สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

เอ็มเทคพัฒนาชุดตรวจคุณภาพไบโอดีเซล

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
วันที่: 1 ก.พ. 2551

            เอ็มเทคส่งเสริมคุณภาพไบโอดีเซลที่ผลิตจากชุมชน เผยออกแบบชุดตรวจคุณภาพ ดูค่าความหนืด ความเป็นกรด และความหนาแน่น เน้นราคาถูก และใช้ง่าย หนุนผู้ผลิตตรวจสอบคุณภาพก่อนส่งขาย ย้ำชัดไบโอดีเซลที่ได้มาตรฐานไม่ส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์

            ดร. อ้อยใจ ทองเฌอ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เอ็มเทคพัฒนาชุดตรวจคุณภาพไบโอดีเซล ที่ใช้ง่าย ราคาถูก และทราบผลเร็ว แทนการส่งตัวอย่างไปตรวจในห้องปฏิบัติ ถือเป็นการสร้างมาตรฐานให้เชื้อเพลิงไบโอดีเซลในประเทศ

            เชื้อเพลิงไบโอดีเซลผลิตจากพืชน้ำมัน เช่น ปาล์ม ละหุ่ง สบู่ดำ รวมถึงน้ำมันพืชใช้แล้ว ที่นำมาผ่านกระบวนการทางเคมีให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงน้ำมันดีเซล ปัจจุบันมีการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลในระดับครัวเรือน และระดับชุมชนอย่างแพร่หลาย โดยใช้เครื่องหีบน้ำมันขนาดเล็ก จนถึงเครื่องผลิตขนาดใหญ่ ขณะที่ไบโอดีเซลที่ผลิตได้ในระดับชุมชน ยังขาดการตรวจสอบและรับรองคุณภาพ

            การตรวจสอบที่มีอยู่ในปัจจุบัน ต้องส่งตัวอย่างมาตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการที่รับบริการตรวจวิเคราะห์ ซึ่งค่าบริการสูงถึง 3,000 บาทต่อครั้ง ด้วยเหตุนี้เอ็มเทคจึงพัฒนาชุดตรวจน้ำมันไบโอดีเซลอย่างง่าย โดยตรวจวัดคุณสมบัติเบื้องต้น 3 ประการของไบโอดีเซล คือ ค่าความหนาแน่น ค่าความหนืด และค่าความเป็นกรด ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยล้วนส่งผลต่อคุณภาพของน้ำมันไบโอดีเซล

            ยกตัวอย่างค่าความหนืด จะส่งผลต่อการฉีดน้ำมันเป็นละออง ช่วยให้เกิดการเผาไหม้สมบูรณ์ในห้องเครื่อง แต่หากค่าความหนืดไม่ได้มาตรฐาน ก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการเผาไหม้ในห้องเครื่อง และเกิดปัญหาควันดำตามมา โดยค่าความหนืดตามมาตรฐานของไบโอดีเซลที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส จะต้องอยู่ที่ 3.5 - 5.0 เซนติสโตก ซึ่งเดิมจะต้องวัดค่าดังกล่าวด้วยเครื่องวัดความหนืดเฉพาะ หรือไคเนเมติก

            "นักวิจัยเอ็มเทคศึกษาหาสารละลายที่ใช้วัดระดับความหนืด เพียงเทตัวอย่างน้ำมันไบโอดีเซลลงในหลอดทดลอง จากนั้นหย่อนเม็ดพลาสติกลงไป แล้วดูว่าเม็ดพลาสติกจมหรือลอยอยู่ในระดับเท่าไร ก็นำค่าที่ได้มาเปรียบเทียบกับตารางมาตรฐาน ส่วนการทดสอบค่าความเป็นกรด ใช้วิธีเดียวกับข้างต้น เพียงแต่เปลี่ยนสารละลายเป็นตัวใหม่ แล้วสังเกตสีที่เปลี่ยนแปลงและอ่านค่าตามที่กำหนด" ดร. อ้อยใจ กล่าว

            ปัจจุบันทีมวิจัยกำลังพัฒนาชุดทดสอบคุณภาพไบโอดีเซลในด้านอื่นๆ อีกทั้งต้องดูคุณสมบัติทั้งด้านกายภาพและทางเคมี เช่น ระดับน้ำและตะกอน จุดวาบไฟ ค่ากำมะถัน และไอโอดีน เป็นต้น เนื่องจากการตรวจสอบคุณภาพของน้ำมันจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง หากพัฒนาสำเร็จจะส่งเสริมให้มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำมันมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความมั่นใจกับผู้บริโภคให้หันมาใช้ไบโอดีเซลแพร่หลายมากขึ้น นอกจากการจะใช้ปัจจัยด้านราคาดึงดูดความสนใจ

            ทั้งนี้ การวิจัยโดยเอ็มเทคร่วมกับกรมอู่ทหารเรือพิสูจน์ชัดแล้วว่าไบโอดีเซลที่มีคุณภาพ ไม่ส่งผลกระทบต่อสมรรถนะเครื่องยนต์ ปลอดจากสารกำมะถัน ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยลดมลพิษในอากาศ โดยเป็นข้อสรุปที่ได้หลังจากทำการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานมานานกว่า 7 ปี


ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551


ตัวอย่างไบโอดีเซลที่ผลิตจากพืช

ขั้นตอนการทดสอบคุณสมบัติของไบโอดีเซล

อุปกรณ์ตรวจสอบคุณสมบัติไบโอดีเซลที่ผลิตโดยเอ็มเทค
  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Carbon dioxide
Iodine
Sulfur
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

อยากทราบอุปกรณ์ตรวจสอบคุณสมบัติไบโอดีเซล มีจำหน่ายที่ใหนบ้าง และราคาเท่าใด ตรวจสอบได้กี่ครั้ง

โดย:  รัศณีย์  [28 ต.ค. 2551 22:25]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

อยากทราบอุปกรณ์ตรวจสอบคุณสมบัติไบโอดีเซล มีจำหน่ายที่ใหนบ้าง และราคาเท่าใด ตรวจสอบได้กี่ครั้ง


โดย:  อยากทราบด่วน  [7 ก.พ. 2552 14:18]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 3:4

ต้องการตรวจ ค่า ของ กรีเซอริน ที่ได้จาก การผลิต ไบโอดีเซล จาก น้ำมันพืชใช้แล้ว ตรวจได้ที่ไหน ด่วนมาก เพราะ เอมเทค บอกว่า ต้องรอ อีก หนึ่งเดือน เพราะ สาร เร่ง ขาด กำลังสั่งซื้อ ใครแนะนำผมด้วย 0813494857

โดย:  พงศ์  [25 พ.ย. 2552 12:19]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 4:5

ต้องการซื้ออุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพไบโอดีเซล แบบง่าย สำหรับมาสอนนักเรียน สามารถสั่งซื้อได้ที่ไหน และราคาเท่าไหร่ค่ะ


โดย:  คุณภัทราวรรณ ฤทธิ์เดช  [13 มี.ค. 2566 09:47]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น