สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

คนอเมริกามีแนวโน้มรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือมากขึ้น

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
วันที่: 6 ก.พ. 2551

            การสำรวจผู้บริโภคชาวอเมริกันล่าสุด พบว่าจำนวนผู้ซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่และส่งเครื่องเก่าไปรีไซเคิลในช่วงไตรมาสสี่ปีที่แล้ว มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งเท่าตัวเมื่อเทียบกับตัวเลขในไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม แม้จะเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังไม่ถึงสัดส่วน 1 ใน 10 ของตลาด ถือเป็นตัวเลขที่น้อยมากท่ามกลางกระแสรักษ์โลกที่กำลังคึกคักในขณะนี้
       
            ไอซับพลาย (iSuppli) บริษัทวิจัยตลาดของสหรัฐฯเปิดเผยว่า จำนวนผู้ซื้อโทรศัพท์ใหม่และส่งเครื่องเก่าไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลในสหรัฐฯนั้นอยู่ที่ 9.4 เปอร์เซ็นต์ของตลาดรวม ตัวเลขดังกล่าวมาจากการสำรวจช่วงไตรมาสสี่ปี 2007
       
            "ตัวเลข 9.4 เปอร์เซ็นต์นั้นแสดงว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีการนำโทรศัพท์มือถือเครื่องเดิมของตัวเองไปรีไซเคิลมากขึ้นกว่าในอดีต ตัวเลขนี้ยังมีช่องว่างสำหรับขยายตัวอีกมาก" เกรก เชปพาร์ด ประธานฝ่ายพัฒนาบริษัทไอซับพลายให้สัมภาษณ์
       
            สาเหตุใหญ่ที่ทำให้โทรศัพท์มือถือไม่ได้รับความนิยมนำไปรีไซเคิล เหมือนกระป๋องน้ำหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ คือความคิดที่ว่าโทรศัพท์มือถือเครื่องเก่ายังมีราคา แม้บริษัทไอทีทั้งหลายจะพยายามสนับสนุนการรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยการทำประชาสัมพันธ์ลดแลกแจกแถมแต่ก็กระตุ้นได้เพียงส่วนน้อยเท่านั้น
       
            "กว่า 36.8 เปอร์เซ็นต์ยังคงเก็บโทรศัพท์เครื่องเก่าไว้ในกรุสมบัติเพราะเชื่อว่าโทรศัพท์มือถือเครื่องเก่ายังมีค่า แม้ว่าบ่อยครั้งโทรศัพท์เครื่องเก่าเหล่านี้จะถูกทิ้งลงถังโดยเปล่าประโยชน์ในช่วงทำความสะอาดบ้าน" เชปพาร์ดกล่าว โดยให้ข้อมูลว่า สาเหตุอื่นที่ทำให้ผู้บริโภคไม่ส่งโทรศัพท์มือถือไปรีไซเคิลคือการส่งต่อเครื่องแก่คนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูง รองลงมาคือการบริจาคทั้งเครื่องเพื่อการกุศล และการนำโทรศัพท์มือถือไปขายต่อที่ร้านค้าปลีก และราว 10.2 เปอร์เซ็นต์ระบุว่านำโทรศัพท์มือถือเครื่องเก่าไปทิ้ง ถูกขโมย หรือสูญหายไป
       
            ข้อมูลจากสำนักงานรักษาสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกาหรือ U.S. Environmental Protection Agency ประมาณอัตราการทิ้งโทรศัพท์มือถือของชาวอเมริกันไว้ที่ 125 ล้านเครื่องต่อปี คิดเป็นขยะน้ำหนัก 65,000 ตัน ซึ่งบางชิ้นส่วนก่อให้เกิดขยะมีพิษ และทำลายสิ่งแวดล้อม


ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ประจำวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551

 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น