สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

กรมควบคุมมลพิษเผยแม่น้ำหลายสายวิกฤติ

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
วันที่: 21 ธ.ค. 2550

            ดร. สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) แถลงข่าวสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยในปี 2550 ว่า มลพิษด้านอากาศของประเทศไทยดีขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในเขตกทม. จากการตรวจสอบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนนอกไซด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์ มีปริมาณลดลง ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดี อย่างไรก็ตามส่วนปัญหาที่น่าเป็นห่วง และยังไม่คลี่คลายได้แก่ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาหลักตอนนี้ที่สร้างความเดือดร้อนและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนธันวาคม ต่อเนื่องจนถึงเดือนก.พ. แต่ก็โชคดีว่าไม่ได้เกิดปัญหาตลอดปี โดยสาเหตุมาจากการเกิดฝุ่นละอองมาจาก สองส่วนด้วยกันคือ จากรถยนต์ และการเผาในที่โล่งในรอบๆ เขตกรุงเทพฯ ซึ่งพิ้นที่กทม.ที่ยังวิกฤติ ได้แก่ ถนนดินแดง พระราม 4 พระราม 6 ถ.อินทรพิทักษ์ ลาดพร้าวสุขุมวิท (อ่อนนุช) หลานหลวง เยาวราช (ย่านราชวงศ์)

            อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า สำหรับปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดจากรถยนต์นั้น ส่วนใหญ่จะมาจากรถโดยสารสาธารณะ ที่ยังไม่ได้คุณภาพทำให้เกิดปัญหาควันดำ ฝุ่นละออง แต่คาดว่าในปี 2551 จากผลที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์มากขึ้นจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น นอกจากนี้จากการเพิ่มระบบขนส่งสาธารณะ เช่น การสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ในเขตกรุงเทพฯ ก็จะเป็นการช่วยลดปริมาณฝุ่นจากควันดำของรถยนต์ลงได้มาก

            "ส่วนของปัญหามลภาวะด้านเสียงนั้น พบว่าปัญหาสำคัญคือการเกิดเสียงที่มาจากการจราจร โดยล่าสุดคพ. ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อกำหนดมาตรฐานด้านเสียงของรถยนต์ว่าควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ เพื่อหาความชัดเจนในการกำหนดเสียงรถยนต์ที่จะออกมาใหม่ ซึ่งรถยนต์ที่จะออกมาวิ่ง บนท้องถนนจะต้องทำตามระเบียบ ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาเสียงบนท้องถนน รวมไปถึงการกำหนดมาตรฐานของยางรถยนต์ เกี่ยวกับดอกยาง และวัสดุทำผิวถนน เช่น การลาดยาง หรือถนนคอนกรีต ว่าจะสามารถลดระดับของวัสดุบางอย่างลงได้หรือไม่ เพื่อที่จะทำให้ปัญหาฝุ่นละอองลดลง" ดร.สุพัฒน์ กล่าว

            สำหรับปัญหาคุณภาพน้ำ นั้นดร.สุพัฒน์ กล่าวว่าค่อนข้างเป็นห่วงเพราะพบว่ามีแหล่งน้ำเสื่อมโทรมมากขึ้น ในขณะนี้แหล่งน้ำที่เคยอยู่ในเกณฑ์พอใช้ ก็มีจำนวนลดลง จาก 50 % เหลือเพียง 30  % เท่านั้น เช่น แม่น้ำยม นครนายก ท่าจีนตอนบน กุยบุรี ระยอง ปากพนัง ทะเลหลวง ส่วนน้ำทะเลเสื่อมโทรมโดยเฉพาะแถวปากแม่น้ำ ซึ่งในปี 2551 จะต้องมาหากลยุทธ์ว่าควรจะดำเนินการอย่างไร เพื่อแก้ปัญหาแหล่งน้ำเสื่อมโทรมนี้ มาตรการหนึ่งก็คือการจะเร่ง ผลักดันให้ท้องถิ่นเริ่มเก็บค่าบริการในการบำบัดน้ำเสีย รวมไปถึงขยะ เพื่อนำเงินมาใช้ในการบำบัดแหล่งน้ำด้วย นอกจากนี้ยังจะมีการหารือเรื่องกลไกการเก็บค่าบำบัดน้ำเสียรวมไปในบิลค่าน้ำประปาต่อไปด้วย

            อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวต่ออีกว่าจากปัญหาการลักลอบทิ้งสารเคมีและกากของเสียทั้ง 9 ครั้ง และปัญหามีผู้ป่วยได้รับพิษจากสารเคมี 1298 ราย และมีอุบัติภัยจากสาเคมีรวม 27 ครั้ง ทำให้คพ.ได้เสนอเรื่องระบบการติดตามตรวจสอบที่รัดกุมจากต้นทาง เนื่องจากที่ผ่านมามีเพียงขั้นตอนทางเอกสารเท่านั้น โดยวิธีการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเห็นด้วยแล้วจะใช้นำร่องในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดคือการติดจีพีเอสในรถขนส่งกากของเสีย เพื่อการตรวจสอบและติดตามการเคลื่อนไหวของเสียว่ามีการนำกากของเสียอันตรายไปกำจัดจริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาพบว่าของเสียถูกลักลอบทิ้งในบริเวณอื่น

            "ระบบจีพีเอสจะเข้ามาช่วยจัดการระบบขนส่งให้ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้จะมีการเพิ่มการตรวจสอบที่รัดกุมโดยเสนอให้มีการจัดทำระบบตรวจสอบบัญชีของเสียของบริษัทด้วย เพื่อทำให้การควบคุมทางการปฏิบัติมีประสิทธิภาพดีขึ้น และทำให้ทราบว่าแต่ละปีโรงงานใช้และทิ้งกากของเสียปีละเท่าไหร่ รวมทั้งการติดฉลากสารเคมี ทั้งนี้จะหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป เพื่อจะช่วยในการติดตามผู้กระทำผิดได้ ในส่วนของของเสียมีพิษจากชุมชนนั้น จะมีการออกกฎหมายเพื่อหากลไกในการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนนำขยะมีพิษมาขายคืน รวมไปถึงการตั้งกองทุนต่างๆ ซึ่งจะต้องหารือกับกระทรวงการคลังก่อน ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมา ประชาชนจะนำขยะมีพิษเหล่านี้มาคืนด้วยความสมัครใจเท่านั้น เช่น พวกแบตเตอรี่ หลอดไฟนีออน แต่ถ้ามีกฎหมายก็จะชัดเจนขึ้น" อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว


ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ประจำวันที่ 21 ธันวาคม 2550

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Carbon monoxide
Nitrogen dioxide
Sulfur dioxide
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น