สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

อย.สุ่มตรวจเส้นก๋วยเตี๋ยวพบผ่านเกณฑ์มาตรฐาน

ผู้เขียน: สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
วันที่: 13 ก.พ. 2551

            อย. เผยข่าวดี ผลการสุ่มตรวจเส้นก๋วยเตี๋ยว 27 ตัวอย่าง ไม่พบสารกันบูดหรือวัตถุกันเสียกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐานที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนด อย่างที่เคยเป็นข่าว ผู้บริโภควางใจได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม อย. ยังคงเฝ้าระวังและสอส่องผลิตภัณฑ์สุขภาพรวมทั้งเส้นก๋วยเตี๋ยวต่อไปเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค

            นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่เคยมีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์กรณีการตรวจพบสารกันบูดหรือวัตถุกันเสียในเส้นก๋วยเตี๋ยวจำนวนมาก ซึ่งทำให้ผู้บริโภคหลายคนมีความกังวลใจ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะหน่วยงานที่ปกป้องและคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงดำเนินการสุ่มตรวจอาหารประเภทผลิตภัณฑ์จากแป้ง (เส้นก๋วยเตี๋ยว) เช่น เส้นหมี่โคราช วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก เส้นหมี่ เส้นจันท์ เส้นก๋วยจั๊บ เป็นต้น จำนวน 27 ตัวอย่าง จากสถานที่จำหน่าย 4 แห่ง ซึ่งนำมาจากหลากหลายแหล่งผลิต เพื่อตรวจวิเคราะห์หาวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก ซึ่งตามข้อกำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ.2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ข้อ 6 กำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ต้องใช้ตามชนิดวัตถุเจือปนอาหาร ชนิดของอาหาร และปริมาณสูงสุดที่ใช้ได้ ซึ่งปริมาณการใช้กรดเบนโซอิกในผลิตภัณฑ์เส้นก๋วยเตี๋ยว ตามมาตรฐานทั่วไปสำหรับการใช้วัตถุเจือปนอาหารของโคเด็กซ์ (Codex General Standard for food Additives) ฉบับล่าสุด กำหนดการใช้กรดเบนโซอิกไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ทั้งนี้จากการส่งตัวอย่างเส้นก๋วยเตี๋ยวดังกล่าวตรวจวิเคราะห์ที่อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร ปรากฏว่าไม่พบข้อบกพร่อง คือ ปริมาณการใช้กรดเบนโซอิกเป็นไปตามข้อกำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข

            นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย กล่าวในตอนท้ายว่า อย. พอใจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในการปฏิบัติตามประกาศกระทรวงฯ อย่างไรก็ตาม อย. จะยังคงดำเนินการตรวจสอบ สอดส่องและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องต่อไป แต่หากผู้บริโภคพบเห็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมถึงเส้นก๋วยเตี๋ยว ขอให้ร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เพื่อ อย. จะได้พิสูจน์หาข้อเท็จจริงและดำเนินการกับผู้ประกอบการที่กระทำผิดต่อไป


ที่มาของข้อมูล : กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Benzoic acid
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น