สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

เจอสารก่อมะเร็งตับในถั่วลิสงและพริกป่น

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
วันที่: 4 ม.ค. 2551

            สาธารณสุขเผยอาหารในไทยปลอดภัยจากสารอันตราย 6 ชนิดแล้วร้อยละ 98 ที่ยังเป็นปัญหามาก ได้แก่ เชื้อราสร้างสารพิษอะฟลาทอกซิน ตัวก่อมะเร็งตับ ตรวจพบในถั่วลิสง พริก ทั้งชนิดแห้งและป่น สูงถึงร้อยละ 21 และยังพบเชื้อจุลินทรีย์ในอาหารถุง และใช้น้ำมันทอดซ้ำ กำชับให้ อย.และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในการเลือกซื้อและบริโภค พร้อมกวดขันตักเตือน และลงโทษผู้ประกอบการที่กระทำผิดซ้ำ
       
            นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะ เปิดงาน “ตลาดสดโฉมใหม่ อาหารปลอดภัย” ที่ตลาดไท จังหวัดปทุมธานี และเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการตรวจสารปนเปื้อนในอาหาร ตาชั่งกลางประจำตลาด และนิทรรศการอาหารปลอดภัย ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งตัวอย่างระดับห้าดาว
       
            นพ.มงคล ให้สัมภาษณ์ว่า ตลาดสดเป็นแหล่งอาหารของคนนับล้าน เป็นแหล่งที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคที่เกิดจากอาหารไม่สะอาด และปนเปื้อนสารเคมี ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยได้พยายามนำมาตรการต่างๆ มาใช้ เพื่อทำให้อาหารในประเทศสะอาด ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ควบคุมความปลอดภัยของอาหารให้ได้มาตรฐานทัดเทียมสากล ผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบันมีความคืบหน้ามาก สถานที่ผลิตอาหารแปรรูปผ่านมาตรฐานจีเอ็มพี ร้อยละ 99 ส่วนอาหารสดในภาพรวมทั้งประเทศปลอดภัยจากสารพิษ 6 ชนิด ร้อยละ 98 มี 1 ชนิด ที่ปลอด 100 เปอร์เซ็นต์ คือ สารฟอกขาว สารที่ยังเป็นปัญหาขึ้นๆ ลงๆ ได้แก่ สารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมู สารบอแรกซ์ในปลาบด หมูบด น้ำยาฟอร์มาลีนแช่ปลาหมึกกรอบ สารกันราในผักกาดดอง มะม่วงดอง พริกแกง และยาฆ่าแมลงในปลาร้า ผัก ผลไม้ ร้อยละ 1-5
       
            “ที่น่าห่วงคือ สารพิษอะฟลาทอกซิน ตัวก่อโรคมะเร็งตับ ตรวจพบในถั่วลิสง พริกทั้งชนิดแห้งและป่น มากถึงร้อยละ 21 ในอาหารถุงพบเชื้อจุลินทรีย์ร้อยละ 39 และมีการใช้น้ำมันทอดซ้ำเกิน 2 ครั้งร้อยละ 20 ส่วนกลุ่มอาหารปรุงสำเร็จพร้อมจำหน่าย และตลาดสดยังเหลืออีกประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ที่ต้องปรับปรุงสุขลักษณะ โครงสร้าง อุปกรณ์ปกปิดอาหาร ความสะอาดผู้ประกอบการ ได้กำชับ อย.และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในการเลือกซื้อและบริโภคอาหาร พร้อมกวดขันตักเตือน และลงโทษผู้ประกอบการที่กระทำผิดซ้ำครั้งที่ 2” นพ.มงคล กล่าว

            ด้านนพ.ภูกฤษ เวชโอสถศักดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ผลการดำเนินงานอาหารปลอดภัยของจังหวัดปทุมธานี ตั้งแต่ปี 2547 ถึงขณะนี้ ตลาดสดทุกแห่งผ่านเกณฑ์ตลาดสดน่าซื้อ และ 1 ใน 3 ผ่านเกณฑ์ระดับดีมาก หรือ 5 ดาว ร้านอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหารทุกแห่งผ่านเกณฑ์มาตรฐานท้องถิ่นและผ่านเกณฑ์อาหารสะอาดรสชาติอร่อยร้อยละ 67 ส่วนสถานที่ผลิตอาหารจำนวน 308 แห่ง ผ่านเกณฑ์จีเอ็มพีทุกแห่ง ขณะนี้ได้ขยายการควบคุมความปลอดภัยอาหารจากสารปนเปื้อน 6 ชนิด ถึงระดับหมู่บ้านจนได้ความปลอดภัยร้อยละ 100 และตรวจเฝ้าระวังสารปนเปื้อนในตลาดสด ร้านชำ ตลาดนัดหมู่บ้านทุกเดือน ส่วนในตลาดสดและซูเปอร์มาเก็ต ปลอดสารปนเปื้อนร้อยละ 98
       
            สำหรับตลาดไท เป็นตลาดกลางขายส่งสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศตลอด 24 ชั่วโมง ขณะนี้ผ่านเกณฑ์เป็นตลาดสดน่าซื้อระดับห้าดาว ตั้งแต่ปี 2550 มีผู้จำหน่ายประมาณ 1,000 คน มีผู้ซื้อประมาณ 2,000 คนต่อวัน โดยตลาดได้จัดห้องปฏิบัติการตรวจหาสารตกค้างในอาหารขายส่ง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคตั้งแต่ปี 2547 มีเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจอาหารทุกวัน วันละ 40-50 ตัวอย่าง หากพบสารปนเปื้อนจะให้หยุดจำหน่ายสินค้าและสืบหาต้นเหตุของสารปนเปื้อน


ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ประจำวันที่ 4 มกราคม 2551

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Formaldehyde
Sodium tetraborate decahydrate
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น