่อุตสาหกรรมเหลือเพียง 20,000 ไร่ ซึ่งอีก 5 ปี ก็จะเต็มพื้นที่ นอกจากนี้ ยังได้ศึกษานโยบายส่งเสริมกิจการผลิตเหล็กขั้นต้น เนื่องจากขณะนี้มีความต้องการใช้เหล็กในกลุ่มยานยนต์ บรรจุภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาทางด้านอื่นๆ ซึ่งมีความต้องการเฉลี่ย 4.5 ล้านตันต่อปี โดยพบว่ามี อุตสาหกรรมเหล็กรายใหญ่ของโลก 4 แห่งที่เสนอผ่านทางสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า พร้อมจะเข้ามาลงทุนในไทย ได้แก่ บริษัท Arcelor Mittal จากเนเธอร์แลนด์และลักเซมเบอร์ก มีกำลังผลิต 110.5 ล้านตัน บริษัท Nippon Steel Coporation ของญี่ปุ่น กำลังการผลิต 32.7 ล้านตัน บริษัท JEF ของญี่ปุ่น กำลังผลิต 32 ล้านตันและบริษัท Baostell กำลังผลิต 22.5 ล้านตัน พื้นที่ที่มีศักยภาพรองรับอุตสาหกรรมเหล็กได้มี 2 พื้นที่คือ บริเวณเขาแดง ต.กุยเหนือ อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และแหลมช่องพระ อ.ปะทิว จ.ชุมพร และอ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมพื้นที่ 20,000 ไร่ จะสรุปนำเสนอครม.ภายในเดือนมิถุนายนนี้

            ดร.อาภา หวังเกียรติ อาจารย์จากสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา กำลังเกิดปัญหาส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพต่อชุมชนที่อยู่รอบพื้นที่โครงการ โดยกรณีของมลพิษจากอุตสาหกรรมเหล็กที่เริ่มเปิดเผยต่อสาธารณะแล้วก็คือผลกระทบของกลุ่มบริษัท Arcelor Mittal ที่มลรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ที่เตรียมจะขยายพื้นที่โครงการ แต่มีการคัดค้านเมื่อพบว่ากระบวนการผลิตเหล็กกล้ามีมลพิษค่อนข้างมาก ทั้งสารอินทรีย์ระเหยง่าย คาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ฝุ่นละอองเล็กกว่า 2. 5 ไมครอน เบนซีน แคดเมียม ตะกั่ว และเป็นสาเหตุความเจ็บป่วยโรคมะเร็งปอดของพลเมืองสหรัฐมากที่สุด ดังนั้น จึงอยากตั้งคำถามว่า ประเทศไทย พร้อมแค่ไหนที่จะมีมาตรฐานและจัดการมลพิษจากอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ที่จะมาลงทุนในเมืองไทย เพราะกรณีอุตสาหกรรมเหล็กของเครือสหวิริยา ที่บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่เกิดการคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่มาก เพราะชาวบ้านเริ่มได้รับผลกระทบแล้ว


ที่มาของข้อมูล : สำนักข่าวไทย ประจำวันที่ 4 มิถุนายน 2551

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Benzene
Carbon dioxide
Lead
Nitrogen dioxide
Sulfur dioxide
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น