สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

คพ.สรุปผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหามลพิษมาบตาพุด

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
วันที่: 18 ม.ค. 2551

            ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหามลพิษมาบตาพุด จ.ระยอง ว่า ขณะนี้ทาง คพ.กำลังสรุปผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหามลพิษมาบตาพุด ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เสนอต่อนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หลังจากที่ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน 2 ชุดเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุด โดยเฉพาะการหาความสัมพันธ์ทางด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนกับมลพิษในพื้นที่ และการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ ภาพรวมถือว่ามีความก้าวหน้าค่อนข้างมาก เนื่องจากมีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชนในการร่วมกันจัดการมลพิษในจังหวัดระยอง ทำให้สามารถควบคุมการระบายก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์ ที่เคยมีค่าความเข้มในบรรยากาศสูงให้กลับมาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานได้

            อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวต่อว่า ส่วนที่ยังคงเป็นปัญหาหลักคือเรื่องกลิ่นเหม็นรบกวน ซึ่งชาวบ้านแถวชุมชนซอยร่วมพัฒนา และชุมชนโสภณ ที่อยู่รอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดยังได้รับผลกระทบเป็นครั้งคราวจากกลิ่นเหม็นคล้ายๆ กลิ่นไหม้ กลิ่นน้ำมัน ขณะที่บริเวณชุมชนบ้านฉางใกล้กับนิคมเอเชีย ก็ร้องเรียนเรื่องกลิ่นเหม็นของอะซิติกเอซิค โดย คพ.ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงไปติดตามสภาพปัญหา รวมทั้งหาแหล่งกำเนิดของกลิ่นเหม็นดังกล่าวแล้ว ซึ่งเบื้องต้นสันนิษฐานว่ากลิ่นเหม็นที่มาบตาพุดมาจากโรงงานที่ผลิตผ้าเบรกเอบีเอส

            ส่วนปัญหาสารอินทรีย์ระเหยในบรรยากาศ ที่มีแหล่งกำเนิดจุดรั่วซึมจากโรงงานอุตสาหกรรม คาดว่าจะแก้ปัญหาได้ครบ 100% ภายในเดือนมีนาคมนี้ ขณะที่การระบาย VOCs จากปล่องโรงงานอุตสาหกรรมตั้งเป้าให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดภายใน 3 ปี “อย่างไรก็ตาม การจะประกาศเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุดหรือไม่ คงขึ้นกับรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศว่าจะตัดสินใจอย่างไรกับเรื่องนี้” ดร.สุพัฒน์ กล่าว

            ส่วนการจัดการคุณภาพน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่มีการระบายสารมลพิษทางน้ำ เช่น บีโอดี ซีโอดี ทีดีเอส ตะกั่ว เซเลเนียม เหล็ก แมงกานีส แคดเมียม ตั้งเป้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน 100% ภายในเดือนมีนาคมนี้ ส่วนน้ำทิ้งชุมชนในพื้นที่มาบตาพุด หลังจากมีการวางแนวท่อดักน้ำเสียของเทศบาลคาดว่าใน อีก 3 - 4 ปีจะลดน้ำเสียลงได้ 50% ซึ่งในการดำเนินการต่อจากนี้จะมีการเข้าไปตรวจสอบและแก้ปัญหาอย่างใกล้ชิด

            นอกจากนี้ ดร.สุพัฒน์ ยังกล่าวว่าถึงผลกระทบที่เกิดจากการเพิ่มสูงขึ้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ คาดว่าในช่วงวันที่ 16 - 18 มกราคมนี้ บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมไทย อาจส่งผลให้เกิดการสะสมสารมลพิษในบรรยากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กและก๊าซโอโซนที่มีระดับเกินมาตรฐาน ดังนั้น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจควรหลีกเลี่ยงออกนอกบ้านในช่วงนี้

            ด้าน นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า หลังจากกลุ่มได้ฟ้องศาลปกครองกรณีที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไม่ยอมประกาศเขตควบคุมมลพิษ ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2550 และหลังจากนั้น 2 เดือนทาง คพ.ได้ทำหนังสือคัดค้านคำฟ้อง ซึ่งมีคำคัดค้านที่ขัดแย้งกันเองว่าท้องถิ่นไม่มีศักยภาพในการดูแลจัดการปัญหาได้ โดยเครือข่ายจะส่งให้ศาลปกครองตีความหนังสือคัดค้านของคพ.อีกครั้งในวันที่ 21 มกราคมนี้


ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ประจำวันที่ 18 มกราคม 2551

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Acetic acid
Iron
Lead
Manganese
Nitrogen dioxide
Selenium
Sulfur dioxide
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:3

See the letter in both Thai and English at http://www.thaiappraisal.org/thai/letter/letter17.htm

เรื่อง    ประชาชนมาบตาพุดต้องการอุตสาหกรรมต่อไป และโปรดพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

กราบเรียน  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี

โดย:  ss  [8 ธ.ค. 2552 23:57]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:4

สนุกมาก

โดย:  123456789  [18 ก.ย. 2555 19:32]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น