สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

เตาปฏิกรณ์ 3 ส่อบึ้ม เร่งอพยพสองแสนคนหนี

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
วันที่: 14 มี.ค. 2554

            ญี่ปุ่นระทมหนัก ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งเกินหมื่นศพแน่นอน เตือนภัยระวังเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 3 เข้าขั้นวิกฤติ หวั่นบึ้มอีกระลอก เร่งอพยพชาวบ้าน 2 แสนคนหนีภัย แฉมีเหยื่อกัมมันตภาพรังสีแล้ว 160 คน ด้านสหรัฐอเมริกานำทีมนานาชาติช่วย ใช้เรือบรรทุกเครื่องบินสำหรับส่งบำรุงกำลัง เผยแรงสั่นสะเทือนทำแผ่นดินเลื่อนจากจุดเดิม 2.4 เมตร แถมแกนโลกยังเอียง 10 เซนติเมตร ขณะที่ประเทศไทยเตรียมทบทวนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกครั้ง
    
            จากกรณีแผ่นดินไหวรุนแรง 8.9 ริคเตอร์ นอกชายฝั่งเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น ตามรายงานของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา แต่ทางการญี่ปุ่นได้ประกาศยกระดับแรงสั่นสะเทือนเป็น 9.0 ริคเตอร์ แล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้างจากคลื่นยักษ์สึนามิและการระเบิดของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ภายในโรงไฟฟ้าฟูกูชิมา ท่ามกลางความหวาดวิตกว่าจะรุนแรงคล้ายกับเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในยูเครนระเบิดเมื่อปี 2529 ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

อาฟเตอร์ช็อก 6.2 ริคเตอร์

            ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ว่าได้เกิดอาฟเตอร์ช็อก หรือแรงสั่นสะเทือนตามหลังแผ่นดินไหว นอกชายฝั่งด้านทิศตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น ใกล้กับกรุงโตเกียว เมื่อเทียบกับแผ่นดินไหวรุนแรง 8.9 ริคเตอร์ จนเกิดคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งอาฟเตอร์ช็อกล่าสุดนี้ยังทำให้อาคารสูงในกรุงโตเกียวเกิดการสั่นไหว โดยสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา แจ้งว่า เมื่อเวลา 10:26 น. เช้าวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับ 08:26 น. เช้าวันเดียวกันตามเวลาในประเทศไทย วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 6.2 ริคเตอร์ มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ 179 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกของกรุงโตเกียว และในระดับความลึก 24.5 กิโลเมตร นับตั้งแต่แผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เกิดอาฟเตอร์ช็อกไปแล้วกว่า 150 ครั้ง

แฉเตาปฏิกรณ์ฯอาจบึ้มอีก

            โฆษกของบริษัทการไฟฟ้าโตเกียว อีเลคตริค เพาเวอร์ (เทปโก) แถลงว่า ระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 3 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมาหมายเลข 1 ไม่ทำงาน มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการระเบิดขึ้นมา ดังนั้นจึงต้องฉีดน้ำทะเลเข้าไปข้างในและความดันเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการตรวจวัดกัมมันตภาพรังสี พบว่า มีระดับสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จากผลของการระเบิดเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นอกจากนั้นแล้วยังมีส่วนบนของแท่งเชื้อเพลิงโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ 3 เมตร เป็นสัญญาณบ่งบอกเรื่องการหลอมละลายของเตาปฏิกรณ์ แต่ต่อมาแท่งเชื้อเพลิงดังกล่าวก็ถูกครอบเอาไว้ได้แล้ว

ยอมรับรั่วจริงแต่ไม่อันตราย

            ขณะเดียวกัน นายยูคิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น แถลงว่า ระดับของกัมมันตภาพรังสีได้ลดลงมาแล้ว สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวขึ้นไปทางเหนือ 270 กิโลเมตร มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ด้วยกัน 3 เตา ซึ่งทั้ง 3 เตานี้ต่างก็ไม่มีระบบหล่อเย็นทำงาน อันเป็นผลมาจากแผ่นดินไหวรุนแรงและสึนามิ ทำให้กระแสไฟฟ้าขัดข้อง อย่างไรก็ตาม ทางการได้อพยพประชาชน 200,000 คน ในรัศมี 20 กิโลเมตร รอบโรงไฟฟ้าออกไปหมดแล้ว ตามมาตรการป้องกันเพื่อความปลอดภัย 
    
            เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ปริมาณของกัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลออกมาสู่อากาศนั้น ไม่ได้อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่ก็ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการหลอมละลายในเตาปฏิกรณ์ตัวหนึ่งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา และอาจจะเกิดขึ้นกับเตาปฏิกรณ์อีกตัวหนึ่งเผยสเกลวัดระดับอยู่ที่ 4
     
            เจ้าหน้าที่สำนักงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมาหมายเลข 1 อันเนื่องจากผลกระทบจากแผ่นดินไหวรุนแรงและคลื่นสึนามินั้น อยู่ในระดับ 4 ของมาตรฐานสากล ซึ่งมีตั้งแต่ 0 - 7 และระดับที่ 4 นั้นหมายความว่าอุบัติเหตุจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จะมีผลกระทบตามมาต่อคนในท้องถิ่น ส่วนที่เคยเกิดอุบัติเหตุที่ผ่านมาในอดีตนั้น ในปี 2522 ที่โรงไฟฟ้าเกาะทรีไมล์ ในสหรัฐอเมริกา อยู่ที่ระดับ 5 และโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล เมื่อปี 2529 อยู่ในระดับสูงสุด คือ ระดับ 7 สำหรับญี่ปุ่นเองก็เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมื่อปี 2542 เมื่อเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ขั้นร้ายแรงกับโรงงานผลิตยูเรเนียม ส่งผลให้กัมมันตภาพรังสีรั่วไหล

ถูกกัมมันตภาพรังสี 160 คน

            เจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งของสำนักงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น กล่าวว่า จำนวนผู้ได้รับกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอาจสูงถึง 160 คน ทั้งนี้มี 9 คนแล้วที่แสดงอาการของการได้รับกัมมันตภาพรังสี จากข้อมูลการตรวจวัดโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและอื่นๆ จึงประเมินได้ว่าตัวเลขผู้ได้รับกัมมันตภาพรังสีอาจสูงจาก 70 คน เป็น 160 คน

ลมอาจพัดรังสีตกในแปซิฟิก

            นายอังเดร เคลาด์ ลาคอสต์ แห่งองค์การความปลอดภัยนิวเคลียร์ฝรั่งเศส เปิดเผยว่า เมื่อพิจารณาจากทิศทางลมขณะเกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมาหมายเลข 1 ระเบิดนั้น อาจพัดพามลพิษจากนิวเคลียร์ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก สถานการณ์เรื่องนี้ค่อนข้างร้ายแรง ทีมงานขององค์การความปลอดภัยนิวเคลียร์ฝรั่งเศสได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากทางญี่ปุ่น เพราะมีคนที่ดูแลรับมือกับเรื่องนี้มากหลายคน ทั้งนี้ทางสหรัฐอเมริกาได้ส่ง 2 ผู้เชี่ยวชาญไปช่วยด้วย
    
            นายเกรกอรี่ แจคโก้ ประธานคณะกรรมการควบคุมด้านพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญ 2 คนเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นแล้ว ซึ่งทางการญี่ปุ่นพยายามอย่างยิ่งที่จะคลี่คลายความหวาดวิตกของผู้คนหลังอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด โดยผู้เชี่ยวชาญ 2 คนนี้ อยู่ในทีมความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกาที่ถูกส่งเข้าไปในพื้นที่ประสบภัย และมีความชำนาญในเรื่องระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งสหรัฐอเมริกาพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือในทุกวิถีทาง สำหรับคณะกรรมการควบคุมด้านพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกานี้ เป็นหน่วยงานอิสระ ได้รับการแต่งตั้งจากสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา เพื่อดูแลในด้านโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เพื่อการพาณิชย์และอื่นๆ

สหรัฐอเมริกานำทีมนานาชาติช่วย

            ปฏิบัติการกู้ภัยจากนานาชาติต่างเร่งรีบเข้าไปในพื้นที่ประสบภัยในประเทศญี่ปุ่น นำโดยสหรัฐอเมริกาซึ่งส่งเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน มาถึงนอกชายฝั่งของญี่ปุ่นแล้วเมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อให้การสนับสนุนด้านการส่งบำรุงกำลังกับทหารญี่ปุ่น ซึ่งก็ระดมกำลังมาเพิ่มอีกเป็น 100,000 คนแล้ว สำหรับภารกิจกู้ภัยและฟื้นฟู เช่น การเติมน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับเฮลิคอปเตอร์ รวมถึงการขนส่งทหารเข้าไปในพื้นที่ประสบภัย นอกจากนั้นในวันเดียวกันนี้ สมาชิกทีมกู้ภัย 144 คนของสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (ยูเสด) ก็จะมาร่วมปฏิบัติการภาคพื้นดินด้วย นอกจากนั้นก็มี ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ อังกฤษ ฝรั่งเศส และสิงคโปร์ ต่างส่งทีมกู้ภัยพร้อมสุนัขดมกลิ่นมาช่วยเหลือแล้ว อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น สรุปว่ามี 69 ประเทศทั่วโลกและองค์การระหว่างประเทศ 5 องค์กร ที่เสนอให้ความช่วยเหลือกับญี่ปุ่น

แผ่นดินญี่ปุ่นเลื่อน 2.4 เมตร

            นายพอล เออร์ล นักธรณีฟิสิกส์ซึ่งศึกษาเรื่องแผ่นดินไหวแห่งสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ผลจากแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงของญี่ปุ่นและเป็นแผ่นดินไหวครั้งที่ใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งเท่าที่ได้มีการบันทึกมา ทำให้แผ่นดินของญี่ปุ่นมีการเคลื่อนตัวประมาณ 8 ฟุต หรือ 2.4 เมตร สาเหตุมาจากแผ่นดินไหวและรอยเลื่อนเปลือกโลกเกิดการเคลื่อนไหวเพราะรอยเลื่อนย้อนมุมต่ำตามแนวเขตของเปลือกโลกแปซิฟิกและอเมริกาเหนือ ซึ่งปกติแล้วรอยเลื่อนเปลือกโลกแปซิฟิกจะเคลื่อนตัวเฉลี่ยแล้วปีละ 3.3 นิ้ว แต่หากมีแผ่นดินไหวรุนแรงก็อาจทำให้ขยับรอยเลื่อนไปได้แรง ซึ่งอาจมีผลทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงตามมา และการเคลื่อนตัวของแผ่นดินนี้ก็เคยปรากฏให้เห็นในประเทศชิลี และอินโดนีเซีย ซึ่งต่างเคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงและคลื่นยักษ์สึนามิตามมา นอกจากนี้ สถาบันธรณีวิทยาของอิตาลีระบุด้วยว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้ได้ทำให้แกนของโลกเอียงไป 10 เซนติเมตร

พบศพเพิ่มเติมอีกเพียบ

            โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงว่า จากรายงานเบื้องต้นทราบว่าพบอีก 400 - 500 ศพในสองจุดด้วยกัน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ส่วนแถลงการณ์ที่ยืนยันได้แล้ว ระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตได้เพิ่มขึ้นเป็น 688 ศพ สูญหาย 642 คน และบาดเจ็บ 1,570 คน แต่โฆษกรัฐบาล แถลงว่า น่าจะมีผู้เสียชีวิตทั่วประเทศกว่า 1,000 ศพ บ้านเรือนราษฎรและอาคารถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายกว่า 12,250 หลัง จมน้ำอีก 2,400 หลัง และถูกไฟไหม้อีกกว่า 100 หลัง มีแผ่นดินถล่มด้วย 60 ครั้ง ประชาชน 380,000 คน อพยพเข้าไปอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว ส่วนใหญ่ไม่มีไฟฟ้าใช้เพราะต้องปิดเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแห่ง

แฉยอดตายอาจทะลุ 1 หมื่นศพ

            โทรทัศน์เอ็นเอชเค รายงานโดยอ้างการเปิดเผยของนายนาโอโตะ ทาเคคูชิ หัวหน้าตำรวจจังหวัดมิยางิ ว่ายอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นอาจสูงถึง 10,000 ศพ เฉพาะในจังหวัดมิยางิจังหวัดเดียว ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด หลายเมืองริมชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ถูกคลื่นสึนามิซัดพังราบไปทั้งเมือง แล้วยังมีเพลิงไหม้ตามมาอีกด้วย ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวเกียวโดนิวส์ได้ประเมินไว้ว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,800 ศพ

ไทยถกด่วนแผนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

            ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า เตรียมหารือกับกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่าจะมีแผนจะดำเนินการอย่างไรต่อไปหลังจากที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น จนส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เนื่องจากการสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์จำเป็นต้องสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยแก่ประชาชน เพราะหากประชาชนในพื้นที่ไม่ยอมรับก็ไม่สามารถก่อสร้างได้ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าประเภทใดก็ตาม แต่หากไม่ดำเนินการใดๆ เชื่อว่าในอนาคตประเทศไทยคงประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าแน่นอน เพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าในบ้านเราขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม
    
            ผู้สื่อข่าวรายงานว่าแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง โรงละ 1,000 เมกะวัตต์ จะเข้าระบบโรงแรกในปี 2563 และโรงที่สองในปี 2564 หากคณะรัฐมนตรีตัดสินให้เดินหน้าต้นปี 2554 แล้ว การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเสร็จสิ้นตามแผนปี 2563 แต่หากยังไม่ตัดสินใจและเลื่อนออกไปทางกระทรวงพลังงานคงจะต้องมีการปรับแผนนำโรงไฟฟ้าประเภทอื่นเข้ามาทดแทน 
 
ชี้เปลือกโลกเคลื่อนไม่กระทบไทย
     
            นายอดิชาติ สุรินทร์คำ ผู้ตรวจราชการกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะโฆษกกรมทรัพยากรธรณี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีข้อมูลจากนักธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา ระบุว่า การเกิดแผ่นดินไหววัดความรุนแรงได้ 8.9 ริคเตอร์ และตามด้วยสึนามิ ได้ทำให้เกาะฮอนชูของญี่ปุ่น ขยับไปทางตะวันออก 8 ฟุต และทำให้แกนโลกเปลี่ยนว่า ปกติแผ่นเปลือกโลกมีการเคลื่อนตัวในทุกวันๆ อยู่แล้ว ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่เป็นไปโดยที่เราไม่รู้สึก ซึ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกเกิดเร็วขึ้น และเมื่อเกิดการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกในบริเวณใดก็จะกระทบกับพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้น ซึ่งการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่กระทบกับประเทศไทยแต่อย่างใดในระยะสั้นเพราะห่างไกลกันมาก แต่ในระยะยาวต้องมีการนำข้อมูลความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกันอีกครั้ง
 
ยันไทยปลอดภัยกัมมันตรังสี

            ศ.ดร. ชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับแจ้งจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศได้ยืนยันมายังประเทศสมาชิกรวมทั้งประเทศไทย ว่า การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นั้นเกิดจากก๊าซไฮโดรเจนภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยเกิดภายนอก และบริษัทเทปโกได้แจ้งว่าจะใช้มาตรการโดยนำน้ำทะเลผสมสารโบรอน เติมเข้าไปในตัวครอบชั้นต้น เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายของแท่งเชื้อเพลิงที่อยู่ภายใน จากนั้นเวลา 00:30 น. วันที่ 13 มีนาคมตามเวลาในประเทศไทย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้รับข้อมูลเพิ่มเติม จากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ถึงการประเมินการฟุ้งกระจายโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ประมวลผลคาดการณ์ค่ากัมมันตภาพของวัสดุกัมมันตรังสีที่กระจายในบรรยากาศ ในระยะเวลา 24 ชั่วโมง พบว่าการเคลื่อนที่ของวัสดุกัมมันตรังสีฟุ้งกระจายไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ไม่มีโอกาสที่จะฟุ้งกระจายมายังประเทศไทย 
    
            อย่างไรก็ตาม สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้เฝ้าระวังและติดตามข้อมูลจากสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีของประเทศไทยที่มีอยู่ในทุกภาคของไทยตลอดเวลา ซึ่งล่าสุดผลการตรวจวัดระดับรังสีแกมมาในอากาศ ยังอยู่ในระดับปกติ และจะรายงานความคืบหน้าหากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นจะรายงานให้ทราบเป็นระยะๆ ต่อไป

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำวันที่ 14 มีนาคม 2554

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Hydrogen
Uranium
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น